ประเทศแรกในโลก! อังกฤษกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ สั่งจ่ายให้ผู้ต้องการเลิกสูบ

(FILES) (Photo by Tolga Akmen / AFP)

ประเทศแรกในโลก! อังกฤษกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ สั่งจ่ายให้ผู้ต้องการเลิกสูบ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษได้อนุญาตให้สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) สามารถสั่งจ่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตทางการแพทย์ให้กับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ในอังกฤษ โดยบุหรี่ไฟฟ้าต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพก่อนจึงจะสามารถสั่งจ่ายได้

จากการประกาศดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่า อังกฤษกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการถกเถียงกันมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่าควรใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการนี้หรือไม่

ถึงแม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ายังคงมีความเสี่ยง แต่ก็มีอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป เพราะไม่ได้ผลิตน้ำมันดินหรือก่อให้เกิดคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งถือเป็นสององค์ประกอบที่อันตรายที่สุดในควันบุหรี่ โดยของเหลวที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งถูกทำให้ร้อนขึ้นเพื่อสูดดม มีสารเคมีบางอย่างที่อาจเป็นอันตรายและพบได้ในควันบุหรี่ แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับบุหรี่ทั่วไป อย่างไรก็ตามบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตทางการแพทย์จะต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยที่เข้มงวดมากกว่าการขายในเชิงพาณิชย์

ในสหราชอาณาจักรบุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยที่นิยมใช้มากที่สุดในกลุ่มผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่ โดยผู้สูบบุหรี่มากกว่าหนึ่งในสี่หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนการใช้ผลิตภัณฑ์บำบัดทดแทนนิโคติน เช่น แผ่นแปะ หรือหมากฝรั่ง อย่างไรก็ตามการสั่งจ่ายบุหรี่ไฟฟ้ายังคงใช้ในโครงการนำร่องเท่านั้น ยังไม่มีการสั่งตามใบสั่งแพทย์

Advertisement

ตั้งแต่ปี 2560 รัฐบาลของสหราชอาณาจักรได้เริ่มส่งเสริมให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Stoptober โดยคาดว่าประชากรในสหราชอาณาจักรกว่า 3.6 ล้านคนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่คือผู้ที่เคยสูบบุหรี่มาก่อน

นายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า “การเปิดรับบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับการอนุมัติจาก NHS ถือเป็นทางเลือกที่มีมีศักยภาพในการจัดการกับอัตราการสูบบุหรี่ทั่วประเทศที่มีปัญหาการเหลื่อมล้ำอยู่ในขณะนี้”

ด้านศาสตราจารย์ปีเตอร์ ฮาเจ็ก ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัย The Tobacco Dependence มหาวิทยาลัยควีนส์แมรี่ ลอนดอน กล่าวว่า “ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการส่งข้อความเชิงบวกว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยให้ผู้คนเลิกบุหรี่ได้” อย่างไรก็ตามเขาตั้งคำถามว่าจะมีผลตามที่ตั้งใจหรือไม่ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขออนุมัติอาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ผลิตหลายราย

Advertisement

“ผู้สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า หากพวกเขาสามารถเลือกรสชาติและผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาชอบ แทนที่จะจำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นสำหรับ NHS ที่จะใช้งบประมาณไปกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ผู้สูบยินดีที่จะซื้อเองอยู่แล้ว ในที่สุดแล้วอาจจะเป็นเรื่องง่ายกว่าถ้าเราแนะนำผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าที่ได้รับการรับรองอยู่แล้ว” ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ฮาเจ็ก กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image