มะกันครวญ เงินเฟ้อพุ่งพรวด 7% จากปีก่อน สูงสุดรอบ 40 ปี

มะกันครวญ เงินเฟ้อพุ่งพรวด 7% จากปีก่อน สูงสุดรอบ 40 ปี

อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาพุ่งพรวดรวดเร็วที่สุดในรอบ 40 ปีในปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 1982 หรือเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของชาวอเมริกันเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมามีตั้งแต่ราคารถยนต์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าอาหาร ไปจนถึงค่าเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังประสบภาวะถดถอยเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้น

ขณะที่การอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลรวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ กลับยิ่งกระตุ้นให้มีความต้องการสินค้าและข้าวของต่างๆ มากขึ้น และการฉีดวัคซีนยังช่วยให้ผู้คนมีความมั่นใจที่จะออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านและเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งหนึ่ง

กระทรวงแรงงานของสหรัฐรายงานเมื่อวันที่ 12 มกราคม ว่า สถานการณ์เงินเฟ้อทำให้ราคาข้าวของต่างๆ ซึ่งไม่รวมถึงอาหารและราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายปรับเพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าปรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบหลายสิบปี

Advertisement

สภาวะเงินเฟ้อสูงไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในสหรัฐเท่านั้น แต่ประเทศในสหภาพยุโรปอีก 19 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรก็ประสบปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเดือนธันวาคมเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงที่สุดเท่าที่เคยเก็บบันทึกมา

ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ต้องออกมาป้องกันการดำเนินนโยบายของตนเอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลภายใต้การนำของเขารวมถึงธนาคารกลางสหรัฐออกมาระบุว่า ราคาข้าวของที่เพิ่มขึ้นจะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงในปัจจุบัน

ไบเดนและสมาชิกรัฐสภาจากพรรคเดโมแครตได้กล่าวโทษไปยังบริษัทขนาดใหญ่ โดยอ้างว่าบริษัทผู้ผลิตสินค้าและอุตสาหกรรมหลายอย่างต่างอาศัยประโยชน์จากภาวะขาดแคลนในช่วงการแพร่ระบาดเพื่อเพิ่มราคาสินค้าและผลกำไรของตนเอง แม้จะมีนักเศรษฐศาสตร์บางคนที่ไม่เห็นด้วยกับสมมุติฐานดังกล่าวก็ตาม

Advertisement

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าปัจจัยใหญ่ที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อคือความไม่เท่าเทียมกันระหว่างอุปสงค์และอุปทาน บวกกับซัพพลายเชนที่ประสบปัญหาอย่างหนัก อย่างไรก็ดีสภาวะเงินเฟ้อน่าจะผ่อนคลายลงหลังจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนลดลง ซึ่งจะทำให้ชาวอเมริกันกลับไปจับจ่ายใช้สอยในภาคบริการมากขึ้น และจะลดความต้องการสินค้า รวมถึงช่วยแก้ไขปัญหาติดขัดในซัพพลายเชนไปพร้อมๆ กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image