ส่องชุด ‘ป่าหิมพานต์’ ผลงานดีไซเนอร์ไทย อวดโฉมบนรันเวย์ ‘WOW’

WOW…ว้าว ว้าว งานนี้ต้องร้องว้าวอ้าปากค้างกับการรังสรรค์งานศิลป์บนเรือนร่างของเหล่าดีไซเนอร์ไอเดียสุดล้ำจากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ที่ส่งชุดมาประกวดประชันกันมากถึง 155 ชุด บนเวทีแฟชั่นโชว์สุดอลังการที่ไม่เหมือนรันเวย์ไหนในโลกอย่าง “World of Wearable Art” หรือ WOW ปี 2016 ที่จัดที่กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพราะแต่ละชุดที่นางแบบนายแบบพาเหรดออกมาพรีเซนต์ผลงานของดีไซเนอร์ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมา เรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมได้แทบทุกชุด รวมถึงชุด “ป่าหิมพานต์” (The Legendary Forest) ของ ปรเมศวร์ พงศ์ลาภประเสริฐ ดีไซเนอร์สายเลือดไทย ที่ฝีมือการออกแบบและตัดเย็บเข้าตากรรมการฝรั่งให้ผ่านเข้ามาถึงรอบวันตัดสินกันสดๆ บนเวที WOW ได้อย่างน่าภาคภูมิ

ชุดป่าหิมพานต์
ชุดป่าหิมพานต์

อย่างที่บอก WOW ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 28 ไม่ได้เป็นงานแฟชั่นโชว์ธรรมดาที่นางแบบนายแบบเพียงแต่เดินออกมาพรีเซนต์เสื้อผ้าของดีไซเนอร์ แต่ WOW เป็นเวทีที่เปิดรับการปลดปล่อยจินตนาการในการสร้างงานศิลปะบนเรือนร่างที่สอดแทรกนวัตกรรม เทคนิคและเทคโนโลยีใหม่ๆ ของเหล่าดีไซเนอร์ที่คิดค้นมาประชันกันบนเวที ผสมผสานเข้ากับศิลปะการแสดง การเต้นรำ ล้อกับแสงสีเสียงที่ทำออกมาได้อย่างลงตัว เรียกว่า 2 ชั่วโมงเศษกับโชว์บนเวทีสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชมได้อย่างเต็มอิ่ม

Supernova
Supernova

ก่อนมาถึงช่วงเวลาสำคัญคือการประกาศผลรางวัลสำหรับผู้ชนะในแต่ละประเภทของ WOW ที่หลักใหญ่แบ่งออกเป็น 7 เซ็กชั่น และรางวัลพิเศษต่างๆ โดยรางวัลใหญ่คือ Supreme WOW Award ที่มีเงินรางวัลสูงถึง 30,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ราว 780,000 บาท) ซึ่งชุดที่ได้ไปคือ Supernova ผลงานของ จิลเลียน ซอนเดอร์ส ดีไซเนอร์เจ้าถิ่น ที่ยังคว้ารางวัลชนะเลิศในเซ็กชั่น Avant Garde ที่ชุดป่าหิมพานต์ของดีไซเนอร์ไทยเราเข้ารอบมาประชันผลงานด้วย

