จีนเผยผลทดลองวัคซีนโควิด ชนิด mRNA ที่พัฒนาเองตัวแรก ชี้กระตุ้นภูมิคุ้มกัน 95%

แฟ้มภาพเอเอฟพี

จีนเผยผลทดลองวัคซีนโควิดชนิด mRNA ที่พัฒนาเองตัวแรก ชี้กระตุ้นภูมิคุ้มกัน 95%

รายงานการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ “แลนเซต ไมครอบ” (The Lancet Microbe) เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมาระบุว่า วัคซีน ARCoV วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ใช้เทคโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ตัวแรกที่จีนพัฒนาขึ้นเองนั้น ผลการทดลองทางคลินิกในระยะแรกแสดงให้เห็นว่าตอบสนองต่อการกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรค 95% ในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีน โดยไม่มีรายงานการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงแต่อย่างใด

วัคซีน ARCoV นี้เป็นการพัฒนาร่วมกันโดยบริษัท วาลแวกซ์ ไบโอเทคโนโลยี, ซูโจว อะบอเจน ไบโอไซเอ็นซ์ และ สถาบันวิทยาการทหารแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชน(พีแอลเอ)ของจีน ซึ่งได้ทำการทดลองทางคลินิกระยะแรกที่โรงพยาบาลซูหลัน ในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง เพื่อประเมินด้านความปลอดภัย ความทนทาน และการตอบสนองภูมิคุ้มกันของวัคซีน

การทดลองในระยะแรกทำขึ้นระหว่างวันที่ 30 ตุลาคมถึง 2 ธันวาคมปี 2020 ในกลุ่มผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีสุขภาพแข็งแรง อายุระหว่าง 18-59 ปี จำนวน 120 คน โดยสุ่มให้ฉีดวัคซีน ARCoV กับการให้วัคซีนหลอก และยังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ที่ได้วัคซีนในปริมาณโดสที่แตกต่างกันไประหว่างขนาด 5 ไมโครกรัมถึง 25 ไมโครกรัม ในจำนวนนี้ผู้เข้าร่วมการทดลอง 118 คน ได้รับวัคซีน 2 โดส ในระยะห่างกัน 28 วัน ทั้งนี้พบว่าก่อสารภูมิคุ้มกันโรคระหว่าง 80-95% ในกลุ่มทดลองที่ได้รับวัคซีน 2 โดส ในขนาดที่แตกต่างกันไป

โดยกลุ่มที่ได้รับวัคซีนขนาด 20 ไมโครกรัม แสดงผลสูงสุด ที่มีอัตราก่อภูมิคุ้มกันถึง 95% ขณะที่ไม่มีรายงานการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงในกลุ่มทดลอง โดยส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนขนาด 15 ไมโครกรัม พบว่า 70% มีอาการปวดบริเวณจุดที่ฉีดวัคซีน และ 90% มีไข้

Advertisement

ปัจจุบันมีวัคซีนต้านโควิด ชนิดอาร์เอ็นเอ หรือเป็นเทคโนโลยีที่ใช้สารพันธุกรรม ซึ่งสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก 2 ชนิดที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก เป็นวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค และ วัคซีนโมเดอร์นา

ขณะที่จีนยังไม่ได้มีการอนุมัติให้ใช้วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอเป็นการทั่วไปได้ในประเทศ สำหรับวัคซีน ARCoV ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานควบคุมกฎระเบียบของจีนเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ให้เริ่มทำการทดลองทางคลินิกได้ ซึ่งยังมีการทำการทดลองทางคลินิก 3 เฟสในต่างประเทศด้วย รวมถึงในเม็กซิโก อินโดนีเซีย และ เนปาล แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการทดลองในเฟส 2 และ 3 ออกมา

นอกจากวัคซีน ARCoV แล้ว ยังมีวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ที่บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพอื่นๆของจีนอยู่ในระหว่างพัฒนาขึ้น เช่น วัคซีนของบริษัทสเตมีร์นา เธราพิวติคส์ และ บริษัทจูไห่ ลี่ฝันต๋า ไบโอเทคโนโลยี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image