APEC ISOM ระดมความเห็น ขับเคลื่อนประเด็นเอเปคปี’65

ธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคปี 2565

APEC ISOM
ระดมความเห็น
ขับเคลื่อนประเด็นเอเปคปี’65

เสร็จสิ้นกันไปแล้วสำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคอย่างไม่เป็นทางการซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม ที่โรงแรมดุสิต ลากูนา ภูเก็ต ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นหลังรับหน้าที่ดังกล่าวต่อจากนิวซีแลนด์เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมี นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่ประธานการประชุมในฐานะประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคปี 2565 (APEC SOM Chair 2022)

สาระสำคัญหลักของการประชุมครั้งนี้คือการระดมความเห็นเพื่อวางแผนงาน กำหนดทิศทาง รวมถึงประเด็นที่จะผลักดันต่างๆ ให้มีความต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2565 สิ่งที่ทำให้การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญไม่ใช่เพียงแต่เป็นการประชุมครั้งแรกที่ไทยเป็นเจ้าภาพ แต่ยังเป็นการจัดการประชุมแบบที่เจ้าหน้าที่อาวุโสรวมถึงผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคได้มาประชุมร่วมกันแบบเจอตัวเป็นครั้งแรกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานเกือบสองปี

ปลัดธานีระบุว่า ไทยได้ใช้โอกาสนี้แจ้งให้สมาชิกในเขตเศรษฐกิจทราบถึงแนวคิดหลัก สำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย และยังเป็นโอกาสในการรับฟังความเห็นของสมาชิกในเขตเศรษฐกิจเอเปคว่าอยากเขาอยากเห็นการขับเคลื่อนเอเปคในปีหน้าเน้นไปในประเด็นใด ซึ่งเราได้รับฟังและนำมาปรับเพื่อให้สิ่งที่ทำจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคปี 2565

ประเทศไทยได้ชูโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) เป็นแนวคิดเบื้องหลังในการผลักดันแนวคิดหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยคือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” โดยในการจัดการสัมมนาในวันแรก ไทยได้นำเสนอหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพเอเปค และระดมสมองร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ว่าจะขับเคลื่อนหัวข้อหลักและประเด็นสำคัญที่ไทยต้องการผลักดันให้มีการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และมุ่งไปสู่การเติบโตที่ครอบคลุม ยั่งยืน สมดุล ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกคนด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีได้อย่างไร โดยมี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาหลักเพื่ออธิบายแนวคิดของโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ขณะที่ในวันที่ 2 เป็นเวทีการหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) นำโดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ABAC เพื่อรับฟังแผนงานและบูรณาการการทํางานร่วมกันระหว่างเอเปคและภาคเอกชน และในวันที่ 3 เป็นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคอย่างไม่เป็นทางการเพื่อหารือลงรายละเอียด

Advertisement

ประเด็นสําคัญและผลลัพธ์ที่ไทยจะผลักดันในเอเปคปีหน้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคได้พิจารณาจัดทําแผนงานร่วมกันมี 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.การเปิดโอกาสด้านการค้าการลงทุนในทุกมิติเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม โดยให้นําบทเรียนจากโควิด-19 มาอยู่ในการหารือ เพื่อขับเคลื่อนการค้าการลงทุนที่ครอบคลุมและยั่งยืนในภูมิภาค 2.การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้งการเดินทางอย่างไร้รอยต่อและปลอดภัย และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี    ดิจิทัลเพื่อเพิ่มความเชื่อมโยงในทุกมิติ เพื่อการส่งเสริมให้เอเปคมีมาตรฐานการเดินทางที่ปลอดภัยและสอดคล้องกัน อํานวยความสะดวกการเดินทางให้กับบุคคลในสาขาอาชีพต่างๆ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การทําธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ง่ายยิ่งขึ้น และ 3.ปรับสู่สมดุลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ครอบคลุม ยั่งยืน และคํานึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยนําโมเดลการพัฒนาต่างๆ รวมถึงบีซีจีมาปรับใช้

ปลัดธานีกล่าวว่า ในภาพรวมแล้วที่ประชุมมีความประทับใจกับการอธิบายถึงแนวคิดบีซีจีของอดีต รมว.สุวิทย์ และขานรับแนวคิดหลักในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยรวมถึงโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีด้วยดี เพราะสอดคล้องกับสิ่งที่หลายเขตเศรษฐกิจในเอเปคดำเนินการอยู่แล้ว โดยแนวคิดบีซีจีที่ไทยผลักดันเป็นการนำมาโยงให้เห็นว่าเรื่องต่างๆ ที่เขาทำกันอยู่นั้นมันเกี่ยวกันอย่างไร จะทำให้เราเดินไปในทิศทางไหน การเปลี่ยนแปลงที่เราทำอยู่ในขณะนี้เพียงพอหรือไม่ หรือเราต้องกลับไปปรับเปลี่ยนอย่างไร ซึ่งถือเป็นการทิ้งโจทย์ไว้ให้นำไปคิดต่อ

Advertisement

สำหรับเรื่องการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ซึ่งได้มีการพูดคุยกันมานานกว่า 15 ปีแล้ว ที่ประชุมเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังในเรื่องดังกล่าว มองประเด็นใหม่ๆ ที่แต่ละเขตเศรษฐกิจต้องการผลักดัน โดยต้องมองถึงข้อเท็จจริงที่ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก มีประเด็นใหม่ๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาเพิ่มขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้มีทั้งคนที่พร้อมและไม่พร้อม จึงต้องมาดูว่าประเด็นใดที่จะทำงานร่วมกันได้ และจะทำอย่างไรให้การเปิดเสรีการค้าเป็นประโยชน์กับทุกเขตเศรษฐกิจ ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

