วิเทศวิถี : อาเซียนบนทางสองแพร่ง

อาเซียนบนทางสองแพร่ง

การเริ่มต้นการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชาในปีนี้ดูจะเรียกความสนใจได้ตั้งแต่ก่อนที่กัมพูชาจะรับตำแหน่ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ที่ นายวันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลทหาร เดินทางเยือนกัมพูชา และได้เข้าพบกับ สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งหนึ่งในสาระหลักของการเยือนดังกล่าวก็เพื่อเชิญสมเด็จฯฮุน เซน ให้เดินทางไปเยือนเมียนมาในวันที่ 7-8 มกราคม 2565 ซึ่งแน่นอนว่าสมเด็จฯฮุน เซน ตอบรับการเยือนดังกล่าวทันที

การเดินทางเยือนกัมพูชาของนายวันนา หม่อง ละวิน มีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่สมเด็จฯฮุน เซน ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ในฐานะที่กัมพูชาจะรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ กัมพูชาเห็นว่าเมียนมาซึ่งเป็นสมาชิกของครอบครัวอาเซียน ควรได้รับสิทธิให้เข้าร่วมประชุม และเขาก็วางแผนที่จะเยือนเมียนมาเพื่อหารือและทำงานร่วมกับ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย เพราะหากเขาไม่ทำงานกับผู้นำประเทศแล้วจะให้ทำงานกับใคร ทั้งยังย้ำถึงนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของเพื่อนบ้านว่า ภายใต้กฎบัตรอาเซียน ไม่มีใครมีสิทธิที่จะขับชาติสมาชิกใดออกไปได้อีกด้วย

การเดินทางเยือนเมียนมาของสมเด็จฯฮุน เซน ในวันที่ 7-8 มกราคมที่ผ่านมา ก็เป็นไปตามแนวทางที่สมเด็จฯฮุน เซน ได้พูดไว้ นั่นคือการพูดคุยกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย และไม่ได้มีการพบกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าควรจะเป็น ด้านสื่อของทางการเมียนมารายงานว่า พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ได้แสดงความขอบคุณต่อสมเด็จฯฮุน เซน ที่ยืนหยัดเคียงข้างเมียนมาระหว่างการหารือที่เกิดขึ้น

กระนั้นก็ดีผลการเยือนของสมเด็จฯฮุน เซน ก็มีหลายประการที่น่าสนใจ ตั้งแต่การประกาศหยุดยิงกับกลุ่มองค์กรชาติพันธุ์ต่างๆ (EAOs) การเปิดให้มีการเข้าร่วมของผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนในการเจรจาหยุดยิงกับ EAOs การจัดการประชุมเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ

Advertisement

ขณะที่การแถลงข่าวของ นายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ที่สนามบินนานาชาติกรุงพนมเปญ หลังเดินทางกลับจากเมียนมามีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ เขาย้ำว่า การเยือนครั้งนี้ได้ผลเป็นอย่างดีโดยยืนอยู่บนหลักการตามฉันทามติ 5 ข้อของที่ประชุมผู้นำอาเซียน และฝ่ายเมียนมาสนับสนุนให้ผู้แทนพิเศษฯพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมา ทั้งนี้กัมพูชาระบุว่าจะมีการจัดกลุ่มผู้แทนพิเศษฯ เพราะกัมพูชาไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ และยังมีงานอีกมากที่จะต้องทำเพื่ออำนวยความสะดวกและหารือในเรื่องต่างๆ รวมถึงประเด็นที่สอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อ เพราะประเด็นเมียนมาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งยังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมามากกว่า 120 กลุ่มชาติพันธุ์

สำหรับประเด็นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเมียนมานั้น กัมพูชาระบุว่าต้องทำผ่านศูนย์ประสานงานการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน (AHA Centre) โดยเฉพาะโครงการความช่วยเหลือด้านวัคซีน ซึ่งฝ่ายเมียนมาตระหนักดีว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุดต่อชีวิตประชาชน ขณะที่กัมพูชาได้แบ่งปันวิถีรวมถึงหนทางที่จะแสวงหาสันติภาพ ซึ่งเมียนมาจะต้องก้าวผ่าน โดนกระบวนการดังกล่าวต้องมีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม จะขาดฝ่ายใดไปไม่ได้

