คอลัมน์โกลบอลโฟกัส : โอมิครอน สึนามิ

โอมิครอน สึนามิ

ในช่วงสุกดิบส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ยุโรป กำลังโดนกระหน่ำด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์โอมิครอน อย่างหนัก
ไม่ต่างอะไรกับคลื่นยักษ์สึนามิ ที่โอบกระหน่ำเข้ามาในทุกทิศทุกทาง
ศักยภาพในการแพร่ระบาดของโอมิครอน ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยโควิดรายวันของหลายประเทศพุ่งกระฉูดทำสถิติอย่างต่อเนื่อง
แม้จะมีข้อบ่งชี้ในเชิงวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ความรุนแรงในการก่อโรคของเชื้อกลายพันธุ์ตัวล่าสุด ยังไม่ร้ายแรงเท่าเชื้อ เดลต้า ที่ครอบงำไปทั่วโลกก่อนหน้านี้
กระนั้น คุณลักษณะพิเศษ 2 ประการของ โอมิครอน ก็ทำให้ระลอกคลื่นของการแพร่ระบาดครั้งนี้ ยังคงน่าวิตกเป็นพิเศษว่าอาจก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งต่อชีวิตและสภาวะเศรษฐกิจมหาศาล
ในทางหนึ่ง โอมิครอน เป็นเชื้อโควิด-19 ที่แพร่ระบาดได้เร็วที่สุดเท่าที่โลกเคยพบพานมา จำนวนผู้ติดเชื้อสามารถเพิ่มขึ้นได้เป็นเท่าตัวในทุกๆ 1.5-3 วัน
นักวิชาการด้านระบาดวิทยาบางคนถึงกับบอกว่า โอมิครอน คือเชื้อโรคที่แพร่ระบาดได้เร็วที่สุด จะเป็นรองก็แต่การแพร่ระบาดของโรคหัด (measles) เท่านั้น
ความพิเศษที่สองของโอมิครอน ก็คือ ความสามารถในการหลบเลี่ยงจากระบบภูมิคุ้มกันในตัวคน ทั้งที่เกิดจากการเคยติดเชื้อโควิดมาก่อนหน้านี้ แล้วก็ทั้งที่เกิดจากการกระตุ้นของวัคซีนทั้งหลาย
ข้อมูลล่าสุด ระบุว่า แม้แต่วัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ เข็มที่ 3 ก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันโอมิครอนเพียง 10 สัปดาห์ หรือไม่ถึง 3 เดือนเท่านั้นเอง
แพทย์หญิง ติเน ราฟโล ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขเขตออสโล เมืองหลวงของประเทศ นอร์เวย์ เล่าถึงเหตุการณ์ในภัตตาคารอาหารทะเล “หลุยส์” ภัตตาคารริมน้ำชื่อดังของออสโลเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่แสดงให้เห็นถึงพิษสงการแพร่ระบาดของโอมิครอนได้เป็นอย่างดี
พนักงาน 119 คนของบริษัท สแกเทค บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานทางเลือกของนอร์เวย์ จัด “คริสต์มาสปาร์ตี” ขึ้นในวันนั้น โดยใช้ห้องจัดเลี้ยงที่ปิดแยกจากส่วนที่เหลือของภัตตาคารเป็นพื้นที่เฉพาะ
“ทุกคนแฮปปี้ ที่ได้รวมตัวกันพร้อมหน้า ดื่มไวน์ แล้วก็ เต้นกันสุดเหวี่ยง” ราฟโล บอก ไม่มีใครระแวง ไม่มีใครกลัว เพราะทุกคนผ่านการฉีดวัคซีนแล้วและยังผ่านการตรวจหาเชื้อก่อนเข้างานอีกด้วย
พอถึง 22.30 น. ราฟโล บอกว่า มีการเปิดประตูห้องจัดเลี้ยงออก ปล่อยให้ผู้คนจากส่วนอื่นๆของภัตตาคารสามารถเข้าร่วมเต้นรำในปาร์ตีได้
“การเต้น ทำให้คุณหายใจแรงขึ้น หนักขึ้น ขณะเดียวกัน ดนตรีดังๆ แถมยังได้แอลกอฮอล์เข้าไปนิดหน่อย คุณก็ยิ่งพูดดังมากขึ้นด้วย”
ผลลัพธ์อย่างที่รู้กัน ราฟโล กับทีมสาธารณสุขออสโล ตรวจพบผู้ติดเชื้อ โอมิครอน รวม 145 คน โดย 81 คนในจำนวนนั้นเป็นพนักงานสแกเทค ที่เหลือเป็นแขกของภัตตาคาร
พบในภายหลังว่า ต้นเหตุมีเพียงรายเดียว คือพนักงานรายหนึ่งของสแกเทค ที่เพิ่งกลับมาจากเคปทาวน์ ในแอฟริกาใต้ เพียง 2 วันก่อนหน้าปาร์ตีหนนั้น!