การเปิดประเทศอีกครั้งเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มีการหารือกันในการประชุม เป้าหมายหลักคือจะทำอย่างไรให้คนทั่วไปรวมถึงนักธุรกิจเดินทางไปมาหาสู่กันเหมือนในยุคก่อนโควิด มีการลดขั้นตอนต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้มากขึ้น ปลัดธานีพูดถึงประเด็นนี้ว่า แม้เรื่องดังกล่าวจะฟังดูไม่น่ายาก แต่ในความเป็นจริงมีความท้าทายและความซับซ้อนอยู่มาก เพราะทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมีระบบการคัดกรองของตนเอง ขณะที่ใบรับรองการฉีดวัคซีนของแต่ละเขตเศรษฐกิจก็ไม่ได้เชื่อมต่อกัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เขตเศรษฐกิจหนึ่งจะรับรองใบรับรองการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของอีกเขตเศรษฐกิจหนึ่งได้

ทั้งนี้ หากดูจากตัวอย่างการทำไทยแลนด์พาสของประเทศไทย เราได้รับความร่วมมือจาก 31 ประเทศในการเชื่อมโยงการตรวจสอบการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทาง ซึ่งสามารถทำให้อนุมัติการรับรองวัคซีนได้โดยอัตโนมัติ แต่ก็ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณา ตั้งแต่การดูรูปแบบการรับรองการฉีดวัคซีนจากเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 แห่งว่าในด้านการเชื่อมโยงเทคโนโลยีสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ประเด็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลว่าแต่ละเขตเศรษฐกิจเปิดกว้างแค่ไหนอย่างไร ไปจนถึงประเด็นเรื่องวัคซีน เพราะไม่ใช่ทุกเขตเศรษฐกิจที่จะรับรองวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นต้องมาคุยกันว่าจะรับวัคซีนประเภทใดบ้าง ดังนั้นแม้จะมีความตกลงในเรื่องดังกล่าวก็อาจจะต้องดำเนินการไปเฉพาะเขตเศรษฐกิจที่มีความพร้อมก่อน

ความรู้สึกที่ปรากฏให้เห็นในที่ประชุมคือความต้องการที่จะเปิดประเทศจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าอาจมากน้อยต่างกัน แต่สิ่งที่ดูจะรับรู้ได้ชัดคือความตระหนักรู้ว่าเราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 ปลัดธานีย้ำว่า สิ่งที่แน่นอนคือการเปิดประเทศต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เป็นขั้นเป็นตอน โดยคำนึงถึงสถานการณ์ในปัจจุบันควบคู่กันไป

แม้จะเป็นการประชุมแรกอย่างไม่เป็นทางการ แต่เนื้อหาในการพูดคุยไปจนถึงการวางแผนและกำหนดกรอบประเด็นในการทำงานร่วมกันของ 21 เขตเศรษฐกิจในปีหน้าที่เป็นข้อสรุปเบื้องต้นจากที่ประชุมในคราวนี้ถือว่าอัดแน่นไปด้วยสาระ ซึ่งจะช่วยปูทางให้เกิดความชัดเจนในประเด็นความร่วมมือต่างๆ ที่จะผลักดันร่วมกันตลอดปี 2565 ที่กำลังจะมาถึง

BCG ในมุมมองของ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

แนวคิดบีซีจีมากจากที่เรามองว่าโลกจะอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้และทุกคนต้องช่วยกัน เริ่มจากการเปลี่ยนความเชื่อและมุมมองที่ยึดตัวตนมาเป็นทัศนคติที่เห็นถึงส่วนรวมมากขึ้น เพราะเราจะเรียกหาความยั่งยืนไม่ได้ถ้าไม่มีความเท่าเทียม นอกจากนี้เราต้องเปลี่ยนแปลงกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากที่ภาคธุรกิจถูกมองว่าเป็นเหยื่อและเป็นตัวการทำให้โลกมีปัญหา อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก มาเป็นภาคธุรกิจคือตัวหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและมีความเท่าเทียม ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ไปด้วยกัน

เรามีเป้าหมายหลักของโลกอยู่แล้วคือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (เอสดีจีส์) ซึ่งบีซีจีจะเป็นแพลตฟอร์มที่จะนำทุกคนไปสู่จุดนั้นร่วมกันได้ เศรษฐกิจชีวภาพอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพและทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่อุตสาหกรรมผูกขาดแต่เป็นการชูจุดเด่นที่แต่ละที่มีความแตกต่างกัน เศรษฐกิจชีวภาพจึงเป็นการทำให้ทุกพื้นที่ในประเทศต่างๆ มีโอกาสในการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน และยังตอบโจทย์ในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์

ขณะที่เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวตอบโจทย์ในเรื่องความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือมลพิษ โลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราต้องมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งภาคธุรกิจจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ เราจึงต้องเปลี่ยนความคิดจากการมุ่งเน้นกำไรของผู้ถือหุ้นเป็นการมองไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มองอะไรที่ใหญ่กว่าตัวเอง มองว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นการทำกำไรที่ยั่งยืนในระยะยาว

บีซีจีจะตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยั่งยืน รวมถึงตอบโจทย์เอสซีจีส์ทั้ง 17 ข้อ เอกชนสามารถใช้บีซีจีเป็นตัวเชื่อมทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้เข้าด้วยกัน บีซีจีเป็นเหมือนจิกซอว์ที่หายไปที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น และเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image