ดูสองโสมทำสงครามประสาท : ไฮไลต์โลก

A South Korean soldier stands guard next to loudspeakers, just south of the demilitarized zone separating the two Koreas, in Yeoncheon, South Korea, January 8, 2016. REUTERS/Korea Pool/Yonhap ATTENTION EDITORS - FOR EDITORIAL USE ONLY. NOT FOR SALE FOR MARKETING OR ADVERTISING CAMPAIGNS. THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY. IT IS DISTRIBUTED, EXACTLY AS RECEIVED BY REUTERS, AS A SERVICE TO CLIENTS. SOUTH KOREA OUT. NO COMMERCIAL OR EDITORIAL SALES IN SOUTH KOREA. NO RESALES. NO ARCHIVES.


ไม่ว่าสิ่งที่เกาหลีเหนืออวดอ้างว่าทดสอบระเบิดไฮโดรเจนได้สำเร็จจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่นั่นย่อมทำให้เกาหลีใต้อยู่เฉยไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาเสียบปลั๊กเปิดเครื่องกระจายเสียงโฆษณาชวนเชื่อ ทำสงครามประสาทตอบโต้ใส่เกาหลีเหนือเสียเลย

ก่อนหน้านี้เกาหลีใต้เพิ่งจะพักรบสงครามประสาทกับเกาหลีเหนือไปเมื่อสิงหาคมปีที่ผ่านมานี้เอง หลังจากสองฝ่ายเจรจากันจนดับชนวนวิกฤตขัดแย้งรอบที่ผ่านมาลงไปได้ ว่าไปแล้วการโฆษณาชวนเชื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการทำสงครามจิตวิทยาระหว่างสองชาติที่มีมาตั้งแต่สงครามเกาหลีช่วงต้นทศวรรษ 1950 บนความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆ ดอนๆ มาโดยตลอดทำให้เราได้เห็นทั้งสองฝ่ายใช้กลยุทธ์นี้ต่อกรกันอยู่เป็นเนืองๆ จะมีก็ช่วงปี 2547 จนถึงสิงหาคมปีที่แล้ว ที่ทั้งสองฝ่ายพักเกมโฆษณาชวนเชื่อๆ กันไปได้นานหน่อย

เป้าประสงค์ของเกาหลีใต้ในการงัดกลยุทธ์โฆษณาชวนเชื่อมาใช้ก็เพื่อโน้มน้าวให้ชาวเกาหลีเหนือไม่เชื่อมั่นไว้ใจในผู้ปกครองตนเองหรือให้แปรพักตร์ออกจากระบอบปกครองเผด็จการนี้ ส่วนฝ่ายเกาหลีเหนือเองก็มุ่งวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของฝ่ายเกาหลีใต้และชาติพันธมิตรว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคง

เนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายเกาหลีใต้เป็นการประโคมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีความหลากหลายที่ชาวเกาหลีเหนือถูกปิดกั้นหรือไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยมีตั้งแต่การพยากรณ์สภาพอากาศ ข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับสองเกาหลี ข่าวต่างประเทศที่ชาวเกาหลีเหนือถูกปิดหูปิดตา รายการพูดคุยแสดงความเห็นในวิถีประชาธิปไตย ระบบทุนนิยม และวิถีชีวิตของผู้คนในเกาหลีใต้ ตลอดจนการวิพากษ์การคอร์รัปชั่นและการบริหารจัดการผิดพลาดในเกาหลีเหนือ

Advertisement

ไม้เด็ดสำคัญที่ถือว่าแทรกซึมได้อย่างง่ายดายและกว้างขวางคือการแผ่ขยายวัฒนธรรมเคป๊อป หรือโคเรียนเวฟ ที่เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จมาแล้วในการขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมของตนเองสู่ประเทศในเอเชียจนเป็นที่ยอมรับ ไม่เว้นแม้แต่ไทยเราที่ก็มีติ่งเคป๊อป ติ่งเกาหลีอยู่เต็มเมือง

เพลงเคป๊อปในกระแสอย่างเพลงของวงเกิร์ลเจเนอเรชั่น, เอพิงค์ และบอยแบนด์แถวหน้าอย่างบิ๊กแบงจึงได้ยินดังกระหึ่มเข้าไปไกลในฝั่งเกาหลีเหนือ

ตรงกันข้ามกับการเดินเกมโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายเกาหลีเหนือที่ดูจะไม่มีประสิทธิผลมากนัก สาเหตุหนึ่งจากเครื่องกระจายเสียงของเกาหลีเหนือที่มีกำลังความดังไม่แรงมากพอ เทียบชั้นไม่ได้กับของฝ่ายตรงข้าม

Advertisement

โฆษกกองทัพเกาหลีใต้เผยถึงกลยุทธ์โฆษณาชวนเชื่อว่า ในแต่ละวันฝั่งเกาหลีใต้จะเปิดเครื่องกระจายเสียงโฆษณาชวนเชื่อเข้าไปยังฝั่งเกาหลีเหนือตกราว 2-6 ชม. ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน ส่วนประสิทธิผลในแง่ของระยะทางในการได้ยินจะไกลแค่ไหนขึ้นอยู่กับภูมิศาสตร์ที่ตั้งจุดกระจายเสียง สภาพอากาศ และอีกหลายปัจจัย โดยหากเปิดในช่วงเวลากลางวันจะได้ยินเข้าไปในฝั่งเกาหลีเหนือไกลถึง 10 กม. แต่ในช่วงค่ำที่เงียบสงัดจะได้ยินไกลถึง 24 กม. รวมๆ แล้วเกาหลีใต้มีจุดที่ตั้งเครื่องกระจายเสียงหันไปฝั่งเกาหลีเหนือราว 11 จุด กระจายตามจุดต่างๆ ส่วนฝ่ายเกาหลีเหนือดูเหมือนว่ามีการขยายการติดตั้งเครื่องกระจายเสียงเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่เพียงแค่ 2 จุด

คิม ยอง ฮุน บรรณาธิการเดลี เอ็นเค สื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ที่เกาะติดสถานการณ์ความเคลื่อนไหวในเกาหลีเหนือ บอกว่า วัฒนธรรมเคป๊อปไม่เพียงข้ามไปถึงชายฝั่งที่อยู่ห่างไกล หากแต่ชาวเกาหลีเหนือก็ยังเป็นแฟนตัวยงของหนัง ละคร และเพลงของเกาหลีใต้ที่มีการลักลอบเอาข้ามชายแดนมายังฝั่งเกาหลีเหนือจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวัยรุ่นเกาหลีเหนือที่คลั่งไคล้กระแสเคป๊อป ไม่เว้นแม้แต่ทหารเกาหลีเหนือ

คิม ยอง ฮุน ยังประเมินทิ้งท้ายว่า กลยุทธ์นี้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลทีเดียวสำหรับเกาหลีใต้ ประเมินได้จากปฏิกิริยาโกรธเกรี้ยวของฝ่ายเกาหลีเหนือที่มักขู่จะโจมตีเครื่องกระจายเสียงของเกาหลีใต้ทิ้งในทันทีหากอีกฝ่ายไม่ยอมปิดเสียงกวนโสตประสาท…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image