มาแน่! นักวิทย์ชี้รอรับมือโควิดกลายพันธุ์เพิ่มหลังโอมิครอน

มาแน่! นักวิทย์ชี้รอรับมือโควิดกลายพันธุ์เพิ่มหลังโอมิครอน

นักวิทยาศาสตร์หลายคนออกมาย้ำว่า ไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก จะไม่ใช่ไวรัสกลายพันธุ์ตัวสุดท้ายที่ทำให้โลกเกิดความวิตกกังวล แต่โลกต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับไวรัสโควิดกลายพันธุ์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกแน่นอนหลังจากนี้

การติดเชื้อทุกครั้งเป็นการสร้างโอกาสให้กับไวรัสที่จะกลายพันธุ์ โดยขณะนี้โอมิครอนได้แพร่ระบาดมากกว่าไวรัสกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า อีกทั้งเป็นการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแม้ว่าทั่วโลกจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 มากขึ้น ทั้งจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อของผู้ที่เคยป่วยก่อนหน้านี้

จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นหมายความว่ามีจำนวนคนเพิ่มขึ้นที่จะทำให้ไวรัสจะกลายพันธุ์ได้ แม้ผู้เชี่ยวชาญจะไม่ทราบว่าการกลายพันธุ์ครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไรและมันจะปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของการแพร่ระบาดไปอย่างไร แต่พวกเขาเห็นว่ามันไม่มีอะไรที่จะรับประกันได้ว่าผลที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนจะทำให้ผู้คนเจ็บป่วยน้อยลงและวัคซีนที่มีอยู่จะสามารถป้องกันมันได้

นักวิทยาศาสตร์เรียกร้องให้มีการฉีดวัคซีนให้กับผู้คนเป็นวงกว้างในขณะนี้ เมื่อวัคซีนที่มีอยู่ยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ ลีโอนาโด มาร์ติเนซ นักระบาดวิทยาโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยบอสตันกล่าวว่า ยิ่งโอมิครอนแพร่ระบาดเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่มันจะกลายพันธุ์ และมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การกลายพันธุ์ใหม่เพิ่มมากขึ้น

Advertisement

นับตั้งแต่พบกันแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา โอมิครอนได้แพร่กระจายไปทั่วโลกไม่ต่างจากไฟไหม้ฟาง นักวิจัยชี้ว่าไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดได้มากกว่าไวรัสกลายพันธุ์เดลต้าอย่างน้อย 2 เท่า และเร็วกว่าไวรัสโควิดตัวแรกถึง 4 เท่า

ขณะเดียวกันโอมิครอนยังสามารถทำให้คนติดเชื้อซ้ำได้มากกว่าเดลต้าในคนที่เคยติดโควิด-19 มาก่อน ทั้งยังทำให้เกิดการติดเชื้อครั้งสำคัญในกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว เช่นเดียวกับที่มันทำให้เกิดการติดเชื้อในกลุ่มคนที่ยังไม่เข้ารับการฉีดวัคซีน

องค์การอนามัยโลกรายงานว่าในระหว่างวันที่ 3-5 มกราคมที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น 15 ล้านคนทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้น 55% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วไม่เพียงแต่ทำให้ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของผู้คน แต่การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วดังกล่าวยังทำให้ ไวรัสสามารถแพร่ระบาดและยังคงค้างคาอยู่ในตัวของผู้คนซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ นั่นจะทำให้ไวรัสมีเวลามากขึ้นในการพัฒนาการกลายพันธุ์ต่างๆ

ดร.สจ๊วต แคมเบล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ กล่าวว่า ยิ่งระยะเวลาของการติดเชื้อยาวนานและเรื้อรังเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้มันสามารถที่จะกลายพันธุ์เป็นไวรัสชนิดใหม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ซึ่งจะกลายเป็นโอกาสให้เกิดการกลายพันธุ์ขึ้นตามมา

อย่างไรก็ดีเนื่องจากโอมิครอนดูจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการไม่มากนักทำให้มีความหวังว่ามันอาจจะกลายเป็นเหมือนไข้หวัดทั่วไป ต่อกรณีนี้นักวิทยาศาสตร์ระบุว่ามีความเป็นไปได้เพราะไวรัสจะไม่อาจแพร่ระบาดได้ดีถ้ามันมีความรุนแรงจนทำให้ผู้รับเชื้อตายลงในเวลาที่รวดเร็ว แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือไวรัสไม่จำเป็นต้องลดความรุนแรงลงตามความยาวนานของระยะเวลาที่มันแพร่ระบาด

นักวิทยาศาสตร์รับว่ายังเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่จะปรากฏขึ้นเมื่อใด โดยยกตัวอย่างจากโอมิครอนที่มีการกลายพันธุ์มากกว่าไวรัสตัวก่อนหน้าในสไปค์โปรตีนถึง 30 จุด จึงทำให้มันสามารถจับเข้ากับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ได้มากขึ้น อย่างไรก็ดีไวรัสกลายพันธุ์ไอเอชยูที่ตรวจพบในฝรั่งเศส และกำลังถูกจับตาโดยองค์การอนามัยโลกมีการกลายพันธุ์มากถึง 46 จุด แต่มันกลับไม่ได้แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว

นักวิทยาศาสตร์เน้นย้ำว่าเพื่อป้องกันการปรากฏขึ้นของไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ เราจำเป็นต้องดำเนินมาตรการทางสาธารณสุขอย่างการสวมใส่หน้ากากอนามัยและการฉีดวัคซีนต่อไป และแม้ว่าโอมิครอนจะมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากกว่าเดลต้า แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าวัคซีนยังคงสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก็จะช่วยลดโอกาสในการป่วยหนัก การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิต

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image