สหรัฐรุกถกกรอบศก.อินโด-แปซิฟิก

ภาพนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ขระเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม (เอเอฟพี)

สหรัฐรุกถกกรอบศก.อินโด-แปซิฟิก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวต่อที่ประชุมสุดยอด อีสต์เอเชียซัมมิท ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กับประเทศคู่เจรจาในภูมิภาค ยืนยันว่า สหรัฐอเมริกาพร้อมยืนเคียงข้างมิตรประเทศทุกชาติในภูมิภาคเพื่อปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือและประชาธิปไตย ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างจีนกับหลายชาติอาเซียนในทะเลจีนใต้ และความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันที่เพิ่มระดับสูงขึ้นมากในเวลานี้ หลังจากจีนส่งเครื่องบินรบปฏิบัติการเหนือช่องแคบไต้หวันหลายครั้ง
นายไบเดนกล่าวว่า สหรัฐแน่วแน่มั่นคงมากในพันธะที่มีต่อไต้หวัน และแสดงความกังวลลึกซึ้งต่อ “พฤติกรรมบีบบังคับ” ของจีน ซึ่งไบเดนอ้างว่า เป็นการคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
ด้านนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนตัวแทนจีนในการเข้าร่วมประชุมทางไกลครั้งนี้ กล่าวต่อที่ประชุมว่า การยึดมั่นในสันติภาพ, เสถียรภาพและเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือน่านฟ้าทะเลจีนใต้ “เป็นผลประโยชน์ของทุกชาติ” ที่ควรกระทำ และย้ำว่า “ทะเลจีนใต้คือบ้านของพวกเราร่วมกัน”
นายไบเดนยังกล่าวถึงกรณีเมียนมา ด้วยการเรียกร้องให้ทุกชาติแก้ไขโศกนาฏกรรมที่กำลังเกิดขึ้นจากการรัฐประหารซึ่งยิ่งบ่อนทำลายเสถียรภาพในภูมิภาคมากขึ้นทุกที พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดและกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยในทันที นอกจากนั้นผู้นำสหรัฐยังกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงและทิเบตและขอ “เป็นปากเสียงเรียกร้องสิทธิของคนฮ่องกง” อีกด้วย ในขณะที่จีนปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ในพื้นที่เหล่านี้
ในทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสหรัฐอเมริกาถูกวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าไม่มียุทธศาสตร์ใหม่ด้านนี้หลังจากอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ไปก่อนหน้านี้ โดยผู้นำสหรัฐกล่าวต่อที่ประชุมว่า ทางวอชิงตันจะเริ่มหารือกับหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในเร็วๆ นี้เพื่อพัฒนากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจขึ้นในภูมิภาค
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐ ขยายความคำกล่าวของไบเดนว่า ความคิดริเริ่มด้านเศรษฐกิจที่ประธานาธิบดีสหรัฐพูดถึง “ไม่ใช่เป็นความตกลงทางการค้า” แต่เป็นการหารือกับหุ้นส่วนในภูมิภาคเพื่อกำหนดกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นเพื่อให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกสามารถมีจุดยืนที่ดีในอนาคต โดยจะมุ่งตรงไปที่การทำให้การดำรงชีพของแรงงานและชนชั้นกลางในภูมิภาคดีขึ้น และจะเป็นแนวทางในการดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทุกชาติในภูมิภาค
เอกสารของทำเนียบขาวเกี่ยวกับเรื่องนี้ระบุว่า ความคิดริเริ่มดังกล่าวเป็นการสร้างสรรค์ “เครือข่าย” ของประเทศต่างๆ ที่ “ยึดมั่นในวัตถุประสงค์ร่วมในการเอื้ออำนวยให้เกิดความสะดวกสบายด้านการค้า” ขึ้น ในขณะที่ต้องมีมาตรฐานเพื่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการใช้พลังงานสะอาดอีกด้วย
ก่อนหน้านี้นาย สก็อต มอร์ริสสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เปิดเผยว่า อาเซียนกับออสเตรเลียตกลงที่จะจัดตั้ง “ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างทั่วถึง” ขึ้นซึ่งส่งสัญญาณให้เห็นว่าออสเตรเลียต้องการเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ผ่านการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตและด้านความมั่นคงร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image