คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: 3ปีของ ‘สี จิ้นผิง’

พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศก่อตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1949 นับแต่นั้น วันที่ 1 ตุลาคม จึงกลายเป็นวันชาติที่มีการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่กันเป็นประจำทุกปี

ในขณะที่ชาวจีนกว่าครึ่งประเทศฉลองเทศกาลวันหยุดยาวประจำปีจนกลายเป็นสถิติเดินทางทั้งในและต่างประเทศใหม่ในปีนี้ จีนก็ตกเป็นเป้าการจับตา ตรวจสอบ ประเมินจากทั่วโลกมากยิ่งขึ้นเช่นกันว่า ประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงกว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศนี้กำลังดุ่มเดินไปในทิศทางใด สอดคล้องหรือขัดแย้งกับวิถีเคลื่อนไหวอันเป็นสากลของนานาประเทศหรือไม่

อะไรเป็นเป้าหมายถึงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงนานาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นสงครามเพื่อความเป็นเอกะ หรือสันติภาพและสมานฉันท์กันแน่

ทำไม ต้องตรวจสอบ ต้องประเมิน? คำตอบอาจอยู่ที่บทสนทนาอันเลื่องลือ ระหว่าง ริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน ประธานาธิบดีอเมริกัน กับ เหมา เจ๋อตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้ล่วงลับในการพบเจอกันเมื่อปี 1972

Advertisement

“ท่านประธานคือผู้เปลี่ยนแปลงโลก”

เหมาสนองคำชื่นชมดังกล่าวด้วยการปฏิเสธอย่างสุภาพ ถ่อมตน

“ไม่หรอก ข้าพเจ้าเพียงแค่เปลี่ยนแปลงสองสามอย่างนอกปักกิ่งเท่านั้นเอง”

Advertisement

ไม่ว่าจะถ่อมตัวเพียงใด ข้อเท็จจริงยังคงเป็นความจริง การเปลี่ยนแปลงที่ เหมา เจ๋อตุง ก่อให้เกิดขึ้นกับประเทศกว้างใหญ่ มีพลเมืองมากที่สุดในโลก ย่อมส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

นับจากเหมา เจ๋อตุง จีนผลัดเปลี่ยนผู้กุมบังเหียนสูงสุดของพรรคและรัฐมาแล้ว 4 รุ่น “สี จิ้นผิง” ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำรุ่นที่ 5 คนที่กำลังกุมชะตากรรมจีนในยุคที่ได้ชื่อว่าเป็น “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่สำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่ง

ความท้าทายที่ สี จิ้นผิง เผชิญอยู่ในเวลานี้นั้้น อาจบางทีมากมายกว่า ซับซ้อนกว่า และมีนัยสำคัญกว่าโจทย์ที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำยิ่งใหญ่ในอดีตเคยพานพบมาด้วยซ้ำไป

เนื่องเพราะ “จีน” ที่ สี จิ้นผิง รับช่วงสืบทอดภารกิจมาในเวลานี้นั้น แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับ “จีน” เมื่อครั้งที่ เติ้ง เสี่ยวผิง รับช่วงมาแก้ไขปัญหา

ความสำเร็จในการปฏิวัติภายใต้การนำของ เหมา เจ๋อตุง ก่อให้เกิดพันธกิจสำคัญตามมาว่า ทำอย่างไรผลลัพธ์ที่ได้จึงสถิตสถาพรต่อไปในกาลข้างหน้า ต่อเมื่อ เติ้ง เสี่ยวผิง ก้าวขึ้นมามีอำนาจนั้น ผู้นำรุ่นที่สองของจีนกลับพบว่า สิ่งที่จำเป็นที่สุดเพื่อให้พรรคยังคงมีอำนาจและรัฐยังคงรูปอยู่ได้ต่อไป คือการปฏิรูปเศรษฐกิจ รังสรรค์ความกินดีอยู่ดีให้เกิดขึ้นให้ได้

