สามทศวรรษแห่งความทรงจำ ในโอกาสครบ 30 ปี แห่งการเสด็จฯ เยือนบังกลาเทศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สามทศวรรษแห่งความทรงจำ

ในโอกาสครบ 30 ปี แห่งการเสด็จฯ เยือนบังกลาเทศ

ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

เมื่อสามสิบปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ
อย่างเป็นทางการ เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร นับเป็นการเสด็จฯ เยือนในระดับพระบรมวงศานุวงศ์เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จ ฯ ไปยังกรุงธากาและเมืองจิตตะกองเมื่อปี 2505 ซึ่งในขณะนั้นทั้งสองเมืองยังเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ในฐานะปากีสถานตะวันออก แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายทศวรรษแล้ว การเสด็จฯ ทั้งสองวาระในปี 2505 และ 2535 ยังเป็นเหตุการณ์สำคัญที่วางรากฐานให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบังกลาเทศขยายตัวเพิ่มพูนมาถึงปัจจุบัน

ภายหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2515 ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชน
บังกลาเทศ ได้เดินทางมาเยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะ เมื่อปี 2522 และ 2531 ในขณะที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เมื่อปี 2526

สำหรับการเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้น
เดิมทางการบังกลาเทศถวายคำแนะนำให้เสด็จฯ ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2534 เพราะมี
สภาพอากาศที่เย็นสบาย แต่เนื่องจากไม่สามารถหาช่วงเวลาที่เหมาะสมของทั้งสองฝ่ายได้ในปีนั้น จึงเลื่อน
การเสด็จ ฯ เยือนเป็นปีถัดมา ช่วงระหว่างวันที่ 16-21 มกราคม 2535

Advertisement

สถานที่ในหมายกำหนดการสามารถแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นสถานที่ที่แสดงถึงความสำคัญทาง
ประวัติศาสตร์อันยาวนานและวัฒนธรรมที่หลากหลายของบังกลาเทศ และส่วนที่สองเป็นสถานที่เกี่ยวกับ
กิจการทหารของบังกลาเทศ

เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของไทยนับถือพุทธศาสนา ทางการบังกลาเทศจึงได้จัดหมายกำหนดการให้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรโบราณสถานทางพุทธศาสนาหลายแห่ง อาทิ วิหาร
พาฮาร์ปูร์ หรือเรียกว่าโสมปุระมหาวิหาร ซึ่งเป็นวิหารพุทธที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่ก่อนใช้เป็นสถานที่ศึกษาพระธรรมของพระภิกษุคล้ายนาลันทาในสาธารณรัฐอินเดีย ปัจจุบันเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก

รวมทั้งได้เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรแหล่งโบราณสถานมหาสังการห์ และวัดธรรมราชิกพุทธมหาวิหาร
(วัดธรรมราชิกา) ในกรุงธากา ซึ่งเป็นวัดพุทธแห่งแรกในเมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ
เมื่อปี 2553 หรือ 18 ปีหลังจากการเสด็จฯ ไปยังวัดธรรมราชิกพุทธมหาวิหาร (วัดธรรมราชิกา) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพระพุทธรูปปางลีลา สูง 38 ฟุต แก่วัด โดยได้รับการสนับสนุนจาก
วัดทรงเมตตาวนาราม จังหวัดชลบุรีปัจจุบันประดิษฐานอยู่ด้านข้างของสระน้ำประจำวัด และกลายเป็น
สัญลักษณ์ที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปของวัด

Advertisement

ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงเป็นมิติทางวัฒนธรรมที่ช่วยเชื่อมโยงบังกลาเทศกับไทยให้ได้ใกล้ชิดกัน
โดยบังกลาเทศเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่กระทรวงการต่างประเทศเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย
ในช่วงกฐินกาลหลังออกพรรษา โดยดำริของนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ
ต่างประเทศและเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเป็นชาวมุสลิมที่มีวิสัยทัศน์และมีความพร้อมจะขับเคลื่อนการต่างประเทศไทยในทุกมิติ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับชุมชนชาวพุทธในประเทศต่าง ๆ

นอกจากศาสนสถานที่สำคัญแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรสถานที่
ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม อาทิอนุสรณ์สถานผู้สละชีพเพื่อชาติ
เมืองซาวาร์ โอกาสนี้ ทรงปลูกต้นไม้ที่บริเวณอนุสรณ์สถานฯ ด้วย และวนอุทยานซุนดาร์บันส์ ซึ่งเป็นป่าชายเลนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หมายกำหนดการระบุว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประทับเรือพระที่นั่งชานดานีเพื่อทอดพระเนตรป่าชายเลน และเสวยพระกระยาหารกลางวันบนเรือพระที่นั่งด้วย

สถานที่สำคัญในหมายกำหนดการอีกส่วนหนึ่งคือ สถานที่ทางการทหาร ด้วยพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักบินและทรงสำเร็จการศึกษาด้านการทหารจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน รวมทั้ง
ทรงเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงศึกษาในวิทยาลัยเสนาธิการทหา

ช่วงที่เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน
พระบรมราชวโรกาสให้ ผู้บัญชาการทหารทั้งสามเหล่าทัพของบังกลาเทศ เฝ้า ฯ รวมถึงเสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตการดำเนินงานของหน่วยทหารต่าง ๆ เช่น เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2535 ทรงฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับกิจการ
ทหารอากาศที่ฐานทัพอากาศมาติว ราห์มัน เมืองเจสซอร์ และทอดพระเนตรศูนย์ฝึกอบรมนักบิน ส่วนที่เมืองจิตตะกอง ซึ่งเป็นเมืองท่าติดชายทะเลอ่าวเบงกอล ได้เสด็จ ฯ ไปที่ฐานทัพเรือและทอดพระเนตรเรือบี เอ็น เอส อาลี ไฮเดอร์

การแลกเปลี่ยนการเยือนของทั้งสองประเทศช่วยทำให้เพื่อนกลายเป็นมิตรที่ใกล้ชิดและเอื้ออำนวย
ให้นานาประเทศได้เสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน สามารถนำไปสู่โอกาสในการเพิ่มพูนความร่วมมือ
ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น การเยือนในทุกระดับล้วนเป็นหมุดหมายสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบังกลาเทศ ซึ่งช่วยเสริมสร้างพลวัตและสร้างการขับเคลื่อนความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ให้ก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

สามทศวรรษภายหลังการเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ประวัติศาสตร์ได้บ่งชัดถึงมิตรภาพที่ผลิดอกออกผลในเวลาต่อมา และคงไม่มีทางใดที่น่ายินดีต่อความสำเร็จดังกล่าวไปกว่าการสานต่อความเคารพนับถือ การมีไมตรีจิต และความจริงใจต่อกันฉันมิตรให้คงอยู่อย่างมั่นคงต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image