วีรชัย พลาศรัย เผยผลสำเร็จนายกฯในจีเอ

การเดินทางมาร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ (ยูเอ็นจีเอ) สมัยที่ 71 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งก็คือการยกระดับการมีบทบาทของไทยในยูเอ็นในเรื่องที่มีความสำคัญของยุคสมัยใหม่ บทบาทของไทยเด่นขึ้นอย่างชัดเจนเพราะเป็นการดำเนินการโดยผู้นำรัฐบาลซึ่งย่อมเห็นได้ชัดมากกว่า และยังมีผลพลอยได้คือท่านนายกฯมีโอกาสได้อธิบายสถานการณ์ภายในของไทยซึ่งมีพัฒนาการใหม่ๆ ในทางบวก โดยเฉพาะผลการลงประชามติ การโอนอำนาจจากศาลทหารคืนให้กับศาลยุติธรรมในเรื่องสำคัญหลายๆ เรื่อง ซึ่งสร้างความเข้าใจมากขึ้น

ถ้าไม่นับเรื่องงาน บุคลิกของท่านนายกฯในฐานะผู้นำประเทศก็เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้นำ และท่านเป็นที่ยอมรับอย่างมากทั้งกับประเทศตะวันตกซึ่งเดิมตั้งข้อสงวนเพราะท่านไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ขณะนี้ผู้นำหลายท่านก็มาทักท่านนายกฯก่อน แสดงความสนิทสนม และแสดงความเห็นต่อนโยบายของรัฐบาล รวมถึงเรื่องภายในของไทยซึ่งอาจไม่ใช่เชิงบวกทั้งหมดแต่ก็เป็นไปในทางที่เข้าใจและให้กำลังใจหลายเรื่อง แสดงให้เห็นว่าท่านนายกฯเป็นที่ยอมรับอย่างเห็นได้ชัดในคราวนี้ โดยเฉพาะในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยซึ่งจัดขึ้นตามความริเริ่มของประธานาธิบดีบารัค โอบามา รวมถึงในเวทีการยื่นสัตยาบันสารความตกลงปารีสว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก และงานเลี้ยงรับรองที่จัดโดยนายบัน คี มุน เลขาธิการยูเอ็น ซึ่งมีผู้นำมาทักทายท่านนายกฯหลายคน

นอกจากนี้ในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจีส์) 2030 บทบาทไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 ก็มีความชัดเจน เราเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มต้นปฏิบัติตามแผนเอสดีจีส์อย่างจริงจังโดยมีการบรรจุไว้เป็นแผนพัฒนาประเทศ และยังสามารถนำเอาทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาเผยแพร่ซ้ำซึ่งได้รับความสำเร็จอย่างสูง ดังนั้นบทบาทของไทยในเรื่องการพัฒนาก็จะเห็นอย่างชัดเจนเช่นกัน

ในประเด็นแรกเรื่องผู้พลัดถิ่น หรือ displaced person ประเทศทั่วๆ ไปอาจไม่ทราบว่าไทยมีบทบาทในการทำงานร่วมกับยูเอ็นอย่างแข็งขันมากว่า 40 ปี เพราะไทยไม่ได้เป็นภาคีผู้ลี้ภัย แต่เราเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ทำเรื่องนี้มากกว่าใครแม้จะไม่ได้เป็นภาคีก็ตาม เรารับผู้ลี้ภัยมาแล้วเกินล้านคน มีผู้ลี้ภัยในไทย 5 ล้านคน หรือราว 8% ของประชากรทั้งหมด รัฐบาลมีนโยบายปฏิบัติกับพวกเขาอย่างดี โดยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเทียบเท่ากับคนไทย ให้โอกาสทางการศึกษากับบุตรหลานเท่ากับคนไทย และยังมีการฝึกอบรมอาชีพเพื่อให้ทำงานได้ โดยในวันที่ 20 กันยายน ท่านนายกฯได้มีถ้อยแถลงและประกาศคำมั่นของไทย 10 ประการว่าเราจะทำอะไรบ้าง ซึ่งมีความชัดเจนและทำให้บทบาทของไทยในที่ประชุมผู้นำครั้งนี้เด่นมาก

