สกู๊ปหน้า1: ตลาด ‘คาร์บอนเครดิตโลก’ ขุมทองจากค็อป 26

สกู๊ปหน้า1: ตลาด ‘คาร์บอนเครดิตโลก’ ขุมทองจากค็อป26

อันที่จริง ‘คาร์บอนเครดิต’ มีการซื้อขายกันมานานนับสิบปีแล้ว หลังจากที่มีความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยโลกร้อนอย่าง พิธีสารเกียวโต เมื่อปี 1995

แต่ยังคงเป็นการซื้อขายที่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในภาคเอกชน และเป็นการซื้อขายกันใน “ตลาดสมัครใจ” (voluntary market) เป็นสำคัญ

องค์กรธุรกิจที่ต้องการ “รักษ์โลก” แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เอง ก็หันไปซื้อ “คาร์บอนเครดิต” จากองค์กรอื่นๆ ที่ดำเนินการด้านนี้ และมี “เครดิต” มากเกินพอสำหรับองค์กรของตน

เมื่อมีความตกลงปารีส ในระหว่างการประชุมสุดยอดแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21 เมื่อปี 2015 คาร์บอนเครดิต กลับทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
เนื่องจาก ความตกลงปารีส กำหนดให้แต่ละประเทศ กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนลง พร้อมๆ กับที่กำหนด “เพดาน” สูงสุดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มธุรกิจน้ำมัน, กลุ่มพลังงาน หรือกิจการบริหารจัดการขยะ เป็นต้น
หากบริษัทน้ำมันบริษัทหนึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเพดานที่กำหนดไว้ ก็ต้องซื้อหา “คาร์บอนเครดิต” มาชดเชยตลาดสำคัญตลาดนี้ เรียกกันว่า “ตลาดบังคับ” (compliance market) หรือ “ตลาดไม่สมัครใจ” (involuntary market)

Advertisement

“คาร์บอนเครดิต” คิดจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกลดลงจากชั้นบรรยากาศ หรือไม่ถูกปล่อยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้น

ปริมาณก๊าซ 1 ตันที่ลดลง หรือถูกป้องกันไม่ให้ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ คิดเป็น 1 เครดิต นั่นหมายความว่า “คาร์บอนเครดิต” สามารถสร้างได้ในหลายหนทาง ตั้งแต่การลดการปล่อยก๊าซ, การหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซ, การทำลายก๊าซเรือนกระจก, หรือการดักจับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแปรเป็นทางปฏิบัติได้มากมาย อาทิ การปลูกป่า เรื่อยไปจนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน เป็นต้น

ในมาตรา 6 ของความตกลงปารีส กำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้บรรดาผู้นำประเทศของชาติภาคีทั้งมวล หารือกันเพื่อหาวิธีการ “ขยาย” ตลาดบังคับที่ว่านี้ ให้เติบโตขึ้นเป็นตลาดระดับโลก
ปัญหาก็คือ ตลอด 5 ปีเศษที่ผ่านมา การเจรจาต่อรองเพื่อสร้างข้อกำหนดกฎเกณฑ์ทั้งหลาย รวมทั้งการหากระบวนการเปลี่ยนผ่านจากตลาดเดิมที่จำกัดแคบ ให้ใหญ่โต มีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ไม่ประสบผลสำเร็จ ด้วยหัวข้อสำคัญๆ หลายประการ

Advertisement

อาลก ชาร์มา ประธานค็อป26 บอกไว้ก่อนหน้าการประชุมว่า ความท้าทายเกี่ยวกับตลาดคาร์บอน เครดิตโลก ที่ต้องการให้เกิดขึ้นให้ได้ในครั้งนี้ มีตั้งแต่เรื่องของการเก็บภาษี, เรื่องของการกำหนดกรอบเวลาของคาร์บอนเครดิต ที่จะนำมาซื้อขาย เรื่อยไปจนถึง การกำหนดมาตรการร่วม และการดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกได้จริงให้เกิดขึ้น

ผลการประชุมค็อป26 ที่เรียกกันว่า “ความตกลงกลาสโกว์’ ทำให้หลายคน รวมทั้งองค์กรรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ พากันพอใจในระดับหนึ่ง เนื่องจากสามารถอุดช่องโหว่สำคัญของตลาดคาร์บอนเครดิตโลกลงได้หลายประการ แม้จะยังไม่ “สมบูรณ์แบบ” เท่าที่ต้องการนักก็ตาม

ประเด็นสำคัญประเด็นแรกที่ถกเถียงโต้แย้งกันมานาน ก็คือประเด็นว่าด้วย “ภาษี” ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วย อีกฝ่ายหนึ่งคัดค้าน

การเก็บภาษีจากการขายคาร์บอนเครดิตเดิมทีความตกลงปารีส กำหนดให้เก็บภาษีจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทุกครั้ง เพื่อนำเงินที่ได้จากการนี้เข้าไปสมทบใน “กองทุนเพื่อการปรับตัว” ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาต่อไป

ที่ประชุมค็อป26 ตกลงพบกันครึ่งทางในความตกลงกลาสโกว์ กำหนดให้การซื้อขายที่ทำกันแบบ “ทวิภาคี” ซึ่งเป็นการซื้อขายกันโดยตรง ไม่จำเป็นต้องชำระภาษี

แต่หากเป็นการซื้อขายกันผ่านตลาดคาร์บอนเครดิตที่ถือเป็น “ตลาดกลาง“ เพื่อการนี้ จะต้องชำระภาษี 5 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณเครดิตที่ซื้อขายทั้งหมด นำไปสมทบในกองทุนเพื่อการปรับตัวของประเทศกำลังพัฒนาดังกล่าว

