สกู๊ปหน้า 1: เอกซเรย์ไทย-ตกขบวน ซัมมิทเพื่อประชาธิปไตย!

สกู๊ปหน้า 1: เอกซเรย์ไทย-ตกขบวน ซัมมิทเพื่อประชาธิปไตย!

ระหว่างวันที่ 9 และ 10 ธันวาคมนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่เรียกว่า “การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย” หรือ “ซัมมิท ฟอร์ เดโมเครซี” ขึ้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกา เชื้อเชิญผู้นำประเทศต่างๆ รวม 110 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมแบบเสมือนจริง ผ่านระบบออนไลน์ในครั้งนี้ แต่ทว่า ไม่มีรายชื่อประเทศไทย ติดอยู่ในรายชื่อ 110 ประเทศ ส่งผลให้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามว่าเป็นเพราะเหตุใด

การจัดการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นความคิดริเริ่มของไบเดนเอง ประกาศเอาไว้อย่างหนักแน่นตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นผู้สมัครชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เป้าหมายของไบเดนที่ประกาศเอาไว้นั้น ชัดเจนอย่างยิ่งว่าในช่วงระยะเวลาอย่างน้อย 15 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยทั่วโลกอยู่ในภาวะถดถอย แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เอง

ไบเดนเชื่อว่าด้วยการจัดการประชุม “ระดับโลก” ขึ้นว่าด้วยหัวข้อนี้ สหรัฐอเมริกาจะสามารถฟื้นฟู บูรณะ ประชาธิปไตย และ สิทธิมนุษยชน ขึ้นมาให้กลายเป็นนโยบายหลักสำหรับใช้นำหน้านโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้อีกครั้ง

ในช่วงที่ผ่านมา แผนการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยนี้ ถูกปรับแต่งเป็นรูปธรรม โดยการมุ่งเน้น 3 เรื่องสำคัญเป็นหลัก ประกอบด้วย การต่อต้านการคอร์รัปชั่น, การป้องกันลัทธิอำนาจนิยมกับเผด็จการ และการผลักดันหลักการสิทธิมนุษยชนให้รุดหน้า สหรัฐอเมริกาคาดหวังว่าการประชุมนี้จะก่อให้เกิด “แบบอย่าง” ที่เป็นมาตรฐาน สำหรับการสอดประสานการดำเนินการร่วมกันในระดับโลกเพื่อให้ “สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน” สามารถคืบหน้า ขยายตัวออกไปได้ เช่นเดียวกับการก่อให้เกิด “ระเบียบโลกเสรี” ขึ้น ผลักดันให้
“ธรรมาภิบาลทางการเมือง” รุ่งเรืองเฟื่องฟู และสามารถแสวงหาจนพบหนทางในการจัดการกับ “สวรรค์สำหรับเลี่ยงภาษี”, การคอร์รัปชั่นและความเหลื่อมล้ำขึ้นมา เหล่านี้คือจุดมุ่งหมายของการประชุมสุดยอดระดับโลก ที่ประเทศไทยไม่ได้รับเชิญเข้าร่วม

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การประชุมที่ใหญ่โตในระดับโลก และมีเป้าหมายที่ค่อนไปในทางนามธรรมเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ควรสถาปนา “เวทีเพื่อประชาธิปไตย” ในระดับโลกเช่นนี้ขึ้น แต่ถ้าถามว่า จะเชื้อเชิญใครเข้าร่วม แม้แต่บุคคลระดับผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ยังมีความเห็นแตกออกเป็นหลายฝักหลายฝ่าย ส่วนหนึ่งเห็นว่าจะเป็นการง่ายต่อเจ้าภาพอย่างสหรัฐอเมริกามากขึ้นอย่างมาก หากจะเชื้อเชิญบรรดาประเทศและผู้นำที่ “ใจตรงกัน” มีความรุดหน้าในเชิงประชาธิปไตยในประเทศ เพื่อหล่อหลอมให้เกิดความเป็นเอกภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการต่อต้านระบอบการปกครองอำนาจนิยม หากเชื้อเชิญประเทศที่ “ประชาธิปไตยอ่อนแอ” รังแต่จะกลายเป็นการ “ให้การยอมรับ” ว่ารัฐบาลที่มีโครงสร้างการปกครองเป็นประชาธิปไตย แต่มีเนื้อหาและธรรมชาติเป็น “เผด็จการ” ว่ามีความชอบธรรมในการปกครองประเทศของตนเช่นนั้น

ในอีกด้านหนึ่งก็มีผู้แย้งเช่นกันว่า เป้าหมายสำคัญลำดับแรกสุดของการประชุมหนนี้ ควรเป็นบรรดาประเทศที่กำลังก้าวเดินอยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นเผด็จการอำนาจนิยมกับประชาธิปไตย เพื่อกล่อมเกลาให้ผู้นำของประเทศเหล่านี้ได้ตระหนักและหันมาคัดสรรแนวทางประชาธิปไตยเป็นทางเลือก ทางรอดของประเทศ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏนับจนถึงเวลานี้ก็คือ ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนและเป็นทางการจากเจ้าภาพอย่างสหรัฐอเมริกา ว่าเชื้อเชิญประเทศต่างๆ ทั้ง 110 ประเทศ เข้าร่วม ด้วยหลักการและเหตุผลอะไร