Advertisement

ประการต่อมา ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกหรือความตกลงปารีส ไทยก็มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด ในฐานะประเทศที่อยู่ในระดับกลางๆ คือเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีการปล่อยก๊าซมากพอสมควร แต่มีความรับผิดชอบ โดยท่านนายกฯเป็นผู้ลงนามในสัตยาบันสารและนำไปยื่นให้กับนายบัน คี มุน เลขาธิการยูเอ็นด้วยตนเอง ขณะนี้มีประเทศที่ให้สัตยาบันแล้วราว 61 ประเทศ

อีกเรื่องที่ไทยมีบทบาทชัดเจน แข็งขัน และมีบทบาทนำชนิดที่ทำให้โลกงง ก็คือเรื่องเวทีการประชุมระดับสูงเรื่องเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (เอเอ็มอาร์) เพราะเราสามารถรวบรวมกลุ่ม 77 ให้มีท่าทีเป็นหนึ่งเดียวกันได้ จากที่เมื่อต้นปีในประเด็นนี้กลุ่ม 77 เสียงแตกออกไปไม่ต่ำกว่า 10 กลุ่ม เนื่องจากมีความหวาดระแวงของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างยิ่งว่าประเด็นนี้เป็นกับดักของประเทศพัฒนาแล้วที่จะหาประโยชน์จากสิทธิบัตร ขณะที่ประเทศกลุ่ม 77 อีกกลุ่มหนึ่งก็กลัวว่าเมื่อพูดถึงเรื่องยาก็จะมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มคนรักร่วมเพศ

เราวางแผนการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน และยังทำงานร่วมกับประเทศกลุ่มเล็กซึ่งมีทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ที่สุดกลุ่ม 77 ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ในการต่อรองกับประเทศพัฒนาแล้ว และได้เนื้อหา 3 หน้า ที่มีความสมดุล นโยบายชัดเจนและเป็นรูปธรรม ความโดดเด่นคือการที่กลุ่ม 77 สามารถรวมตัวกันได้ และประสบความสำเร็จ ขณะที่ท่านนายกฯได้ขึ้นพูดเป็นคนแรกในพิธีรับรองเอกสารของผู้นำในนามกลุ่ม 77 คือ 134 ประเทศ ซึ่งเป็นการยกระดับประเทศไทยอย่างมาก เพราะเมื่อต้นปีราคาต่อรองในเรื่องนี้คือไม่สำเร็จ แต่เรากลับได้เอกสารที่เป็นประโยชน์อย่างมากออกมา

Advertisement

เหตุที่เอเอ็มอาร์มีความสำคัญเพราะขณะนี้มีเชื้อโรคที่ดื้อยามากขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าไม่เกิน 20 ปีจากนี้ไปเชื้อโรคดื้อยาจะเป็นสาเหตุการตายที่ใหญ่ที่สุดของมนุษย์มากกว่ามะเร็ง ดังนั้นทุกประเทศต้องระวังเรื่องการใช้ยา ผลิตยา และคิดค้นเทคนิคต่างๆ หากไม่มีความร่วมมือระหว่างประเทศ เรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เพราะต้องใช้ความมุ่งมั่นทางการเมือง

ส่วนถ้อยแถลงของท่านนายกฯในจีเอก็ได้มีการแสดงวิสัยทัศน์ซึ่งสอดคล้องกับธีมของจีเอในปีนี้คือการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยมองว่าสิ่งสำคัญคือต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และ

มุมมอง เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนสะท้อนความเชื่อมโยงของงานทุกด้านของยูเอ็นทั้ง 3 เสา คือการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้นต้องขับเคลื่อนงานต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน ขณะเดียวกันไทยยังได้แบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (เอสอีพี) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอีกด้วย

