วิเทศวิถี : ‘ดอน’ เยือนเมียนมา เรื่องที่ควรเป็นปัญหาหรือไม่

‘ดอน’ เยือนเมียนมา
เรื่องที่ควรเป็นปัญหาหรือไม่

การเดินทางเยือนเมียนมาของ นายดอน ปรมัถต์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (รองนรม.และรมว.กต.) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้คนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยความที่มีรายงานว่าในการเดินทางไปเยือนครั้งนี้นายดอนได้เข้าพบหารือกับ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำกองทัพและนายกรัฐมนตรีเมียนมาที่มาจากการยึดอำนาจ และเป็นการเดินทางไปเยือนแบบเงียบๆ ชนิดที่ว่าถ้าสื่อเมียนมาไม่รายงานข่าว การเดินทางเยือนครั้งนี้ก็จะไม่เป็นที่รับรู้ต่อสังคมโลกเสียด้วยซ้ำ

อาจมีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเยือนครั้งนี้ว่าไปแบบลับๆ ล่อๆ ตั้งคำถามว่าทำไมรองนรม.และรมว.กต.ของไทยจึงไปพบกับผู้นำเมียนมาที่ไม่ได้รับความยอมรับจากโลก และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ซึ่งก็เป็นสิทธิที่ใครจะคิดกันไป แต่พูดกันจริงๆ แล้วการดำเนินการทางการทูตแบบเงียบๆ เช่นนี้ เป็นสไตล์ที่นายดอนทำมาตลอด ไม่ใช่เพิ่งจะทำในคราวนี้เท่านั้น

ก่อนที่จะไปถึงการตั้งคำถามว่า การเยือนเมียนมาแบบเงียบๆ ของรองนรม.และรมว.กต.ของไทยเป็นปัญหาหรือไม่ ก็ต้องมาฟังคำอธิบายจากนายดอนเสียก่อนว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เดินทางเยือนเมียนมาครั้งนี้คืออะไร นายดอนได้ตอบผู้สื่อข่าวเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างการไปร่วมงานเปิดตัวตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยว่า การเยือนเมียนมาของเขาเป็นการเยือนแบบทวิภาคี ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ได้รับบริจาคจากภาคส่วนต่างๆ ให้กับเมียนมา ส่วนการพบกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ก็ได้มีการหารือกันหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์

ผู้ที่อยู่ในงานวันนั้นจะเห็นภาพนักข่าวพยายามเดินตามนายดอนที่กำลังเร่งออกจากงานเพื่อไปร่วมประชุมที่รออยู่ต่อ และทราบดีว่านั่นเป็นการตอบคำถามที่เจ้าตัวไม่ได้อยากจะพูดถึงเรื่องนี้เท่าใดนัก ด้วยความตั้งใจจะให้เป็นการดำเนินการทูตแบบเงียบๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในสังคมออนไลน์เช่นในปัจจุบัน

Advertisement

ทราบว่าสิ่งของบริจาคเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับเมียนมาที่นำไปมอบให้มีน้ำหนักมากถึง 17 ตัน โดยเป็นการขนส่งไปกับเครื่องบิน 11 ตัน ส่วนที่เหลืออีก 6 ตันจะส่งไปโดยรถ และเป็นความช่วยเหลือของภาคเอกชนไทยที่ส่งไปให้กับสภากาชาดของเมียนมา ซึ่งในข้าวของที่นำไปส่งมอบดังกล่าวนั้นไม่มีวัคซีนต้านโควิด-19 แต่อย่างใด

ตัวอย่างของการดำเนินนโยบายการทูตแบบเงียบๆ ที่คนอาจลืมกันไปแล้วคือการที่นายดอนเดินทางไปเข้าเฝ้า เจ้าชายซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งบาห์เรน เพื่อพูดคุยถึงประเด็นสำคัญในขณะนั้นคือการแก้ไขปัญหาการขอส่งตัว นายฮาคีม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ซึ่งถูกทางการไทยจับกุมขณะบินออกมาจากออสเตรเลียในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งในครั้งนั้นปัญหาเกิดจากที่ออสเตรเลียได้แจ้งเตือนว่านานฮาคีมซึ่งเป็นผู้มีหมายแดงของสำนักงานตำรวจสากลกำลังเดินทางออกจากออสเตรเลียมายังไทย ทำให้ถูกไทยกักตัวเพื่อรอส่งกลับประเทศบาห์เรนตามหมายจับที่มีอยู่ในระบบ

เมื่อเกิดเรื่องขึ้น ออสเตรเลียกลับแสดงท่าทีราวกับว่าตนเองไม่ได้เป็นต้นเรื่องในการแจ้งเตือนให้มีการจับกุมนายฮาคีมเอง แต่เป็นผู้พยายามผลักดันให้ไทยปล่อยตัวนายฮาคีม ปัดเอาปัญหาทั้งหมดมาอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายไทยที่ไม่ว่าจะเลือกส่งตัวหรือไม่ส่งตัวนายฮาคีมกลับไปยังบาห์เรน ก็ไม่พ้นจะส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ตามมา ทั้งยังโดนกดดันจากทุกทิศทาง เพราะในเวลานั้นประเด็นของนายฮาคีมได้รับความสนใจจากทั่วโลก นานาชาติก็พากันมาประณามการควบคุมตัวที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าอยู่ดีๆ ไทยก็กลายเป็นแพะ ขณะที่ผู้เป็นต้นเหตุก็ใช้ลีลาพลิ้วหายไปกับสายลม

