จับตา! ศึก ‘โอไมครอน-เดลต้า’ สายพันธุ์ไหนจะครองโลก

AP

จับตา! ศึก ‘โอไมครอน-เดลต้า’ สายพันธุ์ไหนจะครองโลก

ขณะที่โลกกำลังจับตาดูการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอไมครอนในประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้ รวมถึงที่แพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์กำลังจับตาดูด้วยความกระวนกระวายใจว่าการต่อสู้ระหว่างไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอไมครอนและเดลต้าว่าจะเป็นตัวชี้วัดอนาคตของการแพร่ระบาด

อย่างไรก็ดี ต่อคำถามที่ว่าโอไมครอนจะกลายมาเป็นไวรัสกลายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกแทนที่เดลต้าได้หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์บางคนคาดว่ามีความเป็นไปได้ เมื่อดูจากตัวเลขการแพร่ระบาดในแอฟริกาใต้และอังกฤษ

ดร.จาค็อบ เลมิเยอ หนึ่งในทีมผู้เฝ้าจับตาดูไวรัสกลายพันธุ์ภายใต้การวิจัยที่นำโดยฮาร์วาร์ด เมดิคัล สกูล ระบุว่า ขณะที่มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่บ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่โอไมครอนจะแซงหน้าเดลต้าในหลายๆ พื้นที่ หรืออาจจะในทุกพื้นที่ของโลก

กระนั้นก็ดียังคงมีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่ชี้ว่า ยังคงเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าโอไมครอนสามารถแพร่ระบาดได้ดีกว่าเดลต้า หรือหากมันสามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าจริง มันจะแพร่ระบาดจนแซงหน้าเดลต้าได้เร็วแค่ไหน

Advertisement

แมทธิว บินนิคเกอร์ ผู้อำนวยการแผนกไวรัสวิทยาในศูนย์มาโยที่รัฐมินนิโซตา กล่าวว่า ในสหรัฐเราเห็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของไวรัสเดลต้า แต่โอไมครอนจะเข้ามาแทนที่ได้หรือไม่ คิดว่าน่าจะรู้ในอีกราว 2 สัปดาห์

ปัจจุบันคำถามสำคัญเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอนยังไม่มีคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่ามันทำให้เกิดอาการป่วยปานกลางหรือรุนแรง และมันจะสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันในผู้ที่เคยติดโควิด-19 และวัคซีนได้หรือไม่

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับความรวดเร็วในการแพร่ระบาด นักวิทยาศาสตร์ชี้ไปที่สถานการณ์ในแอฟริกาใต้ ประเทศที่พบการแพร่ระบาดของโอไมครอนที่แรกของโลก ความรวดเร็วในการแพร่ไปยังผู้คนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกือบจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในแอฟริกาใต้แล้ว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกังวลว่าแอฟริกาใต้กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่จนคนป่วยไข้ล้นโรงพยาบาล

ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แอฟริกาใต้มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเพียงไม่ถึง 200 คน แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันกลับเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 16,000 คนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในจังหวัดเคาเต็งซึ่งเป็นศูนย์กลางของการระบาดระลอกใหม่ พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนมากถึง 90% และขณะนี้ยังกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในอีก 8 จังหวัดของแอฟริกาใต้อีกด้วย

วิลเลม ฮาเนคอม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสุขภาพแอฟริกา กล่าวว่า โอไมครอนแพร่กระจายได้รวดเร็วอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อดูจากแนวโน้มดังกล่าวแล้วอาจพูดได้ว่ามันเป็นไวรัสที่แพร่ระบาดได้มาก อย่างไรก็ดี เมื่อตอนตรวจพบโอไมครอน แอฟริกาใต้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเดลต้าต่ำ ดังนั้น เราคงพูดไม่ได้เต็มปากเช่นกันว่าโอไมครอนแพร่ระบาดแซงหน้าเดลต้า

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่ายังไม่ชัดเจนว่าโอไมครอนจะระบาดในลักษณะเดียวกันในประเทศอื่นหรือไม่ โดย ดร.เลมิเยอกล่าวว่า ขณะนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง แต่เมื่อนำข้อมูลเท่าที่มีมารวมกันก็จะทำให้เห็นภาพของการปรากฏขึ้นที่มีความสอดคล้องว่ามีความเป็นไปได้ที่โอไมครอนจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในโลกในอีกไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนข้างหน้า และจะทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี ระหว่างที่ข้อมูลหลายๆ อย่างยังคงไม่ชัดเจน นักวิทยาศาสตร์แนะนำให้ผู้คนทำทุกสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อป้องกันตนเอง โดยต้องทำให้แน่ใจว่าเรามีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับวัคซีนควรเร่งฉีดวัคซีน และหากมีสิทธิได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นก็ควรรีบไปฉีด ทำทุกอย่างที่รู้ว่ามีประสิทธิภาพในการลดโอกาสที่จะติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image