Advertisement

นายปรัก สุคน ยังพูดถึงประเด็นที่คนวิพากษ์วิจารณ์กันว่า การเยือนเมียนมาของสมเด็จฯฮุน เซน เป็นการให้การรับรองรัฐบาลทหารเมียนมาว่า ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศอื่นๆ ก็มีความสัมพันธ์ทางการทูตและยังคงมีสถานเอกอัครราชทูตในเมียนมา และจนถึงขณะนี้ไม่มีประเทศใดที่ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลเมียนมา พร้อมย้ำว่าการหารือถือได้ว่ามีผลดีและมีพัฒนาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หากใครที่ยังคัดค้านผลที่การหารือครั้งนี้ก็แปลว่าพวกเขาต้องการให้เมียนมาอยู่ในวิกฤตหรือเกิดสงครามกลางเมือง

แน่นอนว่าปฏิกริยาจากอาเซียนต่อการเยือนเมียนมาของสมเด็จฯฮุน เซน นับตั้งแต่เมื่อมีการประกาศการเยือนเมียนมาจนกระทั่งการเยือนแล้วเสร็จเต็มไปด้วยความหลากหลาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเห็นที่แตกต่างและปราศจากสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเอกภาพหรือมีจุดยืนที่สอดคล้องกันในหมู่ชาติสมาชิกอาเซียน ยิ่งเมื่อบวกกับข้อเท็จจริงของการเลื่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นการประชุมแรกที่ประเทศที่รับตำแหน่งประธานอาเซียนจัดขึ้น โดยแต่เดิมกัมพูชาเดิมกำหนดที่จะจัดประชุมดังกล่าวที่เสียมราฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายกอย กวง โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชาให้เหตุผลว่า การเลื่อนการประชุมดังกล่าวออกไปเป็นเพราะประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศประสบความยากลำบากในการเดินทางมาร่วมประชุม แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ประเทศที่ “ประสบความยากลำบาก” ดังกล่าวหมายรวมถึงประเทศใดบ้าง โดยบอกเพียงว่า เขาไม่สามารถพูดแทนประเทศอื่นได้ ยิ่งทำให้มีการตีความไปว่า หรือสาเหตุแห่งการเลื่อนการประชุมนั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นเพราะประเทศสมาชิกบางประเทศแสดงการ “ประท้วง” กับการดำเนินการของฝ่ายกัมพูชาในกรณีเมียนมากันแน่

สัญญานแห่งความไม่พอใจกับการเยือนกัมพูชาของสมเด็จฯฮุน เซน ถูกส่งออกมาจากหลายประเทศสมาชิกอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ที่ นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ถึงกับออกมาแสดงจุดยืนด้วยตนเองว่า อาเซียนยังควรที่จะห้ามเมียนมาส่งผู้แทนการเมืองเข้าร่วมการประชุมต่างๆ จนกว่ารัฐบาลเมียนมาจะให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามแผนสันติภาพ และการมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับเมียนมาจำเป็นต้องมีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึง นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี)

เช่นเดียวกับ นายไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียที่ระบุชัดว่า สมเด็จฯฮุน เซน มีสิทธิที่จะเยือนเมียนมาในฐานะผู้นำกัมพูชา แต่เนื่องจากกัมพูชาได้รับหน้าที่ประธานอาเซียนแล้ว ก็ควรต้องมีการปรึกษากับผู้นำอาเซียนเพื่อรับฟังมุมมองของชาติสมาชิกชิกว่าควรทำอย่างไร หากสมเด็จฯฮุน เซน จะเยือนเมียนมา

