นักวิจัยอินโดคิดค้นการเพาะยุงดีสู้ยุงลาย ชี้ลดผู้ป่วยไข้เลือดออกได้ 77%

อาสาสมัครของโครงการยุงโลกโชว์ไข่ยุงพันธุ์โวลบาเกียและอาหารในถังเพาะยุง ที่เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม (รอยเตอร์)

นักวิจัยอินโดคิดค้นการเพาะยุงดีสู้ยุงลาย ชี้ลดผู้ป่วยไข้เลือดออกได้ 77%

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิจัยจากอินโดนีเซียค้นพบวิธีจัดการกับยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โดยการเพาะพันธุ์ยุงที่มีเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกีย ที่สามารถป้องกันไวรัสอย่างไข้เลือดออกไม่ให้เติบโตในร่างกายยุงได้

โวลบาเกียเป็นแบคทีเรียทั่วไปที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตประเภทแมลงประมาณ 60% ซึ่งรวมถึงยุง แมลงหวี่ ผีเสื้อยักษ์ แมลงปอและผีเสื้อบางชนิด อย่างไรก็ตามแบคทีเรียชนิดนี้ไม่พบในยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก อ้างอิงจากข้อมูลของโครงการยุงโลก (ดับเบิลยูเอ็มพี) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่เป็นผู้ริเริ่มการวิจัยนี้

นายปุรวันติ ผู้นำของกลุ่มดับเบิลยูเอ็มพี กล่าวว่า “ตามหลักคือเราจะเพาะพันธุ์ยุงที่ดี และเมื่อยุงที่เป็นพาหะไข้เลือดออกผสมพันธุ์กับยุงที่ดีซึ่งมีแบคทีเรียโวลบาเกียก็จะทำให้เกิดยุงที่มีแบคทีเรียโวลบาเกียต่อไป ดังนั้นหากยุงเหล่านี้ไปกัดมนุษย์ก็จะไม่ส่งผลใดต่อมนุษย์”

ตั้งแต่ปี 2017 การศึกษาร่วมที่ดำเนินการโดยกลุ่มดับเบิลยูเอ็มพีที่มหาวิทยาลัยโมนาชของออสเตรเลียและมหาวิทยาลัย Gadjah Mada ของอินโดนีเซีย ได้ปล่อยยุงพันธุ์โวลบาเกียที่เพาะพันธุ์ในห้องแล็บ ไปในพื้นที่สีแดงซึ่งมีการระบาดของไข้เลือดออกในเมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยผลการทดลองซึ่งเผยแพร่ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์เมื่อเดือนมิถุนายนระบุว่า การปล่อยยุงที่มีแบคทีเรียโวลบาเกียช่วยลดจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกได้มากถึง 77% และช่วยลดการนอนโรงพยาบาลได้มากถึง 86%

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image