******

3 สัปดาห์หลังปาร์ตี ที่ภัตตาคารหลุยส์ สถาบันสาธารณสุขแห่งชาตินอร์เวย์ (เอ็นไอพีเอช) ประกาศขอความร่วมมือประชาชนทั่วประเทศในการปฏิบัติตามมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาด
ไม่เช่นนั้น ถึงต้นปี 2022 เมื่อใด เอ็นไอพีเอช เชื่อว่า นอร์เวย์จะมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 300,000 คนต่อวัน โดยมีผู้ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลถึงวันละ 200 คน
ถือว่าสูงมากเมื่อคำนึงถึงว่า นอร์เวย์ มีประชากรทั้งประเทศเพียง 5 ล้านคนเท่านั้น!
สถานการณ์คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นกับอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะ เดนมาร์ก และ อังกฤษ ต่อด้วย ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนี
คุณสมบัติพิเศษ 2 ประการของโอมิครอน ที่ไม่เพียงแพร่เร็วเหลือหลาย ยังก่อให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ และทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังติดเชื้อ ส่งผลให้ทุกประเทศที่เกิดการแพร่ระบาดของโอมิครอน แทบเหมือนกับเผชิญหน้ากับการระบาดใหม่หมดอีกครั้งหนึ่ง
เพียงแต่เป็นการระบาดรวดเร็วอย่างยิ่ง ราวกับติดเทอร์โบยังไงยังงั้น
ในอังกฤษ โอมิครอน ส่งผลให้ยอดติดเชื้อโควิด-19 รายวันของประเทศพุ่งทำสถิติใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า จาก 88,000 คนต่อวันเมื่อ 23 ธันวาคม กลายเป็นกว่า 100,000 คนในสุดสัปดาห์หลังจากนั้น
นักคณิตศาสตร์และนักระบาดวิทยาอย่าง อดัม คูชาร์สกี เตือนเอาไว้ว่า สถานการณ์การระบาดสูงมากเช่นนี้ แรกสุดจะส่งผลกระทบสำคัญทำให้ในไม่ช้าไม่นาน อังกฤษจะขาดแคลนชุดตรวจสำหรับตรวจหาผู้ติดเชื้อ
ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถคำนวณอัตราการแพร่ระบาดที่แน่ชัดได้ จำเป็นต้องอาศัยเพียงแค่ตัวเลขจากโรงพยาบาล ซึ่งเป็นตัวเลขเฉพาะของผู้ที่โรงพยาบาลต้องรับเข้าไว้รักษาตัวเท่านั้น
แบบจำลองของการแพร่ระบาด คาดการณ์เอาไว้ว่า เมื่อถึงราวเมษายน ประชากรราวครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ 64 ล้านคน จะติดเชื้อ โอมิครอน
ประการถัดมา กลุ่มที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ในภาวะฉุกเฉิน (เอสเอจีอี) ของอังกฤษ ประเมินเอาไว้ว่า แม้แต่ในสถานการณ์จำลองที่ดีที่สุด หลังเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ การแพร่ระบาดสูงและเร็วมากจะทำให้จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในอังกฤษเพิ่มสูงขึ้น สูงกว่าในเวลานี้อย่างน้อย 2-3 เท่าตัว
ซึ่งแปรเป็นตัวเลขได้ว่า อยู่ระหว่าง 1,700 คนถึง 2,500 คนต่อวัน!