งานใหญ่อีกงานคือการที่ท่านนายกฯขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีกลุ่ม 77 อาจมีคำถามว่าเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี เหตุใดถึงให้ท่านนายกฯทำหน้าที่ประธาน นั่นเพราะการที่ผู้นำมาร่วมเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทชี้ชะตาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ ในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็มีแนวปฏิบัติที่หัวหน้ารัฐบาลหรือประมุขแห่งรัฐมาเป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม 77 เช่นกัน

การประชุมกลุ่ม 77 ช่วงเช้าเป็นการอภิปรายหัวข้อ ?เศรษฐกิจพอเพียงและวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน? ซึ่งไทยได้ยกเอสอีพีมาเป็นหัวข้อหลักของการอภิปรายในปีนี้ มีรัฐมนตรีมาเข้าร่วมการอภิปรายเป็นจำนวนมาก และมีการอภิปรายกันอย่างจริงจัง ขณะที่ท่านนายกฯ

ก็ทำหน้าที่ประธานการประชุมอย่างจริงจัง มีการตอบโต้ปฏิสัมพันธ์กับผู้พูดทุกคน หลายประเทศที่ได้นำเอสอีพีไปใช้ อาทิ ติมอร์เลสเต อินโดนีเซีย ลาว อัฟกานิสถาน นิการากัว เลโซโท และซิมบับเว ก็ลุกขึ้นอภิปราย

ทุกฝ่ายเห็นว่าเอสอีพีเป็นสิ่งที่นำมาปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้ปฏิญญาของที่ประชุมรัฐมนตรีกลุ่ม 77 นำเอาผลสำเร็จของเอสอีพีมาบรรจุไว้ในปฏิญญาถึง 2 ย่อหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากลุ่ม 77 ให้การรับรองเอสอีพี ถือเป็นผลสำเร็จอย่างสูงตามเป้าหมายของไทย

ในช่วงค่ำท่านนายกฯและภริยาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงหัวหน้าคณะผู้แทนและภริยา รวมถึงคณะทูตจากประเทศกลุ่ม 77 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างดี เพราะแม้แต่ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกกลุ่ม 77 ก็ยังมาเข้าร่วม ขณะที่นายบัน คี มุน ก็ยังส่งผู้แทนมาเข้าร่วมด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ไทยให้ความสำคัญในการทำหน้าที่ประธานกลุ่ม 77 ที่เห็นประโยชน์ชัดเจน 3 เรื่อง คือ การสร้างความเป็นหุ้นส่วนให้กว้างขวางในเวทีโลก ไทยจึงได้ผลักดันให้มีการเดินทางไปประชุมจี 20 ในฐานะประธานกลุ่ม 77 ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดีและหวังว่าจะมีการดำเนินการเช่นนี้ต่อไป ประการต่อมาคือการสร้างความร่วมมือใต้-ใต้ หรือความร่วมมือของประเทศกำลังพัฒนา และสุดท้ายคือการแบ่งปันแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย

ขณะที่ในงานเลี้ยงที่ประธานาธิบดีโอบามาจัดให้กับผู้นำที่มาร่วมประชุมยูเอ็นจีเอ ซึ่งเป็นโอกาสให้ข้าราชการระดับสูงของสหรัฐได้พบกับผู้นำประเทศต่างๆ นายแดน รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ก็ได้มาคุยกับท่านนายกฯ และชื่นชมไทยใน 3 เรื่องคือเรื่องผู้ลี้ภัย เรื่องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และปัญหาประมง และเรื่องที่ไทยให้สัตยาบันสารความตกลงปารีส

ในฐานะทูตไทยประจำยูเอ็น ในภาพรวมแล้วผมพอใจอย่างมาก เพราะผลทุกเรื่องเป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้ทั้งหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image