แอฟริกาใต้ชี้ โอไมครอน อาจหลบภูมิได้ ทำติดเชื้อในปท.พุ่ง 2 เท่า อียูจี้ฉีดวัคซีนสู้

แฟ้มภาพรอยเตอร์

แอฟริกาใต้ชี้ โอไมครอน อาจหลบภูมิได้ ทำติดเชื้อในปท.พุ่ง 2 เท่า อียูจี้ฉีดวัคซีนสู้

สถาบันโรคติดต่อแห่งชาติ (เอ็นไอซีดี) ของแอฟริกาใต้ แถลงเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ถึงไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล(วีโอซี) ว่า จากข้อมูลเชิงระบาดวิทยาก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่า โอไมครอนสามารถเลี่ยงการตรวจจับของภูมิคุ้มกันบางอย่างได้ อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ใช้กันอยู่น่าจะสามารถคุ้มครองไม่ให้ผู้ติดเชื้อนี้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้

เอ็นไอซีดียังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการจำแนกพันธุกรรมตัวอย่างเชื้อที่จัดเก็บตลอดเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า 74 เปอร์เซ็นต์เป็นเชื้อโอไมครอน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียงไม่ถึงเดือน หลังจากพบครั้งแรกในตัวอย่างเชื้อที่จัดเก็บจากจังหวัดโกเต็งของแอฟริกาใต้เมื่อ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากจำนวนผู้ติดเชื้อ 1 วันก่อนหน้านั้น

ด้าน นางมาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ นักระบาดวิทยาขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับขีดความสามารถในการแพร่ระบาดของโอไมครอน น่าจะเผยแพร่ออกมาได้ภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

ส่วนนาง อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงการเลื่อนโครงการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปีในอียูให้เร็วขึ้น 1 สัปดาห์เพื่อรับมือกับการระบาดของโอไมครอน รวมทั้งเรียกร้องต่อชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ให้พิจารณาบังคับให้มีการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศ รวมทั้งการฉีดเข็มกระตุ้น เพราะถือเป็นแนวทางรับมือกับโอไมครอนที่ดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเชื้อนี้อันตรายเพียงใด ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับทางการสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

Advertisement

แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าว ถูกนายไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งว่า ชาติพัฒนาแล้วกำลังผลักดันให้มีการฉีดเข็มกระตุ้นให้กับประชากรส่วนมากที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ในขณะที่ประชาชนในประเทศยากจนยังไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว

นายไรอันชี้ว่า แม้เข็มกระตุ้นจะส่งผลให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า การฉีดเข็มกระตุ้นส่งผลที่ดีขึ้นกว่าเดิมในแง่ของการป้องกันการป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด

องค์การอนามัยโลกเปิดเผยด้วยว่า จนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน มีอย่างน้อย 56 ประเทศที่ออกมาตรการห้ามการเดินทางจากประเทศในแอฟริกาและประเทศที่พบการติดเชื้อ ทั้งๆ ที่ การห้ามดังกล่าวไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโอไมครอนระหว่างประเทศได้ และยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจกลายเป็นภาระยุ่งยากในการใช้ชีวิตของคนทั่วไปอีกด้วย โดยเฉพาะต่อคนป่วย, เป็นคนกลุ่มเสี่ยง หรืออายุเกิน 60 ปีและไม่เคยได้รับวัคซีน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image