ธานี ทองภักดี ปลัด กต. เล่า ไทยกับการเป็นเจ้าภาพเอเปค

ธานี ทองภักดี
ปลัด กต. เล่า
ไทยกับการเป็นเจ้าภาพเอเปค

หมายเหตุ “มติชน”นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามหลังไทยรับหน้าที่เจ้าภาพเอเปคถึงสิ่งที่ไทยจะผลักดันในห้วงเวลาของการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และคนไทยจะได้อะไรจากการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565

ธานี ทองภักดี

๐ เราต้องการสะท้อนอะไรจากการกำหนดหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยว่า Open. Connect. Balance. หรือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันตั้งใจให้การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค 2565 เกิดประโยชน์ต่อคนไทยมากที่สุด หัวข้อหลัก (Theme) จึงต้องสะท้อนประเด็นที่คนไทยต้องการ และต้องได้ประโยชน์ โดยไทยยังสานต่อการทำงานของเอเปคได้ต่อเนื่อง กระทรวงการต่างประเทศริ่มกระบวนการระดมสมองตั้งแต่ต้นปี 2563 กับคนหลายกลุ่ม อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ดำเนินธุรกิจหลากหลายสาขา รวมทั้ง SMEs และ start-ups สื่อมวลชน ข้าราชการรุ่นใหม่ และประชาชน รวมถึงเริ่มวางแผนงานร่วมกับหน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันเตรียมการเป็นเจ้าภาพมาตั้งแต่ต้น

แนวคิดเบื้องหลังหัวข้อหลัก คือ การเน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ให้ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล โดยส่งเสริมให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดเพื่อนำไปสู่การสร้างสมดุลการทำธุรกิจ การดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติในภาพรวม โดยไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy (BCG Model) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 มาเป็นไอเดียตั้งต้นเพื่อกำหนดประเด็นหลัก

Advertisement

“เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” สะท้อนความตั้งใจของไทยในการส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมเพื่อสร้างสมดุล เปิดกว้าง คือการส่งเสริมการเปิดรับมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อนำมาสร้างเสริมบรรยากาศการดำเนินธุรกิจและการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาค เชื่อมโยง คือการรื้อฟื้นการเดินทางเพื่อสร้างเสริมปฏิสัมพันธ์และการทำธุรกิจในภูมิภาคให้คืนกลับอย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น สมดุล คือการนำโมเดลการพัฒนาต่างๆ รวมถึง BCG มาปรับแนวทางการทำธุรกิจ และการดำเนินชีวิตในมิติต่าง ๆ เพื่อสร้างเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ที่ยั่งยืนและครอบคลุม

๐ ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่เราตั้งใจให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในการเป็นเจ้าภาพเอเปคครั้งนี้มีอะไรบ้าง

เอเปคไม่ได้เพิ่งมีประโยชน์ต่อไทยในปีที่เราเป็นเจ้าภาพ แต่เอเปคมีพลวัตและสร้างประโยชน์ให้ไทยเสมอมานับตั้งแต่ที่ไทยได้ร่วมก่อตั้งเมื่อปี 2532 โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดจำนวนคนยากจนและเพิ่มจำนวนชนชั้นกลาง เพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) ทำให้ลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองในการค้าและการดำเนินธุรกิจลงไปมาก ปัจจุบันมูลค่าการค้าของไทยกว่าร้อยละ 70 คือการค้ากับสมาชิกเอเปค

Advertisement

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เอเปคได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจการค้า โดยส่งเสริมการรักษา supply chain เพื่อขนส่งวัคซีน ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมทั้งส่งเสริมการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อไทยอย่างยิ่ง และเพื่อสานต่อการดำเนินงานของเอเปคที่ผ่านมาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนไทยเป็นที่ตั้ง การเป็นเจ้าภาพปี 2565 ของเราจะคำนึงถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจเอเปคในระยะกลางและระยะยาวอย่างสมดุล ซึ่งหัวข้อหลักแต่ละส่วนก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้อง

ไทยมองว่าวาระเร่งด่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจเอเปคซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อไทย คือการ “เชื่อมโยง” เชื่อมคนเข้าหากัน เชื่อมภูมิภาคด้วยการเปิดการเดินทางอย่างสะดวกและปลอดภัย ซึ่งในเรื่องนี้ ไทยจะผลักดันการส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกปลอดภัย (Safe Passage) และการหาวิธีเพิ่มคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card) ให้ครอบคลุมถึงผู้ที่เดินทางเป็นประจำและนักท่องเที่ยว ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากการมีนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยได้สะดวกขึ้น

สำหรับระยะยาว ไทยให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ประเด็นที่ไทยจะผลักดันจึงเป็นการ “เปิดกว้างทางความคิดเพื่อเปิดกว้างทางการค้า” โดยนำบทเรียนจากโควิด-19 มาส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้ดีขึ้น โดยนำประเด็นด้านดิจิทัล สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมมาอยู่ในบทสนทนาเพื่อขับเคลื่อนการหารือเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีเอเปค (FTAAP) ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากบรรยากาศดำเนินธุรกิจที่ดีและมีคุณภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในอนาคตต่อไป

สุดท้าย ไทยจะส่งเสริมการสร้าง “สมดุลในทุกมิติ” โดยนำแนวคิด BCG ของไทยไปแลกเปลี่ยนในเอเปค เพื่อให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิกฟิกเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ครอบคลุม ยั่งยืน และคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยจะเน้นส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียนอย่างมีนวัตกรรม การแปรขยะเป็นความมั่งคั่ง และเร่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emissions) ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศในเวที COP26 ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย ต่อภูมิภาค และต่อโลกในภาพรวม