Advertisement

ที่สุดแล้วด้วยความพยายามด้วยการดำเนินการทูตแบบเงียบๆ ของนายดอนที่บินไปพบกับมกุฎราชกุมารบาห์เรน ทำให้ทางการบาห์เรนได้แจ้งความประสงค์ไม่ติดใจที่จะขอตัวนายฮาคีมในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนจากไทยอีก นาฮาคีมจึงเดินทางกลับออสเตรเลียไปได้ในที่สุด หลังถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้นานกว่า 2 เดือน ปลดชนวนร้อนที่ไทยเผชิญ ณ เวลานั้นไปได้แบบไม่กระทบกระเทือนทุกฝ่าย และที่สำคัญคือไม่กระเทือนถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีโลก

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงวิถีของการทูตแบบเงียบๆ ซึ่งจะว่าไปก็เป็นแนวทางการทำงานทางการทูตแบบหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกระดับ เพราะการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะในเวทีระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องที่จะพูดคุยกันบนโต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการเท่านั้น และการทูตแบบเงียบๆ ก็นำมาซึ่งผลสำเร็จในหลายเรื่องอย่างที่เห็นกันในทุกมุมโลก

หันกลับมาดูข้อเท็จจริงกันบ้าง ไทยมีเขตแดนติดกับเพื่อนบ้านทั้งหมด 5,656 กิโลเมตร เขตแดนระหว่างไทยกับเมียนมานั้นยาวที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ถึง 2,401 กิโลเมตร ด้วยข้อเท็จจริงนี้ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมาสามารถส่งผลกระทบกับไทยได้มากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันก็มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหามากมายที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะสำหรับประเทศที่มีพรมแดนติดกัน เพราะเราไม่ใช่ประเทศที่อยู่ห่างไกลเมียนมาแบบประเทศในอาเซียนอื่นๆ อย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์

เมื่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา สามารถส่งผลกระทบกับไทยได้ง่ายกว่าและมากกว่าประเทศอื่นๆ การที่ไทยจะส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับเมียนมาก็เป็นเรื่องอันสมควรมิใช่หรือ อีกทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวเมียนมายังเป็นหนึ่งในฉันทามติ 5 ข้อที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงร่วมกันในการหารือเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย เข้าร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนที่สำนักเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

หากการพูดคุยกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย โดยตรงเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ทำไมผู้นำอาเซียนจึงยังเคยนั่งพูดคุยกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ที่กรุงจาการ์ตา นั่นเพราะทุกประเทศตระหนักว่าที่สุดแล้วความพยายามใดๆ ที่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมาต้องเริ่มจากการพูดคุยกับกองทัพเมียนมาให้รู้เรื่องเสียก่อน เราไม่อาจแก้ไขเรื่องใดๆ ได้ด้วยการก่นด่าประณามหรือชี้นิ้วให้อีกฝ่ายทำตามสิ่งที่เราต้องการเท่านั้น เมื่อมีคนนำความช่วยเหลือมาให้พร้อมกับแนะนำเราด้วยความหวังดี ท่าทีเช่นนั้นน่าจะนำมาซึ่งการเปิดใจรับฟังมากกว่ามิใช่หรือ

จะชอบหรือไม่ก็ตาม เราปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมาขณะนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีการพูดคุยกับรัฐบาลทหาร และในสายตาประชาคมระหว่างประเทศที่ไม่ว่าจะมีท่าทีคัดค้านต่อต้านและไม่ยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมาเท่าใด แต่ทุกฝ่ายยังเห็นถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อประชาชนชาวเมียนมาเป็นอันดับแรก

ดูอย่างการเยือนไทยของ นางลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริการประจำสหประชาชาติเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการประกาศความช่วยเหลือต้านโควิด-19 มูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับไทย ในเวลาไล่เลี่ยกันกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศแผนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมามูลค่ากว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านเครือข่ายต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าความช่วยเหลือที่จะไปถึงมือชาวเมียนมาได้นั้น บางส่วนก็ต้องทำผ่านไทยหรือส่งผ่านเข้าไปจากไทยเช่นกัน

ปัญหาในเมียนมาไม่ใช่สิ่งที่จะแก้ไขได้ในชั่วข้ามคืน หรือจบลงได้เพราะการพูดคุยหารือกันเพียงไม่กี่ครั้ง กว่าจะถึงวันนั้นยังมีหนทางอีกมากที่ต้องเดินไป เส้นทางน่าจะยากลำบากและไม่รวดเร็วทันใจ แต่ทุกคนก็ไม่อาจถอดใจได้ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรเมียนมาก็เป็นเพื่อนบ้านที่สำคัญของไทย

เมื่อเราไม่สามารถย้ายประเทศหนีไปได้ กว่าจะถึงวันที่สถานการณ์ในเมียนมาคลี่คลาย การมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาของไทยก็ต้องยืนอยู่บนข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด และก็ต้องให้ความสำคัญกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ชาวเมียนมากำลังต้องการอย่างยิ่งยวดไปควบคู่กัน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image