Come Fly With Me
Come Fly With Me

ในเซ็กชั่น Bizarre Bra ชุด Come Fly With Me ของ จูเลียน ฮาร์ทซอก ดีไซเนอร์ชาวอเมริกัน คว้ารางวัลไป ส่วนเซ็กชั่น Aotearoa ที่ตีกรอบการรังสรรค์ผลงานอิงกับวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองเมารีและแปซิฟิก ชุด Princess Niwareka ของ มาเรีย โซปานากี และดิมิทรี มาวินีส จากสหราชอาณาจักร ได้ที่ 1 ไป ชุด Digital Stealth Gods ของ ดีแลน มัลเดอร์ คว้าไป 2 รางวัล คือ The Cique du Soleil award และ Wearable technology award ส่วน Sustainability award ที่เป็นรางวัลสำหรับชุดที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ตกเป็นของ เบอร์นีส มิลลิเคน ดีไซเนอร์ชาวนิวซีแลนด์ เจ้าของชุด Grandeer เซ็กชั่น Costume&Film ชุด Barouque Star ของ นาตาชา อิงลิช และทาเทียนนา เมฮาร์รี คว้ารางวัลชนะเลิศ เซ็กชั่น American Express Open ชุด Renascence ที่เป็นฟอสซิลนกโบราณประดับด้วยขนนก ของ ยูรา หม่า และซีหยู ฟาง จากจีนได้ไป เซ็กชั่น Creative Excellence ชุด Mai(I) ของ ปริทัม ซิงห์ และวิษณุ ราเมศ ดีไซเนอร์อินเดียคว้ารางวัลไป และเซ็กชั่น Performance Art รางวัลชนะเลิศเป็นของ อดัม แมคอลาวี ชาวสหราชอาณาจักร จากผลงานชุด Queen Angel ที่สื่อถึงพลังอันลี้ลับ

Advertisement
Digital Stealth Gods
Digital Stealth Gods
Grandeer
Grandeer
Queen Angel
Queen Angel

ที่เรียกเสียงฮือฮาและได้ใจผู้ชมไปเต็มๆ คือ ชุด Lippydeema ที่อวดโชว์หุ่นเจ้าเนื้อได้อย่างน่ารักน่าชังของเดซี เมย์ ดีไซเนอร์สาวจากสหราชอาณาจักร คว้าไป 3 รางวัล คือ International Award รางวัล UK/Europe Design award และรางวัลที่ 2 ในเซ็กชั่น Performance Art ซึ่งเจ้าตัวเปิดเผยกับเราว่า ช็อกมาก ไม่คิดว่าจะได้มาถึง 3 รางวัล เมื่อถามถึงสิ่งที่เธอต้องการสื่อผ่านผลงาน เดซีบอกว่าโดยส่วนตัวเธออยากเปลี่ยนแนวทางจากแฟชั่นไปยังสิ่งที่เธออยากจะทำจริงๆ คืออยากทำเสื้อผ้าที่เป็นงานศิลปะมากกว่า เพราะอย่างที่เธอบอกแต่แรกว่าแฟชั่นมักเป็นอะไรที่จริงจัง แต่ตัวเธอคิดว่าศิลปะมีพลังในการนำผู้คนไในทางที่ดี อย่างที่คิดว่าเราสามารถทำให้คนร้องไห้ หรือหัวเราะก็ได้ แต่สำหรับเธออยากทำอะไรที่มันเป็นสิ่งวิเศษมากกว่าในทางแฟชั่น และการที่ผู้ชมสนุกกับผลงานของเธอ มันเป็นสิ่งที่เธออยากให้เป็นอย่างนั้น เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับ WOW เดซีบอกว่าเป็นเวทีที่มหัศจรรย์มากไม่เหมือนเวทีแฟชั่นไหนในโลกที่ศิลปินสามารถทำอะไรก็ได้ที่ตนเองอยากจะทำ ไม่ว่าคุณจะทำเพื่ออยากเห็นผลงานไปอยู่ในแกลเลอรี่หรือจะทำมันเพื่อเงินก็ตาม สิ่งที่เธอได้จากเวทีนี้คือได้มาเห็นเทคนิคใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์งานของดีไซเนอร์คนอื่นๆ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เธอได้เรียนรู้