จีนใช้เวลาเนิ่นนานไม่น้อย ผ่านการผลัดเปลี่ยนผู้นำสูงสุดอีก 2 รุ่นต่อมา ทั้ง เจียง เจ๋อหมิน และ หู จิ่้น เทา ภารกิจพลิกผันเศรษฐกิจของประเทศจึงเบ่งบาน ผลิดอกออกผลเต็มที่

เมื่อตอนที่ สี จิ้นผิง เข้ารับตำแหน่งนั้น จีนครองตำแหน่งประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกไปแล้ว ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวต่อเนื่องในระดับตัวเลข 2 หลักต่อเนื่องกันนานกว่าสองทศวรรษ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นหัวใจในทางเศรษฐกิจของบรรดาประเทศทั้งหลายในภูมิภาคเอเชีย

ส่งอิทธิพลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไปทั่วโลก และกลายเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก่อภาวะโลกร้อนมากที่สุดในโลกไปพร้อมๆ กัน

จีน ที่สี จิ้นผิง รับมาไว้ในกำมือ มีกองทัพที่พัฒนาไปไม่หยุดหย่อนภายใต้งบประมาณที่เป็นตัวเลข 2 หลักทุกปีต่อเนื่องกันมากว่า 20 ปี สามารถพัฒนาคลังอาวุธนิวเคลียร์ ขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปจนไม่เป็นสองรองใคร ระบบขีปนาวุธและระบบครูส มิสไซล์ ได้รับการพัฒนาจนถึงระดับที่สามารถสร้างผลสะเทือนต่อดุลยภาพทางทหารในภาคพื้นแปซิฟิกได้ไม่ยาก กองเรือรบ เรือบรรทุกเครื่องบิน เรือดำน้ำ ได้รับการปรับปรุงทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ ในระดับที่สามารถท้าทายทุกชาติได้หากต้องการ

นักสังเกตการณ์ที่ติดตามพัฒนาการของจีนมาโดยตลอดยืนยันว่า ความท้าทายที่ผู้นำจีนเผชิญหน้าอยู่ภายในประเทศ มีบทบาทสูงยิ่งในการกำหนดท่าที นโยบายและการแสดงออกต่อโลกภายนอก

ความจำเป็นในการดำรงอำนาจที่ได้จากการปฏิวัติสังคมนิยมของเหมา เจ๋อตุง ทำให้จีนตัดสินใจยืนหยัดอย่างโดดเดี่ยว มองโลกภายนอกโดยเฉพาะตะวันตกอย่างไม่ไว้วางใจ เคลือบแคลงและหลายครั้งอย่างเป็นศัตรู

ความจำเป็นในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทำให้เติ้ง เสี่ยวผิง ตัดสินใจละทิ้งมุมมองแปลกแยกดังกล่าว ไม่เพียงเปิดประเทศ เพื่อการค้า เงินทุน และ วัตถุดิบเท่านั้น ยังเปิดรับ “ระเบียบสากล” เลือกสรรแล้วยอมรับหลายสิ่งหลายอย่างที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศ แล้วนำจีนดุ่มเดินไปตามครรลองสากลดังกล่าว ตราบเท่าที่สามารถอำนวยประโยชน์ให้จีนได้

ในช่วงดังกล่าว จีนไม่เพียงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ, องค์การการค้าโลก ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของเอเปค และเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนอีกด้วย

คำถามก็คือ ปัญหาภายในที่จีนเผชิญอยู่ในห้วงเวลาของ สี จิ้นผิง จะนำพาจีนไปในทิศทางใด?

สิ่งที่ชัดเจนประการหนึ่งก็คือ จีนในยุคของ สี จิ้นผิง ใหญ่โตกว่าเมื่อครั้งที่ เติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้กำหนดนโยบายอยู่มากมายนัก เช่นเดียวกัน สิ่งที่จีนต้องการได้จากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในระบบระหว่างประเทศก็ย่อมแตกต่างออกไปจากยุคสมัยของเติ้ง เสี่ยวผิง ไม่น้อยเช่นเดียวกัน

ในเวลาเดียวกันสิ่งที่จีนกำหนดหรือแสดงบทบาทออกมา ย่อมมีศักยภาพในการสร้างผลกระทบต่อเหตุการณ์อื่น ต่อประเทศอื่นมากขึ้นกว่าเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมามากมายเช่นเดียวกัน

