คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ใช้อำนาจซื้อ สู้สังคมตีตราผู้หญิง’เซิ่ง-หนวี่’

แฟ้มภาพรอยเตอร์

คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ใช้อำนาจซื้อ สู้สังคมตีตราผู้หญิง’เซิ่ง-หนวี่’

บทความแสดงข้อคิดเห็นของ หลิว ฉี หลิง อาจารย์ภาควิชาการตลาดจาก University of Lancaster และ โรเบิร์ต โคซิเน็ทส์ นักวิจัยด้านสื่อสารมวลชนจาก USC Annenburg School for Communication and Journalism สะท้อนถึงปัญหาของผู้หญิงโสดในประเทศจีน ที่มักถูกสังคมตีตราบาปให้ว่าเป็น “เซิ่ง-หนวี่” หรือ ผู้หญิงที่ไม่มีใครเอา!

โดยมีการให้นิยามคำ “เซิ่ง-หนวี่” ไว้ว่า เป็นผู้หญิงมีการศึกษาและยังไม่แต่งงาน แม้วัยจะล่วงเลยเข้าหลักสองปลายๆ แล้วก็ตาม

ในข้อเขียนนี้ชี้่ว่า เจตนาสร้างตราบาปดังกล่าวให้ ก็เพื่อมุ่งสกัดการเพิ่มขึ้นของสาวโสดในสังคมดั้งเดิมของจีน ที่บางคนมีทัศนคติต่อการยังไม่ได้แต่งงานของผู้หญิงว่า เป็นการกระทำผิดศีลธรรม และคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ โดยที่สื่อต่างๆ ยังเป็นตัวฉายซ้ำการตีตราบาปความเป็น “เซิ่ง-หนวี่” ให้กับผู้หญิงโสดอีกด้วย ซึ่งจากการศึกษาในเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ตราบาป “เซิ่ง-หนวี่” (Sheng-nu)ได้สร้างความกดดันให้กับสาวโสดจีนจำนวนมาก จนต้องยอมแต่งงานไป

ทว่าก็มีสาวโสดจีนส่วนหนึ่ง ที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับความกดดันและตราบาปที่พวกเธอไม่ได้ก่อ ได้ลุกขึ้นต่อสู้กับทัศนคติอันคับแคบนี้

Advertisement

ข้อเขียนชี้ว่าการได้รับการศึกษามากขึ้น หลังจากการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นส่วนหนึ่งที่ให้ผู้หญิงจีนมีความมั่นใจมากขึ้น และสาวโสดในชุมชนเมือง ซึ่งมีอายุ 25-34 ปี จำนวนราว 7 ล้านคน ยังเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโต โดยปัจจุบันผู้หญิงจีนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตคิดเป็น 41% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ของจีน

โดยกลุ่มสาวโสดจีนได้ใช้ความเชื่อมั่นและพลังอำนาจซื้อที่มีอยู่ในตัว เป็นเครื่องมือในการต่อกรกับอคติของสังคมที่มีต่อผู้หญิงโสด

เช่น สาวโสดวัย 33 ปี รายหนึ่งบอกเล่าว่า พ่อแม่ของเธอต้องเผชิญกับคำหยอกเย้าของญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่ลูกสาวอย่างเธอยังไม่ได้แต่งงาน ทำให้เธอต้องหาทางปกป้องพ่อแม่จากคำหยอกล้อไม่คิดเหล่านี้ ด้วยการดูแลภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูดีที่สุด โดยการเลือกสิ่งที่ดีสุดให้กับตัวเอง ที่รวมถึงการประโคมซื้อ ประโคมใช้สินค้าแบรนด์เนม เพื่อคนเหล่านั้นจะได้เห็นว่าสาวโสดอย่างเธอนั้นมีชีวิตที่สุขสบายดี ไม่ได้น่าสังเวชอย่างที่พวกเขาคิด

Advertisement

เช่นเดียวกับสาวโสดนักพัฒนาด้านไอที วัย 35 ที่บอกว่า เธอซื้อแหวนทองให้กับแม่ของเธอ ซึ่งแม่มีความสุขมาก เพราะไม่เคยได้แหวนทองแบบนี้จากพ่อ ที่ยังจนมากในสมัยที่แต่งงานกับแม่ของเธอ โดยเธอต้องการให้พ่อแม่เห็นว่าถึงเธอไม่ได้แต่งงาน แต่เธอสามารถหาสิ่งดีๆมากมายให้กับตัวเธอและพ่อแม่ได้

ข้อเขียนนี้ยังชี้ให้เห็นแนวโน้มตลาดสินค้าที่มุ่งจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนโสดเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นการซื้อขายสินค้า โดยอ้างถึง “วันคนโสด” ที่อาลีบาบา อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จีน กำหนดวันพิเศษนี้ขึ้นในปี 2009 ซึ่งตรงกับวันที่ 11 เดือน 11 ของปี จนวันคนโสด กลายเป็นเทศกาลช้อปปิ้งประจำปีที่ใหญ่ที่สุด จนแซงวันแบล็กฟรายเดย์ไปแล้ว

แน่นอนว่าไม่ใช่สาวโสดทุกคนที่จะมีอำนาจซื้อ แต่จากการศึกษาพบว่า การมีอำนาจซื้อ มีอิสระทางการเงิน ในการใช้จ่ายเพื่อตนเองและการมอบของขวัญให้กับครอบครัว สามารถช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคน ที่มีต่อสถานภาพสาวโสดได้ โดยแปรเปลี่ยนอคติที่มี กลายเป็นมุมมองอย่างภาคภูมิใจแทน

อย่างไรก็ดีงานวิจัยนี้เป็นการมุ่งศึกษาถึงอำนาจซื้อหรือการบริโภคนิยมที่มีผลต่อทัศนคติของคน หากยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลได้

ที่สำคัญการเห็นคุณค่าในตัวเองย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image