ทีมวิจัยสหรัฐ-ออสซี่ พัฒนาแผ่นแปะวัคซีน ชี้มีประสิทธิภาพกว่าแบบฉีด

นายเดวิด มุลเลอร์ (ขวา) และสมาชิกในทีมกำลังพัฒนาวัคซีนชนิดแผ่นแปะ (เอเอฟพี)

ทีมวิจัยสหรัฐ-ออสซี่ พัฒนาแผ่นแปะวัคซีน ชี้มีประสิทธิภาพกว่าแบบฉีด

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ขณะนี้ทีมนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียพยายามพัฒนาแผ่นแปะวัคซีนให้ใช้ได้จริง โดยจากข้อมูลการทดลองพบว่าวัคซีนชนิดแผ่นแปะมีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งยังทำให้ไม่ต้องเจ็บตัวจากการฉีดวัคซีน เก็บได้นานกว่าวัคซีนแบบฉีด และขนส่งได้ง่ายกว่าเพราะไม่ต้องใช้ตู้แช่เย็น หากสามารถสร้างแผ่นแปะวัคซีนได้สำเร็จ ก็จะเป็นการปฏิวัติวงการแพทย์ครั้งสำคัญเลยทีเดียว

นายเดวิด มุลเลอร์ นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์และผู้จัดทำวิจัยร่วมระบุว่า ทีมผู้วิจัยจากออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาได้สร้างแผ่นแปะขนาด 1 ตารางเซนติเมตร ซึ่งมีปุ่มหนามขนาดเล็กจนมองแทบไม่เห็นจำนวน 5,000 ปุ่มและเคลือบวัคซีนไว้บนแผ่นแปะดังกล่าว

ในการทดลองกับหนู ได้ทำการฉีดวัคซีนและใช้แผ่นแปะเป็นเวลา 2 นาที ซึ่งพบว่า ระบบภูมิคุ้มกันของหนูที่ใช้แผ่นแปะวัคซีน ผลิตแอนติบอดีชนิดสลายไวรัสในระดับสูงเมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีน 2 โดส ซึ่งรวมถึงภูมิคุ้มกันในปอดซึ่งมีความสำคัญในการหยุดเชื้อโควิด และแผ่นแปะมีประสิทธิภาพดีกว่าแบบฉีด นอกจากนี้ผู้วิจัยยังพบว่าหนูในกลุ่มย่อยที่ได้วัคซีนโดสเดียวซึ่งมีส่วนประกอบของสสารที่ใช้เพื่อกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ไม่มีอาการป่วยแต่อย่างใด

ผลการทดลองระบุว่า แผ่นแปะวัคซีนมีประสิทธิภาพมากกว่าแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพราะ เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อมีเซลล์ภูมิคุ้มกันไม่มากนัก นอกจากนี้ หนามแหลมเล็กๆ ยังทำให้ผิวหนังตายเฉพาะที่ ซึ่งจะไปกระตุ้นเตือนร่างกายว่าเกิดปัญหาแล้ว และกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า ส่วนด้านการขนส่งก็ทำได้ง่ายกว่า เพราะเมื่อแผ่นแปะถูกวัคซีนเคลือบแล้ว วัคซีนบนแผ่นแปะจะสามารถอยู่ได้อย่างน้อย 30 วันในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสและอยู่ได้ 1 สัปดาห์ในอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งอยู่ได้นานกว่าวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาที่อยู่ในอุณหภูมิห้องได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

Advertisement

นอกจากนี้วัคซีนแบบแผ่นแปะยังใช้ง่ายมาก เพราะไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฝึกฝนเหมือนการฉีดวัคซีน และจากข้อมูลของนายบูรัค ออซโดกันลาร์ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ในเมืองพิตต์สเบิร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษาเทคโนโลยีดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2007 ระบุว่า แผ่นแปะวัคซีนยังมีประโยชน์อีกข้อคือ ใช้ปริมาณวัคซีนน้อยกว่าการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ แต่สามารถกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันได้เหมือนกัน

ล่าสุดบริษัท Vaxxas ของออสเตรเลีย ที่ทำการศึกษาร่วมกับบริษัท Micron Biomedical และบริษัท Vaxess จากสหรัฐระบุว่า มีการวางแผนที่จะทดลองแผ่นแปะวัคซีนนี้ในมนุษย์ในเดือนเมษายนปีหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image