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญในด้านยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีระดับโลกต้องหันมาใช้วิธี กางรายชื่อทั้ง 110 ประเทศออกมา เพื่อหา “รูปแบบ” ที่ทำให้มีการเจาะจงเชื้อเชิญหรือไม่เชื้อเชิญประเทศใดประเทศหนึ่ง สตีเฟน เฟลด์สตีน นักวิชาการประจำโครงการธรรมาภิบาล, ความขัดแย้งและประชาธิปไตย ของสถาบันคาร์เนกี องค์กรอิสระทางวิชาการชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า 77 ประเทศ ที่ถูกเชิญเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เป็นประเทศที่เป็น “เสรี” และ มี “ประชาธิปไตยเต็มใบ”

Advertisement

โดยที่ เฟลด์สตีน อาศัยรายงานการจัดทำดัชนีชี้วัดประชาธิปไตย ประจำปี 2021 ของ “ฟรีดอมเฮาส์” เป็นพื้นฐานในการระบุดังกล่าว อีก 30 ประเทศ ที่ได้เชิญ เป็นประเทศที่ฟรีดอมเฮาส์ จัดให้เป็นประเทศ “เสรีเป็นบางด้าน” มีที่เหลืออีก 3 ประเทศ เป็นประเทศที่ฟรีดอมเฮาส์ ระบุว่า “ไม่เป็นเสรี” เมื่อจำแนกเป็นภูมิภาค ภาคพื้นยุโรป ได้รับเชิญมากที่สุด 39 ประเทศ ประเทศที่อยู่ในซีกโลกตะวันตก ตามมาเป็นลำดับที่ 2 ได้รับเชิญรวม 27 ประเทศ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 21 ประเทศ ประเทศในภูมิภาค ซับ-ซาฮาราน แอฟริกา 17 ประเทศ ข้อสังเกตของเฟลด์สตีน ในแง่นี้ก็คือ ประเทศในตะวันออกกลางที่เป็นประชาธิปไตยมีเพียง อิสราเอล กับตูนิเซีย เท่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ตูนิเซีย กำลังอยู่ในกระบวนการที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เรียกว่าเป็น “การรัฐประหารแบบสโลว์โมชั่น” อยู่ในเวลานี้ จะเชื้อเชิญอิสรเอลประเทศเดียวก็ใช่ที่ จึงเลือกอิรัก ที่ถูกจัดว่ามีประชาธิปไตยในระดับเริ่มต้นเข้าไปด้วย ใช่หรือไม่?

ถัดมา เฟลด์สตีนตั้งข้อสังเกตว่า การเชิญของสหรัฐอเมริกา มีการพิจารณา “ปัจจัยว่าด้วยผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์” รวมอยู่ด้วย เขาเชื่อว่า ฟิลิปปินส์ ประเทศที่ผู้นำใช้กฎหมายอย่างบิดเบือนและลุแก่อำนาจ ประเทศที่จำกัดและคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน ถูกเชิญเข้าร่วม เพราะเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านจีนในภูมิภาคเอเชียแฟซิฟิก ในทำนองเดียวกับที่ยูเครน ได้รับเชิญเพราะเป็นหมากสำคัญในการต่อต้านอิทธิพลของรัสเซียในยุโรปตะวันออก เฟลด์สตีนเชื่อว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บางประเทศได้รับเชิญก็คือ การที่กำลังจะเกิดกระบวนการประชาธิปไตยขึ้นในประเทศนั้น และกระบวนการที่ว่านั้นมีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำ ฟิลิปปินส์และเคนยา ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในปี 2022 ได้รับเชิญเพราะเหตุนี้ เฟลด์สตีน
เชื่ออย่างนั้น

ข้อสังเกตที่สำคัญที่สุดของสตีเฟน เฟลด์สตีน ก็คือ ข้อสันนิษฐานของนักวิชาการรายนี้ที่ว่า ทำไมประเทศอย่างฮังการี และตุรกี ถึงไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ประเทศทั้งสองนี้มีกระบวนการพื้นฐานทางการเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่มีเนื้อหาและธรรมชาติของการปกครองเป็นเผด็จการ เฟลด์สตีนเชื่้อว่าทั้งสองประเทศนี้ ไม่ได้รับเชิญ เพราะสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้บทบาทของตนครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้ามภายในประเทศทำนองนี้ ไบเดนไม่ต้องการช่วยให้ประธานาธิบดีวิคเตอร์ ออร์บาน หรือคนอย่าง เรซิป เตย์ยิบ แอร์ดวน ผู้ยิ่งใหญ่แห่งตุรกี ได้รับเลือกตั้งซ้ำกลับมาอีกจากการได้เชิญครั้งนี้ หรือว่า ประเทศไทย จัดอยู่ในหมวดหมู่ของประเทศเหล่านี้เช่นกัน?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image