ความตกลงกลาสโกว์ยังแก้ไขความวิตกของหลายๆ ฝ่าย ที่กังวลว่าชาติมั่งคั่งอาจไม่สนใจที่จะลดโลกร้อนเพราะสามารถซื้อหาเครดิตจากตลาดได้ ด้วยการกำหนดให้ “ยกเลิก” เครดิต 2 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณเครดิตที่ซื้อขายกันทั้งหมด ในการซื้อขายแต่ละครั้ง

ประเด็นถัดมาคือเรื่องกรอบเวลาของ คาร์บอนเครดิต เนื่องจากมีเครดิตแต่เดิมที่เคยทำไว้นานมาแล้วเกิดขึ้นอยู่ไม่น้อย คำถามก็คือ เครดิตเก่าแก่แค่ไหนถึงจะนำมาซื้อขายกันได้ในตลาดใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้

ความตกลงกลาสโกว์ เถียงเรื่องนี้กันไม่น้อย ในที่สุดก็ตกลงให้นำเอาเครดิตเก่าที่ขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2013 เรื่อยมาเท่านั้น สามารถนำไปเสนอขายในตลาดได้ ซึ่งทำให้บรรดานักเคลื่อนไหวต่อต้านภาวะโลกร้อนอีกไม่น้อย กังวลว่า การอนุญาตเช่นนี้จะทำให้ ตลาดคาร์บอนเครดิต กลายเป็นตลาดขายเครดิตเก่ากันไปล้วนๆ

มีการประเมินไว้ว่า นับตั้งแต่ปี 2013 เรื่อยมา มีเครดิตขึ้นทะเบียนและสามารถนำมาเสนอขายได้มากถึง 320 ล้านเครดิต

1 เครดิตที่ว่า คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเทียบเท่ากับปริมาณ 1 ตัน 320 ล้านเครดิตก็คือ 320 ล้านตัน
คำถามก็คือ 320 ล้านตันที่ว่านี้เป็นการลดเมื่อนานมาแล้ว ไม่น่าจะมีประโยชน์ใดๆ กับการลดภาวะโลกร้อนในตอนนี้อีกแล้ว
หนทางแก้ของบรรดาแอคติวิสต์ทั้งหลายก็คือ ออกมาเรียกร้องบรรดาผู้ที่ต้องการซื้อว่า อย่าไปซื้อเครดิตเดิมๆ เหล่านี้ หากต้องการลดโลกร้อนจริงๆ

ประเด็นสุดท้ายที่เพิ่งจะตกลงกันได้และเป็นการอุดช่องโหว่ใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ผ่านมา ก็คือ วิธีการป้องกันการนับคาร์บอนเครดิตซ้ำ หลังจากที่เดิมที ประเทศผู้ขายกับประเทศผู้ซื้อต่างอ้างสิทธิกันว่า สามารถนับเครดิตที่ซื้อขายกันรวมเป็นเป้าหมายของประเทศได้

ซึ่งเป็น “การนับซ้ำ” ที่ทำให้ปริมาณรวมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเกินจริง ส่งผลอย่างยิ่งต่อการลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในทางปฏิบัติ

ญี่ปุ่น เป็นผู้เสนอทางออกในเรื่องนี้ ด้วยการเสนอให้ ประเทศผู้สร้างเครดิตต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการนำเอาเครดิตนั้นไปขาย หรือจะนำเอาไปนับรวมเข้าไว้เป็น “เป้าหมาย” การลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
ในกรณีที่รัฐบาลของประเทศนั้นๆ กำหนดให้นำไปขาย แล้วสามารถขายได้ ประเทศผู้ขายต้องหักลบจำนวนเครดิตที่ขายออกไปจากเป้าหมายของประเทศ และประเทศผู้ซื้อสามารถนำไปรวมเป็นเป้าหมายของประเทศตนได้
หลักการป้องกันการนับซ้ำเดียวกันนี้ จะนำไปประยุกต์ใช้ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งตลาดสมัครใจแต่เดิมด้วย

ตลาดคาร์บอนเครดิต ถือเป็นตลาดที่รุดหน้าเร็ว ขยายตัวสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงปีหลังๆ มานี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ธนาคารโลก รายงานเอาไว้ว่า ทั่วโลกมีตลาดคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นมากถึง 64 ตลาด มูลค่ารวมของการซื้อขายเครดิตซึ่งกันและกันกำลังจะถึง 6,700 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

ตลาดใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานี้มีอยู่ 4 จุดใน 4 ประเทศ คือ สหภาพยุโรป, จีน, ออสเตรเลีย และแคนาดา เฉพาะปี 2021 นี้ คาดว่ามูลค่าตลาดจะอยู่ที่ราว 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ราคาการซื้อขายต่อ 1 เครดิต หรือ 1 เมตริกตัน คาดว่าจะถีบตัวสูงขึ้นถึง 88 เปอร์เซ็นต์เมื่อถึงปี 2030 คือจะอยู่ที่ 67 ดอลลาร์ต่อตัน จากรายงานของหน่วยวิจัย อีโคซิสเต็ม มาร์เก็ตเพลซ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ความสำเร็จของ “ความตกลงกลาสโกว์” ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า จะ “ปลดล็อก” ให้เกิดตลาดคาร์บอนเครดิตโลกขึ้นมา

มูลค่าของตลาดใหม่นี้เชื่อว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกหลายเท่าตัว เป็นตลาดมูลค่า ล้านล้านดอลลาร์ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image