๐ ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคในช่วงเวลาที่มีความสำคัญ เพราะเป็นช่วงที่โลกกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวจากโควิด ซึ่งส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต การค้าขาย การเดินทางและการติดต่อของคนบนโลก เราจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับไทยอย่างไร

เราตระหนักถึงช่วงเวลาสำคัญนี้และมองว่าเป็น “โอกาส” ที่ดีใน 2 แง่มุม ประการแรกเป็นโอกาสในการชูบทบาทของไทยและนำประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อไทยไปหารือในเอเปค เพราะเวลานี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เอเปคและโลกต้องฟื้นฟูอย่างถูกทิศทาง จึงเป็นโอกาสของไทยในการแสดงศักยภาพและบทบาทที่สำคัญในครั้งนี้ โดยเฉพาะการนำประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เช่น การท่องเที่ยว การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเพิ่มโอกาสและศักยภาพให้ MSMEs และกลุ่มที่ยังไม่ได้แสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ไปหารือในเอเปค นอกจากนี้การประกาศเป้าหมายจัดประชุมเอเปคแบบพบหน้ากันอย่างเต็มรูปแบบตลอดทั้งปี ยังช่วยดึงดูดความสนใจจากเขตเศรษฐกิจสมาชิก และสื่อต่างชาติได้เป็นอย่างดี หลังจากที่เอเปคต้องจัดประชุมผ่านระบบทางไกลมาตลอดสองปีที่ผ่านมา

ประการที่สองคือเป็นโอกาสที่ไทยจะได้รับเป็นพิเศษจากการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในช่วงเวลานี้ นอกเหนือจากผลลัพธ์การประชุมที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ไทยจะแสดงความพร้อมในการเปิดประเทศและต้อนรับชาวต่างชาติ โดยสถานที่ที่จะใช้จัดประชุมครั้งแรกคือ จ. ภูเก็ต เพื่อจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอย่างไม่เป็นทางการ (Informal Senior Officials Meeting – ISOM)

ทั้งนี้จะมีการการประชุมเอเปคในระดับต่างๆ กว่า 100 ประชุมตลอดทั้งปี แทบทั้งหมดเป็นการประชุมแบบพบหน้าและกระจายจัดไปทั่วประเทศไทย โดยจะมีผู้นำ รัฐมนตรี ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ นักธุรกิจ และสื่อชั้นนำ รวมกว่าหนึ่งหมื่นคนเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมและการประชุมในไทย จึงเป็นโอกาสในการกระจายรายได้สู่ชุมชน กระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และตอกย้ำบรรยากาศของการเปิดประเทศของไทยได้เป็นอย่างดี

๐ ขณะนี้เรามีความพร้อมเต็ม 100% ในการการรับหน้าที่แล้วใช่หรือไม่

ทุกหน่วยงานมีความตั้งใจและมีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพเอเปคอย่างเต็มที่ โดยเป็นการเตรียมการที่ตระหนักถึงความท้าทายอย่างระมัดระวัง และพลิกวิกฤติเป็นโอกาสเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่คนไทย ทุกฝ่ายเตรียมการสำหรับการเป็นเจ้าภาพตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดแล้ว การเตรียมการจึงตระหนักถึงการรับมือสถานการณ์โรคระบาดนี้มาตั้งแต่ต้น หน่วยงานราชการต่างๆ ได้ร่วมบูรณาการการทำงานจนเกิดการประชุมเตรียมการในทุกระดับ ขณะที่การประชุมคณะกรรมการระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก็ได้จัดประชุมไปแล้วถึง 3 ครั้ง อย่างไรก็ดีสิ่งที่อยากจะย้ำคือคนไทยทั้งประเทศคือเจ้าภาพเอเปค ไม่ใช่แค่รัฐบาลเท่านั้น

๐ เรากำหนดให้การเป็นเจ้าภาพเอเปคเป็นวาระแห่งชาติ แล้วคนไทยจะมีส่วนร่วมกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยได้อย่างไร

คนไทยมีส่วนร่วมกับการประชุมได้หลากหลายมิติ เพราะการประชุมกว่าร้อยการประชุมนี้ มีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นความร่วมมือในมิติต่างๆ นับตั้งแต่การค้า การเกษตร สาธารณสุข สตรี MSMEs การท่องเที่ยว ฯลฯ สะท้อนการทำงานทุกมิติของเอเปคเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยทำคำนึงถึงบริบทที่ครอบคลุมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คนไทยสามารถติดตามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในประเด็นที่ตนสนใจได้ โดยตอนนี้ได้มีทวิตเตอร์ APEC 2022 Thailand ให้ทุกคนใช้ติดตามข่าวสารด้วยแล้ว

อยากให้คนไทยภาคภูมิใจกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย เพราะจะเปิดโอกาสให้ไทยได้นำเสนอทั้งศักยภาพและวัฒนธรรมภูมิปัญญาผ่านรายละเอียดปลีกย่อยของการจัดประชุม เช่น อาหาร ของที่ระลึก การแสดง ไปจนถึงรอยยิ้มและมิตรภาพที่คนไทยมอบให้ผู้เข้าร่วมประชุม เป็นแง่มุมสบาย ๆ แต่น่าภาคภูมิใจให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้

ที่จริงแล้วเอเปคเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เพราะเป็นเรื่องความสะดวกในการค้าขายทำมาหากิน การเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยได้ดำเนินธุรกิจและได้กำไร รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงไปของโลก กระทรวงตั้งใจจะสื่อสารเรื่องนี้ให้ชัดเจน สม่ำเสมอ ครอบคลุม เข้าใจง่าย เพื่อให้คนไทยได้ติดตามข่าวสาร รับรู้ เข้าใจ และมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพเอเปคไปพร้อมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image