อนามัยโลกเตือนเชื้อเดลต้าทำวัคซีนป้องกันการแพร่เชื้อได้แค่ 40%

แฟ้มภาพ นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (รอยเตอร์)

อนามัยโลกเตือนเชื้อเดลต้าทำวัคซีนป้องกันการแพร่เชื้อได้แค่ 40%

สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) แถลงยอมรับว่ายุโรป กำลังกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้ง พร้อมกับเตือนให้ทุกประเทศได้ตระหนักว่า ยังไม่มีประเทศใดในโลกหลุดพ้นจากวงจรการระบาด โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการระบาดของวัคซีนลดน้อยลง
“ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ก่อนหน้าที่เชื้อเดลต้าจะมาถึง วัคซีนสามารถป้องกันการระบาดได้ราว 60 เปอร์เซ็นต์ แต่พอเป็นเดลต้าความสามารถดังกล่าวลดลงเหลือแค่ราว 40 เปอร์เซ็นต์”

ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอเตือนต่อว่า ที่น่ากังวลคือความเข้าใจผิดที่ว่า การฉีดวัคซีนคือการหยุดการแพร่ระบาด ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วมักเกิดความเข้าใจผิดๆ ว่า ไม่จำเป็นต้องระมัดระวังตัวอีกแล้ว แต่ในความเป็นจริง วัคซีน ช่วยรักษาชีวิตคนไว้ได้ ด้วยการป้องกันการป่วยหนัก หรือเสียชีวิต แต่ไม่ได้ป้องกันการแพร่ระบาดได้ทั้งหมด ดังนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วก็ยังคงต้องระวังตัวไม่ให้ติดเชื้อ เพราะเมื่อติดเชื้อก็จะยังสามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเชื้อที่แพร่ระบาดอยู่เป็นเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ที่ทำให้ประสิทธิภาพเชิงป้องกันของวัคซีนลดลง

นายกีบรีเยซุสระบุว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ยังจำเป็นต้องสวมหน้ากากป้องกัน, รักษาระยะห่าง, หลีกเลี่ยงการชุมนุมผู้คนหมู่มากและควรพบปะกันนอกสถานที่ หรือในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศดีเท่านั้น

“ถึงจะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ต้องระวังตัวตามมาตรการต่างๆ เหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองติดเชื้อ เพราะสามารถนำเชื้อไปแพร่ให้กับคนอื่นๆ ที่สามารถเสียชีวิตได้” นายกีบรีเยซุสกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ดับเบิลยูเอชโอ เปิดเผยข้อมูลพันธุกรรมของไวรัสจากจีไอเอสเอไอดี ศูนย์กลางเก็บรวบรวมพันธุกรรมไวรัสโควิดว่า ตัวอย่างเชื้อที่เก็บรวบรวมได้ในช่วง 60 วันที่ผ่านมา 99.8 เปอร์เซ็นต์เป็นเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ซึ่งตัวเชื้อเองกำลังอยู่ระหว่างวิวัฒนาการอีกด้วย

ยอดติดเชื้อใหม่ทั่วยุโรปในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีสูงถึงกว่า 2.4 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 11 เปอร์เซ็นต์ ประเทศที่ติดเชื้อเพิ่มสูงสุดคือเยอรมนี เพิ่มขึ้นถึง 31 เปอร์เซ็นต์ ยอดติดเชื้อและยอดเสียชีวิตในยุโรป คิดเป็นกว่า 60 เปอร์เซ็นของยอดติดเชื้อและยอดเสียชีวิตรวมทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญนอกจากเป็นเชื้อเดลต้าแล้ว ยังเป็นเพราะยังมีการต่อต้านวัคซีนในบางประเทศ และอากาศที่หนาวเย็นลงส่งผลให้คนพากันไปรวมตัวในอาคารอีกครั้ง

ประเทศอย่าง สโลวาเกีย, สาธารณรัฐเชก, เนเธอร์แลนด์ และ ฮังการี รายงานยอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงเป็นสถิติใหม่ของแต่ละประเทศในวันที่ 24 พฤศจิกายนซึ่งทำให้ศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (อีซีดีซี) หน่วยงานด้านสาธารณสุขของอียู เสนอให้ ชาติในอียู ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ให้กับประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งหมด โดยให้ความสำคัญต่อผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไปเป็นลำดับแรก โดยอ้างอิงประสิทธิภาพของบูสเตอร์จากข้อมูลในอิสราเอลและอังกฤษ ในขณะที่อีกหลายประเทศ รวมทั้งออสเตรียและฝรั่งเศส ต้องหันกลับมาใช้มาตรการเข้มงวดอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image