Lippydeema
Lippydeema

มิโอ กูเบรีนิค และอเล็กซา แคช สองดีไซเนอร์ชาวอเมริกัน ที่คว้ารางวัลชนะเลิศในสาขา American Design award และได้ที่ 2 ในเซ็กชั่น Avant Garde จากชุด Khepri เทพเจ้าอียิปต์ ทั้งสองบอกเราว่าอยากทำอะไรที่แตกต่าง ที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน และใช้เทคนิคใหม่ที่แตกต่าง โดยหวังอยากเห็นผลงานได้ไปอยู่ในแกลเลอรี่ สำหรับชุดนี้ใช้เวลาทำนานถึง 2 ปี พอได้เห็นผลงานตนเองบนเวทีแล้วรู้สึกว่าเหลือเชื่อและรู้สึกดีมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ ที่เป็นเวทีแห่งการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างแท้จริง ทั้งสองคนบอกอีกว่าเวทีนี้เป็นอะไรที่พิเศษไม่เหมือนใครในโลกแฟชั่นที่เต็มไปธุรกิจ ที่นี่คุณมีอิสระและแสดงความเป็นตัวเองในแนวทางที่คุณต้องการได้

Khepri
Khepri
มิโอ กูเบรีนิค และอเล็กซา แคช
มิโอ กูเบรีนิค และอเล็กซา แคช

ส่วน ปรเมศวร์ หรือ ลูกหมี ที่แม้จะไม่ได้รางวัลจากเวทีนี้ แต่เจ้าตัวเปิดใจว่า รู้สึกดีใจที่ผลงานผ่านเข้ามาถึงรอบสุดท้ายและได้โชว์บนเวที WOW แต่ก่อนที่เราจะลงลึกไปถึงชุดป่าหิมพานต์ ได้ถามถึงที่มาที่ไปของลูกหมีก่อนว่าเป็นมาอย่างไรถึงได้เข้ามาประกวดในเวทีนี้ เจ้าตัวบอกว่าเคยส่งผลงานมาที่ WOW แล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 10 ปีก่อน และติดไฟนัลลิสต์ 3 ผลงาน แต่ครั้งนั้นไม่สบาย ก็เลยไม่ได้มาร่วมงาน จนปีนี้ได้มา ส่วนชุดป่าหิมพานต์ ลูกหมีบอกว่าเป็นชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมไทยที่มาจาก จ.ลำพูน บ้านเกิดของคุณแม่ เหตุที่เลือกผ้าไหมไทยเพราะเป็นสิ่งที่คนต่างชาติชื่นชอบ และดูว้าวสมชื่องาน จึงหยิบผ้าไหมมาทำ โดยทำเท็กซ์เจอร์ของผ้าไหมขึ้นมาใหม่ แล้วทำเทคนิคใหม่บนผ้าเพื่อให้ชุดฟอร์มตัวเป็นโครงได้มากขึ้น เพราะผ้าไหมเป็นผ้าที่ไม่อยู่ตัว ส่วนที่เลือกคอนเซ็ปต์เป็นชุดป่าหิมพานต์ เพราะเหมือนเป็นกิมมิกที่คนเอเชียรู้จัก เพียงแต่การสื่อสารหรือการตีความของแต่ละประเทศในเอเชียมีความต่างกัน เลยหยิบเรื่องนี้มาทำให้เป็นรูปธรรม ให้สื่อออกมาได้มากขึ้น และด้วยความเป็น WOW ก็นึกถึงเทพนิยาย ที่ฝรั่งมีทิงเกอร์เบล เราก็มีนางไม้

Advertisement
ปรเมศวร์ พงศ์ลาภประเสริฐ
ปรเมศวร์ พงศ์ลาภประเสริฐ

เมื่อถามถึงอุปสรรคปัญหาที่เผชิญจากการทำงาน ลูกหมีบอกว่าด้วยความที่ผ้าไหมเป็นผ้าที่ไม่อยู่ตัว เลยต้องเอามาอัดกาว 2-3 รอบ ดามด้วยโครงเหล็ก แต่พอขนส่งมาถึงที่นี่ ชุดกลายเป็นยุบตัว ไม่คงที่ แล้วเราไม่มีประสบการณ์เรื่องการขนส่ง ดีไซเนอร์บางคนนำชุดใส่ลังไม้มาซึ่งป้องกันได้ทุกอย่าง แต่ค่าส่งค่อนข้างแพง ส่วนเราต้องออกค่าใช้จ่ายเองหมดทุกอย่าง ก็พยายามหาทางทำให้น้ำหนักน้อยที่สุด ก็เลยทำให้ชุดที่ออกมาเมื่อไปถึงที่นั่นไม่โอเคเท่าไร และเมื่อถึงวันโชว์บนเวที ตัวเราเองก็ไม่มีสิทธิที่จะได้เข้าไปดูแลความเรียบร้อยของชุดที่อยู่บนร่างนางแบบ นอกจากนี้เจ้าตัวยังเล่าถึงอุปสรรคอื่นๆ ที่ต้องต่อสู้ด้วยตนเองให้ฟังด้วย ทำให้เราคิดว่าหากฝ่ายที่เกี่ยวข้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ ก็จะดีอย่างยิ่งต่อบุคลากรที่จะไปสร้างชื่อเสียงให้ประเทศเรา

