ทูตพิเศษอาเซียนเผยแผนเยือนเมียนมา มี.ค.นี้ หวังรบ.ทหารเปิดทางคุยคู่ขัดแย้ง

รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียนส่วนหนึ่ง ประกอบไปด้วย นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ จากมาเลเซีย, นายทีโอโดโร ล็อกซิน จากฟิลิปปินส์, นายวิเวียน บาลากริชนัน จากสิงคโปร์, นายปรัก สุคน จากกัมพูชา, นางเร็ตโน มาร์ซูดี จากอินโดนีเซีย, นายสะเหลิมไซ กมมะสิด จากสปป.ลาว และนายลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียนชาวบรูไน ร่วมกันถ่ายรูปหมู่ที่การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน ที่กรุงพนมเปญของกัมพูชา ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ (รอยเตอร์)

ทูตพิเศษอาเซียนเผยแผนเยือนเมียนมา มี.ค.นี้ หวังรบ.ทหารเปิดทางคุยคู่ขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา แถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ว่า เขากำลังหาทางเยือนเมียนมาในเดือนมีนาคมนี้ และยังกล่าวร้องขอให้รัฐบาลทหารเมียนมาเห็นชอบให้เขาได้พูดคุยกับรัฐบาลเงา ที่คณะผู้ปกครองทหารตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้ายด้วย

นายปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาและเป็นทูตพิเศษของอาเซียนคนใหม่ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(เอ็นยูจี) หรือรัฐบาลเงาที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของสมาชิกในรัฐบาลพลเรือนเมียนมาที่ถูกยึดอำนาจไป และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารกลุ่มอื่นๆ นั้น เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เนื่องจากการคัดค้านของฝ่ายรัฐบาลทหาร

ภาพเอเอฟพี

อย่างไรก็ดี นายปรัก สุคน กล่าวว่า แน่นอนว่าเรากำลังพยายามหาทางอยู่ หากฝ่ายเนปยีดอไม่พูดคุยกับฝ่ายเอ็นยูจี ดังนั้นก็ขอให้ทูตพิเศษเป็นสะพานเชื่อม ในฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยแทน และว่า ทูตพิเศษของอาเซียนก่อนหน้านี้ไม่สามารถไปเยือนเมียนมาได้ เพราะมีสมาชิกอาเซียนบางชาติที่ตั้งเงื่อนไขไปไว้ก่อน ซึ่งรัฐบาลทหารยอมรับไม่ได้ โดยรอยเตอร์ระบุว่า นั่นรวมถึงการเข้าพบกับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ถูกคุมขังอยู่หลังจากถูกกองทัพยึดอำนาจไป

ก่อนหน้านี้ กัมพูชา ที่รับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ ได้สร้างความกังวลให้เพื่อนสมาชิกบางชาติ จากท่าทีของสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ต้องการให้คณะผู้ปกครองทหารมีส่วนร่วมโดยตรง ซึ่งรวมถึงการที่สมเด็จฯฮุน เซน เดินทางไปพบปะพูดคุยกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำรัฐบาลทหาร ที่เมียนมาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

Advertisement

ขณะที่เมื่อวันพุธ(16 ก.พ.) สมเด็จฯฮุน เซน ยังกล่าวว่าหากไม่มีความก้าวหน้า สันติภาพในเมียนมาก็ไม่อาจบรรลุผลได้ในหลายปี ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา กล่าวปกป้องแนวทางนี้ และกล่าวว่า ครั้งนี้ ชาติอาเซียนไม่ได้มีการตั้งเงื่อนไขไว้ก่อนสำหรับการเยือนเมียนมาของเขาที่จะมีขึ้น และว่า กัมพูชาจะคงการมีส่วนร่วมของรัฐบาลทหารเพื่อรักษาความไว้วางใจและความเชื่อมั่นให้คงอยู่

ด้านนายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย โพสต์เฟซบุ๊ก เรียกร้องให้ทูตพิเศษอาเซียน เข้าหารือกับผู้แทนกลุ่มต่างๆ รวมถึงรัฐบาลเงาของเมียนมาด้วย ซึ่งเป็นท่าทีเดียวกับนางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ที่กล่าวว่า มันสำคัญสำหรับเมียนมาที่จะต้องฟังความห่วงกังวลและความเห็นของผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ทั้งนี้การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันนี้ที่กรุงพนมเปญ เป็นการประชุมครั้งแรก โดยเลื่อนมาจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งยังคงถูกครอบงำด้วยปัญหาเมียนมา อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีรัฐมนตรีต่างประเทศจากทั้ง 10 ชาติอาเซียนเดินทางมาร่วมประชุมกันด้วยตัวเองที่กรุงพนมเปญทั้งหมด

Advertisement

โดยนอกจากรัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมา ที่ยังคงไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมในเวทีหารือครั้งนี้ เพื่อตอบโต้ที่เมียนมาล้มเหลวในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนเพื่อยุติวิกฤตเมียนมาแล้วนั้น ยังมีของไทยและเวียดนาม ที่ไม่ได้มาร่วมประชุมด้วยตนเอง โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้น ติดภารกิจภายในประเทศ ส่วนนายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม มีผลตรวจติดเชื้อโควิด-19 แต่ทั้งสองได้เข้าร่วมการประชุมผ่านทางออนไลน์แทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image