ดังนั้น จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่ สี จิ้นผิง และบรรดาแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงจำเป็นต้อง “ทบทวน” บทบาทของประเทศในส่วนที่เชื่อมโยงอยู่กับระบบนานาชาติเสียใหม่ ในหลายๆ ด้านด้วยกัน

ในยุคก่อนหน้านี้ เติ้ง เสี่ยวผิง มองบรรดาประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายว่าอยู่ในฐานะที่มีโอกาสจะเป็นแหล่งที่มาของการลงทุน, ความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน และการเป็นคู่ค้า ซึ่งมีความหมายต่อการปฏิรูปที่จีนจำเป็นต้องทำ เติ้งเข้าใจด้วยว่า การเติบใหญ่ขยายตัวและมีบทบาทมากขึ้นของจีน รังแต่จะสร้างความ “อึดอัด” ให้เกิดขึ้นกับเพื่อนบ้านเหล่านั้นและความเป็น “แหล่งที่มา” ทั้งหลายดังกล่าวก็จะหมดสิ้นไป

นั่นคือที่มาของนโยบายต่างประเทศภายใต้การกำกับของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่รู้จักกันในชื่อ “เทากวงหย่างฮุ่ย” นั่นคือการพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างเงียบๆ ไม่ต้องไปอวดอ้าง ตีฆ้องร้องป่าว ผลก็คือ จีนไม่เคยแสวงหา หรือดำเนินความพยายามในอันที่จะแสดงบทบาทนำในทุกๆ เรื่อง ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ไม่เคยคิดที่จะเข้าไปครอบงำองค์กรหรือสถาบันระหว่างประเทศแห่งหนึ่งแห่งใด

ที่น่าสนใจก็คือ สภาแห่งรัฐ หรือ “ไต้ปิ่งกั๋ว” ผู้ทำหน้าที่กำกับนโยบายต่างประเทศของจีน ยังคงตอกย้ำการใช้นโยบายนี้ในปี 2010 ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง

ปัญหาก็คือ ไม่ว่าจะยังยึดถือ “เทากวงหย่างฮุ่ย” อยู่ต่อไปหรือไม่ ในหลายๆ กรณี จีน ยุคใหม่ภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง ไม่สามารถดำเนินการตามนั้นได้อีกต่อไป ในฐานะชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จีนย่อมไม่อาจทำตัว “ตีตั๋วฟรี” รับแต่ผลประโยชน์ไม่ยอมเข้าไปแบกภาระรับผิดชอบในองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ได้อีกแล้ว สิ่งนี้ไม่เพียงเป็นทรรศนะที่เป็นเอกฉันท์ภายนอกประเทศจีนเท่านั้น แม้แต่ภายในจีนเองก็รู้สึกในทำนองเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จีนควรจมีบทบาทมากขึ้นในระบบนานาชาติ

ในเวลาเดียวกัน ข้อเท็จจริงอีกประการที่หนุนเสริมให้จีนจำเป็นต้องเข้าไปมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในเวทีโลก นั่นคือ จีนจำเป็นต้องนำเอาทุนสำรองมหาศาลที่ตนสั่งสมเอาไว้ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาไปลงทุนเพื่อให้ผลิดอกออกผล ไม่สามารถทิ้งไว้เฉยๆ หรือลงทุนเพียงแค่ในพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันที่ให้ผลตอบแทนต่ำแสนต่ำได้อีกต่อไป

ที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่สี จิ้นผิง จำเป็นต้องแสดงบทบาทบนเวทีโลกให้มากขึ้นนั้น สถานการณ์แวดล้อมภายนอกประเทศ

โดยเฉพาะวิกฤตที่เกิดขึ้นและดำรงต่อเนื่องในซีกโลกตะวันตก ก็เอื้อต่อการขยายอิทธิพลดังกล่าวนั้นอีกด้วย

ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า จีน ในยุคของสี จิ้นผิง ยังคงยึดโยงอยู่กับระบบ ระเบียบระหว่างประเทศอยู่เช่นในยุคที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในทางเศรษฐกิจด้วยการพยายามแสวงหา “ทางออกที่ต่างฝ่ายต่างได้ชัยชนะ” หรือในทางด้านความมั่นคง ที่โดยรวมยังคงเคารพบในกฎบัตรสหประชาชาติ ที่ห้ามการใช้กำลังและการไม่แทรกแซงกิจการใดๆ ที่เป็นอธิปไตยของชาติอื่น ยึดมั่นในมติของคณะมนตรีความมั่นคง ในแง่ของการส่งกำลังทหารไปเข้าร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพ และดำเนินการแซงก์ชั่นต่อผู้ที่ล่วงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ในส่วนที่ไม่เป็นการรอนสิทธิหรือก่อให้เกิดการเสียผลประโยชน์ต่อชาติ

แต่ในเวลาเดียวกัน จีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ก็แสดงให้ถึงแนวโน้มการ “กระชับการควบคุมทางการเมือง” ซึ่งสะท้อนให้เห็นทรรศนะที่ชัดเจนของบรรดาผู้นำ รวมทั้ง สี จิ้นผิง ที่เชื่อว่าปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นและท้าทายรัฐบาลจีนอยู่ภายในประเทศในเวลานี้ ไม่มีทางแก้ไขให้ลุล่วงไปได้หากรัฐและพรรคไม่เข้มแข็ง และไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดจริงๆ

ในอีกด้านหนึ่ง เพื่อรองรับการขยายขอบเขตของบทบาทของตนในระดับโลก ในทรรศนะของ สี จิ้นผิง จีนจำเป็นต้องมีสถานะที่ “มั่นคง” มากพอทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารในภูมิภาคที่ตนดำรงอยู่อย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียกลาง

เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว จีนจำเป็นต้องแสดงพลังตัวเองออกมามากกว่าเดิม ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าเดิม และต้องทะเยอทะยานมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น โดยอาศัยศักยภาพทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหารที่เติบใหญ่แข็งกล้าของตนเป็นเครื่องมือในการสนับสนุน จีนพยายามเข้าไปแสดงบทบาทและแสดงการนำในองค์กรระหว่างประเทศที่มีอยู่ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และในกรณีที่ไม่สามารถกระทำได้ จีนรังสรรค์องค์กรใหม่ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ทดแทน และแน่นอนอยู่ภายใต้การนำของตนเอง

ธนาคารเพื่อการลงทุนด้านสาธารณูปโภคแห่งเอเชีย (เอไอไอบี) ที่จีนลงทุนตั้งต้นไว้ 50,000 ล้านดอลลาร์ หรือการประกาศฟื้นฟู “เส้นทางสายไหม” ขึ้นมาใหม่ภายใต้ชื่อ “วันเบลท์ วันโรด” ล้วนดำเนินไปภายใต้กรอบคิดข้างต้นนี้

กระนั้นในเวลาเดียวกัน จีนก็พร้อมที่จะปฏิเสธระเบียบการระหว่างประเทศ ในทันทีที่เห็นว่า ขัดกันกับผลประโยชน์ของชาติตนชนิดไม่อาจรอมชอมได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในกรณีนี้คือ แม้ว่าจีนจะยอมรับยูเอ็น แต่ในเวลาเดียวกันก็ปฏิเสธอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (อันคลอส) โดยสิ้นเชิงในกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ หรือแม้กระทั่งในทะเลจีนตะวันออก ที่จีนพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อคงความคลุมเครือเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าความคลุมเครือคือสิ่งที่สนองผลประโยชน์ให้กับจีนได้มากที่สุดนั่นเอง

เช่นเดียวกับที่ความเคลื่อนไหวของจีนภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีใครสามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า จะนำพาจีนไปสู่จุดใดกันแน่

ระหว่างความพยายามเพื่อผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอีกขั้วหนึ่ง หรือจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของระบบระเบียบระหว่างประเทศภายใต้กรอบวิสัยทัศน์และจินตนาการของตัวเองกันแน่!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image