ผู้เขียน | ปิยมิตร ปัญญา [email protected] |
---|
ปริศนาของ “โอไมครอน”
นักวิชาการด้านระบาดวิทยา นักไวรัสวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อเป็นจำนวนมากทั่วโลก กำลังวุ่นอยู่กับการไขปริศนามากมายหลายอย่างของ “โอไมครอน” เชื้อโคโรนาไวรัสก่อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ที่อุบัติขึ้นมาในพื้นที่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา
จนถึงขณะนี้ โอไมครอน ยังคงเป็นปริศนาลึกลับสำหรับทุกคน
ด้วยข้อมูลที่มีอยู่จำกัด ทำให้เราไม่รู้ว่า โอไมครอน แพร่ระบาดได้เร็วแค่ไหน? เร็วกว่าเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา รวมทั้งเดลต้า เชื้อกลายพันธุ์ที่แพร่เร็วที่สุดในเวลานี้หรือไม่? โลกยังไม่รู้เช่นกันว่า จริงๆ แล้ว โอไมครอน สามารถเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากแค่ไหน? บางส่วนหรือทั้งหมด รวมทั้งภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการกระตุ้นของวัคซีนที่มีอยู่หรือไม่?
เรายังไม่รู้ด้วยว่า แท้จริงแล้วโอไมครอน ก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรงมากน้อยเพียงใด?
และอันที่จริง เราไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า โอไมครอน เกิดขึ้นได้อย่างไร? ทำไมถึงได้เกิดการกลายพันธุ์มากมายมหาศาลเช่นนี้?
นักวิชาการทางไวรัสวิทยา บ่งบอกเอาไว้ว่า การกลายพันธุ์เป็นปรากฏการณ์ปกติของไวรัสก็จริง แต่การกลายพันธุ์ที่ว่านั้น เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเป็นช่องทางให้ไวรัส ได้ปรับตัว เปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการ
ไม่ใช่อยู่ดีๆ เปลี่ยนแปลงรวดเดียวถึง 50 ตำแหน่ง เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับ โอไมครอน
ในทัศนะของ เทรเวอร์ เบดฟอร์ด ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยา ประจำศูนย์วิจัยมะเร็งเฟรด ฮัทชินสัน ในนครซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ปรากฏการณ์กลายพันธุ์แบบ “จัมพ์” ของโอไมครอน ไม่เพียงน่าแปลกใจ แต่ยังน่ากังวลพร้อมกันไปด้วยในตัว
ใคร หรือ อะไร เป็นตัวการให้เกิดไวรัสร้ายแรงอย่าง “โอไมครอน” ขึ้นมา?
นักไวรัสวิทยาที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกอย่างเบดฟอร์ด ชี้ว่า นี่คือปริศนาสำคัญที่สุดประการหนึ่งของโอไมครอน
******
เบดฟอร์ด ลงมือศึกษาวิวัฒนาการของโอไมครอนอย่างจริงจัง เขาตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของ โอไมครอนอย่างละเอียด เพื่อย้อนกลับไปหา เชื้อกลายพันธุ์ที่เป็นต้นตอหรือ บรรพบุรุษ ของมัน
แล้วก็ต้องเซอร์ไพรส์อีกรอบ!
การศึกษา “ลำดับขั้นวิวัฒนาการ” ของ โอไมครอน ในทำนองเดียวกับการไล่สาแหรกตระกูลของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับนักไวรัสวิทยา เป้าหมายก็เพื่อให้ได้รู้ว่า การกลายพันธุ์ที่สำคัญๆ ในโอไมครอนนั้นมาจากไหน โดยอาศัยพันธุกรรมของไวรัสเป็นเครื่องบ่งบอกว่า ถึงที่สุดแล้ว มันเริ่มมาจากเชื้อกลายพันธุ์ตัวไหน ด้วยการเทียบเคียงลำดับพันธุกรรมของโอไมครอน กับลักษณะพันธุกรรมของเชื้อกลายพันธุ์อีกเป็นจำนวนมากที่มีการจำแนกไว้จากที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งบรรจุไว้ในฐานข้อมูลกลาง
สิ่งที่ทำให้เบดฟอร์ดประหลาดใจก็คือ ลักษณะทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกับ โอไมครอน มากที่สุด เป็นเชื้อกลายพันธุ์ตัวหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นย้อนหลังไปเมื่อราวกลางปี 2020 หรือกว่าปีมาแล้ว
ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดขึ้นกับการกลายพันธุ์ของไวรัส
“มันไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงอะไรกับเชื้อกลายพันธุ์ทั้งหลายที่แพร่ระบาดอยู่เมื่อเร็วๆ นี้ แต่กลับมีต้นตอมาจากเชื้อที่เคยปรากฏเมื่อนานมาแล้ว” เบดฟอร์ดย้ำ
คำถามก็คือ แล้วทำไมในช่วงหลายเดือนที่ว่านั้น ไม่มีการตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้? แต่มาพบเอาเมื่อกว่าปีให้หลัง!
คำอธิบายหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ เชื้อที่อุบัติขึ้นในราวกลางปี 2020 ถูกแพร่ให้กับสัตว์ที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไรกลุ่มหนึ่ง แล้วเกิดการระบาดอยู่ในกลุ่มประชากรสัตว์เหล่านั้น จนกลายพันธุ์มากยิ่งขึ้นแล้วจึงแพร่กลับมายังมนุษย์
แต่เบดฟอร์ดบอกเองว่า สมมุติฐานนี้เป็นไปไม่ได้ เป็นเพราะใน อาร์เอ็นเอ ที่เป็นพันธุกรรมของไวรัส ไม่มีร่องรอยพันธุกรรมของสัตว์ใดๆ ให้เห็นเลย เท่าที่เห็นก็มีแต่สารพันธุกรรมของคนเท่านั้น
นั่นหมายความว่า ในวิวัฒนาการของโอไมครอน ตั้งแต่กลางปี 2020 เรื่อยมาจนกระทั่งมีการตรวจพบในปลายปี 2021 นั้น
มันวิวัฒนาการอยู่แต่ในตัวคนเท่านั้น!
******
เบดฟอร์ดมีสมมุติฐานที่ 2 เช่นกัน ซึ่งหากเป็นไปตามสมมุติฐานนี้ก็แสดงว่า เชื้อเมื่อกลางปี 2020 ได้แพร่ระบาดอยู่ในหมู่ผู้คนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง ซึ่งไม่มีการเฝ้าระวังทางพันธุกรรม ซึ่งอาจเป็นที่ใดที่หนึ่งในทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา
การระบาดที่ว่านั้นทำให้เชื้อนี้วิวัฒนาการมากขึ้นตามลำดับโดยไม่มีใครรู้เห็น จนเมื่อถึงปลายปีนี้ก็มีการกลายพันธุ์มากพอที่จะทำให้มันแพร่ได้เร็วขึ้นมากและ “อุบัติ” ขึ้นมาให้เห็นในที่สุด
นักไวรัสวิทยาเรียกลักษณะการระบาดแบบนี้ว่า “คริปติค สเปรด” หรือ “การระบาดแฝงเร้น”
แต่เบดฟอร์ดเองอีกนั่นแหละที่เห็นว่า คริปติค สเปรด ยากที่จะเชื่อได้ ทางหนึ่งเพราะ โอไมครอน มีแนวโน้มที่จะเป็นเชื้อที่แพร่ระบาดได้เร็วมาก ตัวเชื้อต้นตอก็น่าจะแพร่ได้เร็วเช่นเดียวกันแม้จะไม่มากเท่า แต่ก็ควรมากพอที่จะทำให้ประเทศหนึ่งประเทศใดที่เป็นเจ้าของพื้นที่ระบาด ตื่นตัว ขึ้นมา
ในอีกทางหนึ่งก็คือ ในพื้นที่ทางตอนใต้ของแอฟริกา มีประเทศอย่างแอฟริกาใต้ตั้งอยู่ แอฟริกาใต้เป็นแหล่งจำแนกพันธุกรรมโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จสูงมาก มีสถาบันเพื่อการนี้อยู่มากถึง 10 แห่งในประเทศ
พูดอีกอย่างก็คือ ถึงประเทศที่เกิดเหตุระบาดจะไม่รู้ แต่แอฟริกาน่าจะรู้ได้ เหมือนเช่นที่เคยตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์ตัวหนึ่งในแทนซาเนีย ด้วยการจำแนกพันธุกรรมไวรัสจากตัวอย่างที่พบในคนแทนซาเนียที่เดินทางข้ามแดนเข้ามา
ริชาร์ด เลสเซลส์ ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อประจำมหาวิทยาลัยควาซูลู-นาทาล ในนครเดอร์บัน ของแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งทีมวิจัยที่ตรวจพบเชื้อโอไมครอนแล้วแจ้งเตือนต่อองค์การอนามัยโลก แสดงความเห็นด้วยกับข้อแย้งของ เบดฟอร์ด
เลสเซลส์ชี้ว่า จริงๆ แล้ว การค้นพบโอไมครอน ก็ไม่ได้เริ่มต้นในแอฟริกาใต้ แต่เป็นเพราะพบเกิดเคสต้องสงสัยในประเทศเพื่อนบ้านอย่างบอตสวานา
ดังนั้นถ้ามีการระบาดเร้นอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งก็ไม่น่าจะรอดหูตาของนักวิชาการไปได้แน่
******
สมมุติฐานสุดท้าย แต่เป็นสมมุติฐานที่ เบดฟอร์ดและเลสเซลส์ เห็นตรงกันว่าเป็นไปได้มากที่สุด ก็คือ มีที่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเชื้อกลายพันธุ์ที่พบเมื่อกลางปี 2020 สามารถหลบอยู่ได้ และใช้เป็นแหล่งบ่มเพาะการกลายพันธุ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ “เตะหูเตะตา” ของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย
นั่นคือในตัวคน…คนเพียงคนเดียวที่มีสภาพร่างกายเหมาะสมให้เชื้อไวรัสได้อาศัยและวิวัฒนาการ
คนที่ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายถูกกดไว้ จนไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
เบดฟอร์ดอธิบายว่า ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายคนคนนี้ เข้มแข็งพอที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสคร่าชีวิตของคนผู้นี้ไป แต่ก็ไม่แข็งแกร่งพอที่จะ “กำจัด” เชื้อโควิดให้หมดไปจากร่างกายได้
ผลก็คือ เชื้อที่พบเมื่อปี 2020 ยังคงอยู่ในร่างกายคนผู้นี้ เดือนแล้วเดือนเล่า วิวัฒนาการของมันต่อเนื่องต่อไป จนเกิดการกลายพันธุ์ได้มากมายแล้วก็แพร่ไปสู่ผู้คนอื่นๆ
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ โอไมครอน!
คนที่มีคุณสมบัติเหมาะนี้พบได้มากมายในแอฟริกาใต้และอีกหลายประเทศใกล้เคียง นั่นคือคนที่ติดเชื้อโรคภูมิคุ้นกันบกพร่อง ที่เกิดจากเชื้อ เอชไอวี/เอดส์ แล้วไม่ได้รับการรักษาเยียวยาใดๆ
เลสเซลส์บอกว่า ตนกับเพื่อนนักวิจัยอีกจำนวนหนึ่ง ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เป็นระยะๆ ในตัวผู้หญิงรายหนึ่ง ตลอดเวลา 6 เดือนเต็ม โดยที่ผู้หญิงรายนั้นติดเชื้อ เอชไอวีอยู่ด้วย
แต่เป็นเพราะว่า การเก็บตัวอย่างเชื้อทำกันเพียงแค่ 2-3 ครั้ง จึงไม่สามารถลำดับวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสได้
ทูลิโอ เด โอลิเวรา นักวิจัยแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ค้นพบโอไมครอน เคยตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นหนึ่งใน เมดอาร์ซีฟ ระบุว่า พบผู้หญิงแอฟริกาใต้วัย 36 ปีรายหนึ่ง มีทั้งเชื้อเอชไอวี/เอดส์และโควิด-19 อยู่ในตัวต่อเนื่องนานอย่างน้อย 126 วัน
เมื่อนำเชื้อโควิดมาตรวจสอบพบว่า มันเกิดการกลายพันธุ์ไปถึง 32 ครั้งในช่วงเวลา 126 วันนั้น
13 ครั้งของการกลายพันธุ์เกิดขึ้นกับ “โปรตีนหนาม” ของไวรัส
******
นักรณรงค์เพื่อการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียม เคยตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า โอไมครอน คือการแก้เผ็ดประการหนึ่งของชาติยากจนต่อสิ่งที่เรียกกันว่า “ความเหลื่อมล้ำทางวัคซีน”
หากข้อสังเกตุของ เบดฟอร์ด, เลสเซลส์ และ เด โอลิเวรา เป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นและส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกในเวลานี้ก็คือ “ความเหลื่อมล้ำซ้ำซ้อน” ทั้งจากการกระจายวัคซีนและจากการเยียวยารักษาโรคเอดส์
เอชไอวี/เอดส์ ไม่ได้รับความสนใจจากชาติร่ำรวยมานานแล้ว หลังจากเกิดความรุดหน้าทั้งในด้านการรักษาและการป้องกัน
แต่ผู้คนเป็นเรือนล้านในแอฟริกายังคงติดเชื้อนี้อยู่โดยไม่ได้รับการเยียวยารักษาใดๆ
ผู้ที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือภูมิคุ้มกันถูกกด จากเหตุหนึ่งเหตุใด เช่นการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ หรือการเข้ารับคีโมบำบัด มีไม่น้อยในซีกโลกตะวันตก แต่ทำไมคนเหล่านี้ถึงสามารถได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ในฐานะกลุ่มเสี่ยงสูงสุด
แต่ผู้คนอีกนับล้านในแอฟริกา ไม่ได้รับสิทธิเช่นนั้น
ในแง่นี้ “โอไมครอน” จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าเศร้าอย่างยิ่งของมนุษยชาติ!