เมื่อถามว่าเห็นผลงานตัวเองบนเวทีแล้วรู้สึกอย่างไร เจ้าตัวบอกว่าดีใจมาก เพราะลุ้นมาตั้งนานว่าจะออกมาเป็นแบบไหน และว่า สิ่งที่อยากสื่อสารผ่านชุดคืออยากบอกเรื่องผ้าว่าเรามีผ้าไทยที่ดี มีวัตถุดิบในการทำงานที่ดีไม่แพ้ประเทศไหน เราอยากแสดงถึงความเป็นไทยออกมาให้ได้มากที่สุด แต่ให้ออกมาเป็นสากลและมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

12

ลูกหมียังบอกถึงความรู้สึกของการเป็นคนไทยที่ผ่านเข้ามาถึงรอบสุดท้ายของ WOW ว่า รู้สึกดีใจมาก ถือว่าได้มาหาประสบการณ์ใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ ที่สำคัญได้เพื่อนใหม่ และทำให้ตนเองกลับไปบอกพี่ๆ น้องๆ เพื่อนๆ ที่อยากจะส่งผลงานเข้ามาประกวดบนเวทีนี้ได้ว่าเราจะมีเทคนิคในการทำอย่างไร พรีเซนต์อย่างไร เพราะบางอย่างในการประกวดในบ้านเรา คนที่ชอบประกวดจะคิดว่ามันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่ทุกอย่างที่เราคิดตามกรอบแบบนั้น มันไม่ใช่กับเวทีนี้ ผลงานครั้งนี้ทำให้ตัวเองรู้สึกว่ามุมมอง ของคนเอเชียกับฝรั่งต่างกัน เวลาจะทำงานอะไรต่อไป ก็จะเริ่มรู้แล้วว่าเราจะวางแผนการทำงานอย่างไร และปีหน้าถ้ามีโอกาส ก็จะส่งผลงานมาอีก

ลูกหมีให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า คนส่วนมากเวลาทำงานประกวดมักคิดถึงมูลค่ารางวัลของตอบแทนว่าจะคุ้มไหมกับการทำงานประกวด แต่ตนอยากให้มองจุดอื่นด้วยว่าเราได้อะไรนอกเหนือจากรางวัล เช่น ประสบการณ์ มิตรภาพ การเปิดโลกทรรศน์ใหม่ๆ ในความคิด กระบวนการทำงาน ไม่ใช่คิดว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม อย่าลืมว่าเราไม่ได้เก่งอยู่คนเดียวที่ส่งงานประกวดแล้วจะได้รางวัลชนะเลิศ อยากให้คิดว่ารางวัลคือการที่เราได้ทำผลงานในความคิดของเราออกมาเป็นชุดจริงๆ แล้วคนดูชื่นชอบ จดจำชุดของเราได้ ส่วนอื่นๆ ที่ได้มานั้นคือผลพลอยได้!

เป็นอีกความภาคภูมิใจของคนไทยเราที่มีบุคลากรมากฝีมือและมีผลงานเป็นที่ยอมรับในเวทีใหญ่แบบนี้ สำหรับใครที่สนใจอยากไปหาประสบการณ์บนเวที WOW บ้าง ลองเข้าไปหาข้อมูลได้ที่ www.worldofwearableart.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image