2022 ปีแห่งความตึงเครียดจากความขัดแย้งสหรัฐ-จีน

2022 ปีแห่งความตึงเครียดจากความขัดแย้งสหรัฐ-จีน

เข้าสู่ศักราชใหม่ปี 2022 โลกยังมีปัญหาท้าทายให้เผชิญกันต่อไป ก็ต้องมาลุ้นว่าในปีนี้จะมีอะไรไม่คาดคิดอุบัติขึ้นเป็นโจทย์ใหญ่ให้เราต้องรับมือกันอีกบ้าง
ถ้ามองสถานการณ์ในเวทีโลก ความขัดแย้งระหว่าง สหรัฐอเมริกา กับ จีน สองชาติมหาอำนาจโลก ยังเป็นสิ่งท้าทายสำหรับประชาคมโลกที่จะต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดเช่นเคย เพราะการขยับนโยบายไปในทิศทางใดของคู่ปรับต่างขั้วอุดมการณ์ตลอดกาลคู่นี้ ย่อมก่อแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งโลก
ปี 2021 ที่ผ่านมาเราได้เห็นการตอบโต้กันอย่างดุเดือดในความไม่ลงรอยกันหลายเรื่องของจีนกับสหรัฐ จนทำให้บรรยากาศความสัมพันธ์ของสองชาติทวีความตึงเครียดหนัก ผลจากการมุ่งแข่งขันกันทางยุทธศาสตร์ในแทบจะทุกด้าน ไม่ว่าจะทางภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ เศรษฐกิจและการค้า เทคโนโลยีและการทหาร โดยมีความหวาดระแวงและท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชั้นดี
เชื่อว่าในปี 2022 สถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐและจีนจะเต็มไปด้วยความตึงเครียดต่อไป

อินโด-แปซิฟิกยังร้อนระอุ
ในปี 2022 นี้ ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ยังคงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของการช่วงชิงแผ่ขยายอิทธิพลระหว่างสหรัฐและจีน โดยเฉพาะในช่องแคบไต้หวัน พื้นที่ที่มีความอ่อนไหวยิ่งของการเผชิญหน้า จากความพยายามยืนหยัดเป็นอิสระจากจีนของไต้หวัน ที่จีนอ้างสิทธิอธิปไตยว่าเป็นส่วนหนึ่งของตนเองภายใต้นโยบายจีนเดียว พร้อมประกาศกร้าวว่าสักวันจะถูกผนวกเป็นหนึ่งเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่ แม้จะต้องใช้กำลังก็ตาม!
ในปีนี้ช่องแคบไต้หวันจะยังเต็มไปด้วยความร้อนระอุ หลังจากในปี 2021 เราได้เห็นสหรัฐออกมาเต้นเร่าไปกับไต้หวัน เมื่อจีนส่งฝูงบินรบรุกล้ำเข้ามาในเขตป้องกันภัยทางอากาศ(เอดีไอแซด) ของไต้หวันบ่อยครั้งขึ้น จนรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกโรงก่นประณามและกางปีกปกป้องไต้หวันจากกิจกรรมทางทหารที่ยั่วยุของจีน นั่นทำให้เราได้เห็นเรือรบของสหรัฐล่องผ่านช่องแคบไต้หวันอยู่เป็นเนืองเชิงขู่ปราม ซึ่งสร้างความโกรธเกรี้ยวให้กับฝ่ายจีนเป็นอย่างมากตามมา
เรายังเห็นจีนใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการทูต เดินเกมรุกให้หลายชาติ โดดเดี่ยวไต้หวันมากยิ่งขึ้น แต่การยิ่งบีบไต้หวันของจีน กลับทำให้สหรัฐ ซึ่งไม่ได้ให้การรับรองไต้หวัน กลับยิ่งกระชับสัมพันธ์กับไต้หวันแนบแน่นมากขึ้นอีก ในปลายปีที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐได้ส่งสมาชิกสภาคองเกรสไปเยือนไต้หวันอย่างไม่เป็นทางการและพบปะกับประธานาธิบดีไช่ อิง เหวิน เสมือนส่งสัญญาณให้จีนตระหนักรู้ว่าสหรัฐสนับสนุนไต้หวัน และพร้อมยืนหยัดเคียงข้างหากไต้หวันถูกรุกราน
ทะเลจีนใต้ เป็นอีกภูมิภาคที่มีการงัดข้อทางยุทธศาสตร์และมีความเสี่ยงจะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างจีนและสหรัฐขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะในขณะที่จีน อ้างกรรมสิทธิ์ถือครองเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ โดยมีหลายชาติในภูมิภาคนี้ ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ บรูไน รวมถึงไต้หวัน ต่างอ้างกรรมสิทธิ์ส่วนหนึ่งในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลแห่งนี้ด้วย จนเกิดการกระทบกระทั่งกับจีนบ่อยครั้ง แต่สหรัฐแม้จะไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรงของจีนในเรื่องการช่วงชิงกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ แต่สหรัฐก็ยืนกรานที่จะพิทักษ์เสรีภาพของการเดินเรือในเขตน่านน้ำสากลในภูมิภาคนี้ต่อไป