อย่างไรก็ดีนายไซฟุดดินไม่อยากจะพูดถึงข้อสังเกตที่มีการพูดกันว่า การเลื่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการเป็นเพราะมีความตึงเครียดเกิดขึ้นในประเด็นเมียนมา โดยเขายืนยันว่าสาเหตุมาจากปัญหาเรื่องเวลาและความห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้น แต่ก็รับว่าไม่มีความชัดเจนว่ากัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนจะตัดผู้แทนจากรัฐบาลทหารเมียนมาออกจากการประชุมต่างๆ ของอาเซียนจนกว่าที่จะมีความก้าวหน้าใดๆ เกิดขึ้นในเมียนมาตามฉันทามติที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้หรือไม่

ฟิลิปปินส์ก็ออกมาแสดงท่าทีไปในทิศทางเดียวกัน นายทีโอโดโร ล็อกซิน รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ ย้ำว่า นางออง ซาน ซูจี ถือเป็นบุคคลที่จะขาดเสียมิได้ในกระบวนการใดๆ ก็ตามที่จะฟื้นคืนประชาธิปไตยกลับสู่เมียนมา และซูจีต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเจรจาสันติภาพใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าเธอจะถูกพิพากษาโทษใดๆ ก็ตาม ไม่เช่นนั้นการหารือก็จะปราศจากความหมาย พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้นำทหารเมียนมาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาที่รวมทุกฝ่ายเข้าไว้ด้วยกัน และเริ่มกระบวนการเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย

หนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงในฐานะต้นตอของความไม่พอใจที่เกิดขึ้น และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการต้องเลื่อนออกไป มาจากแนวคิดของกัมพูชาที่จะเชิญนายวันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ให้มาเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวดูจะเรียกเสียงคัดค้านจากชาติสมาชิกอาเซียนหลายประเทศที่ยังเห็นว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีพัฒนาการใดๆ จากฝ่ายเมียนมาตามฉันทามติ 5 ข้อแต่อย่างใด

นับจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าการหารือครั้งแรกในปีนี้ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะมีขึ้นได้เมื่อใด แม้ว่าล่าสุดจะมีข้อเสนอว่าจะจัดการประชุมดังกล่าวขึ้นในราวกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนใดๆ ได้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะยังไม่มีความชัดเจนในแง่ของรูปแบบการประชุมว่าจะยังคงเป็นการจัดแบบพบตัว จัดแบบออนไลน์ หรือจัดแบบผสมผสาน แต่คิดว่าอาเซียนน่าจะเร่งหาข้อสรุปในประเด็นดังกล่าวให้ได้โดยไว เพราะยังมีประชุมอื่นๆ อีกมากที่รออยู่ข้างหน้า และที่กำลังเป็นที่จับตามากที่สุดการประชุมหนึ่งคือการที่ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เชิญผู้นำอาเซียนไปร่วมหารือกันที่สหรัฐ ซึ่งนาทีนี้คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในราวเดือนมีนาคม ถ้าไม่เจอโรคเลื่อนใดๆ ขึ้นอีก

นายปรัก สุคน เคยวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ นายเอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไนในฐานะผู้แทนพิเศษฯอาเซียนที่ปฏิเสธที่จะเยือนกัมพูชาหากไม่ได้พบกับนางออง ซาน ซูจี ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ

“หากเขาสร้างกำแพงหนา การที่เราจะเอาหัวพุ่งชนมัน เป็นเรื่องไร้ประโยชน์ กัมพูชาจะใช้วิธีที่ต่างออกไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามฉันทามติ 5 ข้อ”นายปรัก สุคน ระบุ

เป็นเรื่องที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่า กัมพูชาจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายตามที่ประกาศไว้ โดยไม่สร้างความร้าวฉานภายในอาเซียนให้เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือยิ่งกำหนดการหารือครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนล่าช้าออกไปมากเท่าใด ข่าวเกี่ยวกับความแตกแยกทางความคิดและในจุดยืนของอาเซียนต่อประเด็นเมียนมาก็จะยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image