2 นักเศรษฐศาสตร์คว้าโนเบลจากผลงานคิดค้น ‘ทฤษฎีสัญญา’

AFP PHOTO / JONATHAN NACKSTRAND

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า โอลิเวอร์ ฮาร์ต ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายอังกฤษแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ เบงก์ โฮล์มสตรอม ชาวฟินแลนด์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการจัดการแห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ร่วมกันจากผลงานการคิดค้น “ทฤษฎีสัญญา” ในพิธีประกาศรางวัลที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม

แถลงการณ์ของคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลระบุว่า “ผู้ได้รับรางวัลในปีนี้ได้พัฒนาทฤษฎีสัญญา ซึ่งเป็นกรอบที่ครอบคลุมสำหรับการวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ที่หลากหลายในการออกแบบสัญญา เช่น การจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานสำหรับผู้บริหารระดับสูง ระบบการจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกและการร่วมจ่ายในการประกันภัย และการแปรรูปกิจการของภาครัฐให้เป็นของเอกชน”

“เครื่องมือทางทฤษฎีใหม่นี้ที่คิดค้นขึ้นมาโดยฮาร์ตและโฮล์มสตรอมมีคุณค่าในการสร้างความเข้าใจเรื่องสัญญาในชีวิตจริงเช่นเดียวกับหลุมพรางในการออกแบบสัญญา” คณะกรรมการระบุ และว่า ผลงานการคิดค้นของพวกเขาได้วางรากฐานอย่างชาญฉลาดสำหรับการออกแบบนโยบายในหลายๆ ด้านตั้งแต่การร่างกฎหมายล้มละลายไปจนถึงรัฐธรรมนูญการเมือง”

ผู้ชนะทั้ง 2 คนจะได้รับเงินรางวัล 8 ล้านโครนสวีเดน หรือราว 31.7 ล้านบาท
ทั้งนี้ รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ไม่เหมือนกับสาขาอื่นๆ ที่ก่อตั้งขึ้นตามปณิธานแต่ดั้งเดิม ของอัลเฟรด โนเบล มหาเศรษฐีนักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวสวีเดน รางวัลนี้ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “รางวัลด้านเศรษฐศาสตร์เพื่ออุทิศแด่อัลเฟรด โนเบล” ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาโดยธนาคารกลางสวีเดนเนื่องในโอกาสครบรอบ 300 ปี เมื่อปี 2511

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image