******

Advertisement

ข้อมูลการศึกษาวิจัยเบื้องต้นอย่างน้อย 3 ชิ้น รวมทั้งผลการศึกษาเบื้องต้นจากสถานการณ์การระบาดจริงในแอฟริกาใต้ ของ ดิสคัฟเวอรี เฮลธ์ ผู้ให้บริการรับประกันภัยสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แสดงให้เห็นว่า โอมิครอน ส่งผลให้ต้องมีผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ต่ำกว่า การแพร่ระบาดระลอกก่อนหน้านี้เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์
งานวิจัยเหล่านี้ได้ข้อสรุปตรงกันว่า โอมิครอน มีความรุนแรงน้อยกว่า เชื้อกลายพันธุ์ทั้งหลายก่อนหน้านี้
คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ถ้าเช่นนั้น เราปล่อยให้ โอมิครอน สึนามิ แพร่ระบาดในหมู่ประชาชนไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับระบบสาธารณสุข ได้หรือไม่? เพื่อที่จะให้เกิดภูมิคุ้มกันอย่างกว้างขวางขึ้นรวมทั้งคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีน ได้ไม่ใช่หรือ?
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญประสานเสียงตอบตรงกันว่า เราไม่สามารถตีความเช่นนั้นได้ อย่างน้อยก็เวลานี้
ประการแรกสุด เหมือนอย่างที่หลายคนเคยเตือนไว้ก่อนหน้านี้นั่นคือ แม้จำนวนผู้ป่วยที่อาการหนักถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อโอมิครอนทั้งหมด
แม้เปอร์เซ็นต์ป่วยหนักจะน้อย แต่ถ้าติดเชื้อกันเยอะมาก จำนวนจริงที่เข้าโรงพยาบาลก็จะมากถึงขนาดสร้างความลำบากให้กับระบบสาธารณสุขได้อยู่ดี
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือกรณีของ เดนมาร์ก ซึ่งอัตราการเข้าโรงพยาบาลของผู้ติดเชื้อโอมิครอน ต่ำเพียงแค่ระดับ 0.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
แต่นั่นหมายถึง ทุกๆ ผู้ติดเชื้อ 1,000 คน จะต้องมีคนเข้าโรงพยาบาลถึง 6 คน
และหากมีผู้ติดเชื้อ 1,000,000 คน แพทย์และพยาบาลก็ต้องรับมือผู้ป่วยถึง 6,000 คน เป็นต้น
ที่สำคัญก็คือ เราไม่สามารถนำเอาข้อมูลที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่ง ไปปรับใช้กับประเทศอื่นๆ ได้ทั้งหมด จนกว่านักวิทยาศาสตร์จะสามารถบ่งชี้ระดับความร้ายแรงของ โอมิครอน ที่แท้จริงได้
นักระบาดวิทยาชั้นนำของเยอรมนี อย่าง คริสเตียน โดรสเทน เชื่อว่าภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเกิดจากวัคซีน หรือเกิดจากการติดเชื้อก่อนหน้านี้ ไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อก็จริง แต่ยังช่วยให้อาการป่วยบรรเทาลงได้มาก
ในขณะที่ความรุนแรงของเชื้อโอมิครอนจริงๆ แล้ว น่าจะต่ำกว่า เดลต้า ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เขาชี้ให้เห็นว่า ในแอฟริกาใต้ กลุ่มประชากรที่ติดเชื้อโอมิครอนแล้วต้องเข้าโรงพยาบาลมากที่สุดคือกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งไม่เคยได้รับวัคซีน
โดรสเทนเชื่้อว่า ปรากฏการณ์แบบเดียวกันจะเกิดขึ้นกับประชากรวัยผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน หรือปฏิเสธวัคซีน ได้เช่นเดียวกัน
ประการถัดมา ก็คือ โอมิครอน สามารถก่อให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรทางสาธารณสุขได้ เพราะเชื้อสามารถแพร่ให้กับคนเหล่านี้ได้แม้ว่า จะผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้วก็ตามที
สิ่งที่ทุกประเทศกังวลก็คือ การขาดหายไปของบุคลากรสาธารณสุขจากการต้องกักแยกตัว หากเกิดติดเชื้อโอมิครอนขึ้นมา
ในแง่นี้ โทรเอลส์ ลีลเบค นักวิชาการด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ชี้ให้เห็นด้วยว่า การแพร่ระบาดในหมู่คนเป็นจำนวนมากของโอมิครอน สามารถสร้างปัญหาให้กับชีวิตประจำวันของประชาชนได้ในหลายๆ ด้าน อย่างเช่น โรงเรียน สถานศึกษาต่างๆ, ระบบคมนาคมขนส่ง, ระบบจัดเก็บขยะ เรื่อยไปจนถึงระบบการผลิตของโรงงานต่างๆ
ดังนั้นในการรับมือกับ โอมิครอน ข้อแนะนำของลีลเบค ก็คือ ต้องเริ่มเตรียมพร้อมให้เร็วที่สุด วางมาตรการเพื่อการยับยั้งการระบาดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ยิ่งรอช้าไป ยิ่งเสี่ยงต่อการต้องล็อกดาวน์ทั้งหมดเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image