ทีมวิจัยสหรัฐ-อังกฤษเผยสาเหตุวัคซีนแอสตร้าทำหลอดเลือดอุดตัน

แฟ้มภาพ รอยเตอร์

ทีมวิจัยสหรัฐ-อังกฤษเผยสาเหตุวัคซีนแอสตร้าทำหลอดเลือดอุดตัน

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม เว็บไซต์บีบีซีนิวส์ รายงานว่า ทีมวิจัยในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา นำโดยศาสตราจารย์ อลัน ปาร์เกอร์ จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ในสหราชอาณาจักร ค้นพบกระบวนการที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของการที่ผู้ได้รับวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า บางรายเกิดอาการอุดตันในหลอดเลือดและเกล็ดเลือดต่ำ หรือ ทรอมโบไซโตพีเนีย ทรอมโบซิสอันเนื่องมาจากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน (วีไอทีที) ซึ่งเกิดขึ้นน้อยมากแต่เป็นอันตรายถึงชีวิต และจากการฉีดวัคซีนเกือบ 50 ล้านโดสให้กับประชาชนในสหราชอาณาจักรมีผู้เกิดวีไอทีทีจนถึงชีวิตเพียง 73 รายเท่านั้น

งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า ดังกล่าวพบว่าการเกิดวีไอทีทีขึ้นนั้นเหตุการณ์ที่เกิดเชื่อมโยงกันเป็นกระบวนการต่อเนื่อง และพบเฉพาะในวัคซีนที่พัฒนาโดยเทคโนโลยี ไวรัสเวคเตอร์แบบเดียวกับวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งใช้อะดีโนไวรัส (ไวรัสก่อโรคหวัดในลิงชิมแปนซี) เป็นสื่อนำชิ้นส่วนรหัสพันธุกรรมของไวรัสก่อโรคโควิด-19 เข้าสู่ร่างกาย ทำให้ทีมวิจัยตั้งสมมุติฐานว่า อะดีโนไวรัส คือปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่อันนำไปสู่ภาวะเกล็ดเลือดต่ำและหลอดเลือดอุดตันในที่สุด
ทีมวิจัยตรวจสอบอะดีโนไวรัสอย่างละเอียดโดยใช้เทคโนโลยี ครายโอ-อีเลคตรอน ไมโครสโคปี ถ่ายภาพไวรัสนี้ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 100 นาโนเมตรออกมาตรวจสอบ และพบว่า ผิวนอกของอะดีโนไวรัสดึงดูดโปรตีนชนิดหนึ่งในเกล็ดเลือดที่เรียกว่า “แพลเทเลต โฟร์”หรือ”พีเอฟ4” เข้าหาเหมือนแม่เหล็กดูดเศษเหล็ก เนื่องจากผิวนอกของอะดีโนไวรัสมีศักย์ไฟฟ้าเป็นลบสูงสุดและพีเอฟ4 มีศักย์ไฟฟ้าเป็นบวกสูงสุดนั่นเอง

ศาสตราจารย์ปาร์เกอร์ ระบุว่า การดึงดูดดังกล่าวคือชนวนเริ่มต้นของปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกิดขึ้นตามมาและสามารถพิสูจน์ได้แล้ว แต่สิ่งนี้ยังก่อให้เกิดเหตุขึ้นตามมาอีกหลายขั้นตอน ซึ่งเชื่อว่าป็นกรณี “ภูมิคุ้มกันโจมตีผิดที่” แต่การพิสูจน์ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยโดยละเอียดต่อไปจึงสามารถยืนยันได้แน่ชัด

ทั้งนี้ ทีมวิจัยคาดการณ์ว่า เมื่อพีเอฟ4 ถูกดูดเข้าหาอะดีโนไวรัส ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดสับสน เข้าใจว่าเกล็ดเลือดเป็นไวรัสผู้รุกรานและเริ่มต้น ส่งสารแอนติบอดีเข้าสู่กระแสเลือดที่จะเข้าไปจับเกาะเข้ากับพีเอฟ4 เพื่อทำลาย อันเป็นที่มาของการที่เลือดจับตัวเป็นก้อนและเกิดอุดตันในหลอดเลือดขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตามทีมวิจัยชี้ว่า กว่าจะเกิดสภาวะการณ์ดังกล่าวขึ้นได้จะต้องมีเหตุโชคร้ายที่เกิดขึ้นประจวบเหมาะอีกหลายอย่าง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมวีไอทีที ถึงได้เกิดขึ้นน้อยมาก

Advertisement

งานวิจัยนี้นอกจากจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษแล้วยังได้รับการสนับสนุนจากแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งระบุว่า แม้ผลการวิจัยยังไม่สมบูรณ์แต่ละเอียดและลึกซึ้งอย่างมาก ทางแอสตร้าเซนเนก้าเชื่อว่าจะนำผลนี้ไปใช้ประโยชน์เพื่อขจัดผลข้างเคียงที่เกิดได้ยากมากนี้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image