ข้อพิพาทเศรษฐกิจ-การค้า-เทคโนโลยี
เราจะยังเห็นสหรัฐและจีนแข่งขันกันช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอย่างดุดันต่อเนื่อง หลังจากที่มีการเปิดศึกการค้าอันดุเดือดมาแล้วในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีการใช้มาตรการทางภาษีและมาตรการอื่นๆ มาตอบโต้จีน จากการกระทำที่สหรัฐกล่าวหาว่าเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐ
โดยรัฐบาลไบเดนจะยังเดินหน้าสานต่อนโยบายตอบโต้ทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับจีนอย่างเข้มข้น แต่ที่ต่างไปจากรัฐบาลทรัมป์คือ ไบเดนได้นำสหรัฐกลับคืนสู่เวทีความร่วมมือพหุภาคี ที่จะทำให้สหรัฐกลับมาโลดแล่นแสดงบทบาทนำในเวทีพหุภาคีเพื่อต่อกรกับอิทธิพลจีนได้ หลังจากทรัมป์ได้ละทิ้งเวทีความร่วมมือพหุภาคีไป ที่รวมถึงการนำสหรัฐถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ( ทีพีพี ) ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจที่เพลี่ยงพล้ำอย่างมากให้กับจีน
ในปีนี้เรายังจะเห็นการทำสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยืดเยื้อ หลังจากในปีที่แล้วสหรัฐได้ดำเนินมาตรการกีดกันเทคโนโลยีของจีนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการแบนเทคโนโลยีเครือข่ายสื่อสารแบบไร้สายยุคที่ 5 หรือ 5G ของบริษัทจีน การสั่งห้าม TikTok ดำเนินธุรกิจในสหรัฐ หรือการออกกฎหมายจำกัดการขอใบอนุญาตสำหรับอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่อาจก่อความเสี่ยงภัยต่อความมั่นคง เหล่านี้เพื่อเป็นการตอบโต้จีนที่สหรัฐกล่าวหาว่าเป็นรัฐชาติสนับสนุนการแฮกระบบล้วงข้อมูลขนานใหญ่ ซึ่งเป็นภัยคุกคามอันตรายต่อความมั่นคงของสหรัฐ
นักวิเคราะห์อย่าง บอนนี เกลเซอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชีย แห่งเยอรมันมาร์แชลฟันด์ในสหรัฐ มองว่า ระเบียบกฎเกณฑ์เข้มงวด จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือตอบโต้จีนต่อไป โดยเกลเซอร์คาดการณ์ว่าในปีนี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐจะเร่งปิดช่องโหว่ในระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ให้เข้มข้นขึ้นเพื่อสกัดจีนไม่ให้เข้ามาล้วงลูกสหรัฐได้อีก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีบริษัทจีนถูกขึ้นบัญชีดำคว่ำบาตรของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเพิ่มเติมอีกด้วย

ปมร้อนสิทธิมนุษยชน
ประเด็นสิทธิมนุษยชน เป็นอีกปมความขัดแย้งใหญ่ที่ฉุดลากความสัมพันธ์จีน-สหรัฐให้เสื่อมทรามหนัก ที่เป็นปมร้อนต่อเนื่องถึงตอนนี้ก็คือ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียงของจีน และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการปราบปรามกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงของจีน
มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ถูกสหรัฐงัดออกมาใช้เป็นระยะในการตอบโต้จีนในเรื่องนี้ ในประเด็นฮ่องกง รัฐบาลสหรัฐได้ขึ้นบัญชีดำคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนประจำฮ่องกง เป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้การใช้กำลังกวาดล้างผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง
สดๆร้อนๆก่อนส่งท้ายปี สหรัฐได้ผ่านกฎหมายแบนสินค้านำเข้าจากมณฑลซินเจียงของจีน จากความหวั่นเกรงว่าจะเป็นผลผลิตที่มาจากการบังคับใช้แรงงาน โดยเป็นหนึ่งในมาตรการลงดาบจีนที่สหรัฐกล่าวหาว่าปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อชาวอุยกูร์ ขนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในมณฑลซินเจียง ที่กำลังเผชิญการถูกล้างเผ่าพันธุ์จากผู้ปกครองจีน
และที่ต้องจับตาดูกันตั้งแต่ต้นปีคือ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งของจีน ที่สหรัฐได้ประกาศบอยคอตจะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ทูตหรือตัวแทนรัฐบาลเข้าร่วมในมหกรรมกีฬาโลกครั้งนี้ โดยยังมีอังกฤษและออสเตรเลีย ชาติพันธมิตรสหรัฐ ร่วมบอยคอตจีนในลักษณะเดียวกันด้วย เพื่อเพิ่มแรงกดดันจีนมากยิ่งขึ้นต่อปมการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน
ประเด็นเหล่านี้เป็นปมพิพาทขัดแย้งหลักๆ ของสหรัฐและจีน ที่ดำเนินมาต่อเนื่องและจะยังดำเนินต่อไป ซึ่งจะทำให้บรรยากาศโลกในปีนี้ยังคงถูกครอบงำด้วยการเผชิญหน้าระหว่างคู่ปรับมหาอำนาจโลกคู่นี้ ที่เราเพียงได้แต่ลุ้นและภาวนาว่าจะไม่บานปลายไปถึงขั้นปะทุเป็นสงครามขึ้น!

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image