ตามรอยต่างชาติยุครัตนโกสินทร์ กับ ‘ย่านฝรั่งในบางกอก’

เยี่ยมชมธนาคารไทยพาณิชย์สาขาตลาดน้อย

ตามรอยต่างชาติยุครัตนโกสินทร์
กับ ‘ย่านฝรั่งในบางกอก’

กองการทูตวัฒนธรรม กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดโครงการดีๆ ที่จะช่วยให้เข้าใจถึงที่มาของการสานสัมพันธ์กับต่างชาติในไทยอีกครั้ง โดยคราวนี้เป็นการไปตามรอย “ย่านฝรั่งในบางกอก” มุ่งเน้นไปที่แผ่นดินยุครัตนโกสินทร์ที่ถือเป็นยุคที่ไทยนำเอาองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาจากตะวันตกมาใช้ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นสากลมากขึ้น โดยมี นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมเดินทางไปด้วยกัน และมี รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ความรู้และตอบข้อสงสัยเช่นเคย

แม่น้ำเจ้าพระยาที่เห็นป้อมวิไชยประสิทธิ์อยู่ไม่ไกล

“บางกอก” คือชื่อที่คนต่างชาติเรียกเมืองท่าสำคัญริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของไทยมานานแล้วตั้้งแต่สมัยอยุธยา เพราะเป็นเมืองท่าแห่งเดียวที่มีป้อมปืนใหญ่ที่พอจะป้องกันข้าศึกได้ ดังร่องรอยของป้อมวิไชยประสิทธิ์ที่ยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน การจะล่องเรือขึ้นไปถึงอยุธยา ซึ่งถือเป็นเมืองท่านานาชาติและอดีตราชธานีเก่าแก่ของไทย ก็ต้องมาพักเรือและผ่านด่านที่บางกอกเสียก่อน เช่นเดียวกับเมื่อจะกลับออกไป บางกอกก็จะเป็นจุดที่พวกเขาแวะซื้อเสบียงข้าวของ ก่อนที่จะล่องเรือทางไกลออกไปสู่ท้องทะเลอีกครั้งหนึ่ง

การเดินทางที่ดีที่สุดในการตามรอยฝรั่งในบางกอกย่อมต้องเป็นการล่องเรือไปตามลำน้ำเจ้าพระยา โดยจุดที่เราแวะชมหลักๆ คือโบสถ์คริสต์ 4 แห่งที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ตั้งแต่โบสถ์คอนเซ็ปชัญในชุมชนบ้านญวน วัดซางตาครู้สชุมชนกุฏีจีน โบสถ์กาลหว่าร์ที่ชุมชนตลาดน้อย และสุดท้ายคืออาสนวิหารอัสสัมชัญที่บางรัก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงร่องรอยของชุมชนชาวต่างชาติที่เข้ามาตั้งรกรากในบางกอกมาอย่างยาวนาน

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติที่เขียนด้วยเทคนิคเฟรสโก้ที่วัดราชาธิวาส

เราเริ่มต้นการเดินทางกันที่วัดราชาธิวาสวิหาร ซึ่งอยู่ใกล้กับโบสถ์คอนเซ็ปชัญ โบสถ์แห่งนี้ถือว่าเป็นโบสถ์คริสต์ที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพ ค่าที่มีประวัติสืบค้นไปได้ถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ทรงพระราชทานที่ดินให้กับ สังฆราชหลุยส์ ลาโน ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในกรุงศรีอยุธยา แต่โบสถ์แห่งนี้กลับมาเป็นสถานที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงร่องรอยของฝรั่งในยุครัตนโกสินทร์ก็เมื่อหลังเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า ทำให้ชาวต่างชาติที่เคยอาศัยอยู่ในอยุธยาพากันย้ายลงมาอยู่ที่บางกอก พร้อมๆ กับที่ได้มีการย้ายราชธานีใหม่ของไทยลงมาอยู่ที่นี่นั่นเอง

Advertisement

เหตุที่วัดราชาธิวาสวิหารเป็นจุดเริ่มต้นของการตามรอยย่านฝรั่งในบางกอกก็เพราะเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการสานสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์กับชาวตะวันตกอีกครั้งในยุครัตนโกสินทร์ ด้วยว่าเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชเป็นพระวชิรญานเถระ พระองค์ได้มาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ และมีพระสหายสนิทคนสำคัญคือบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ซึ่งต่อมาคือพระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ วัดและโบสถ์ถูกคั่นด้วยคลองเล็กๆ ซึ่งมีสะพานไม้ให้เดินไปมาหากันได้ พระองค์ทรงศึกษาภาษากรีก ละติน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ จากบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ขณะเดียวกันก็ทรงสอนภาษาไทยและบาลี รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของไทยกับตะวันตกกับบาทหลวงปาลเลอกัวซ์เช่นกัน ความสัมพันธ์นี้ยืนยาวจนตลอดชีวิตของพระสังฆราชปาลเลอกัวซ์เลยทีเดียว

อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก

นั่นคือจุดเริ่มต้นของความสนใจในวิทยาการและองค์ความรู้จากตะวันตกของร.4 ตั้งแต่ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์ ความสนพระทัยและความคุ้นเคยนี้ได้กลายเป็นรากฐานในการทำให้ความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกในยุครัตนโกสินทร์เฟื่องฟูยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา และยังส่งผลต่อเนื่องมายังรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระโอรสของพระองค์อีกด้วย

ความรู้ความสนใจในวิวัฒนาการของตะวันตกทำให้ ร.4 ทรงมีพระปรีชาสามารถกว้างไกล อาทิ ในวิชาดาราศาสตร์ ที่พระองค์ทรงสามารถคำนวนระยะเวลาการเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ.2411 ได้อย่างแม่นยำ ทรงเริ่มต้นการติดต่อกับชาติตะวันตกอย่างจริงจัง มีการแต่งตั้งคณะทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรี ทั้งยังทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาศิลปะวิทยาการใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และเปิดรับแนวทางการพัฒนาประเทศที่เห็นว่ามีประโยชน์ตามแนวทางตะวันตก

Advertisement
เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนโปรตุเกสที่กุฎีจีน

รศ.ปรีดีบอกว่า ในยุคนี้การเข้ามาของชาวต่างชาติมีจุดมุ่งหมายที่เปลี่ยนไปจากในสมัยอยุธยา นั่นคือเข้ามาเพื่อทำงานให้กับราชสำนักไทย ตั้งแต่ครั้ง ร.4 ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้จึงปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยขึ้น มีการสร้างถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร ซึ่งเป็นถนนรุ่นแรกในไทยที่มีวิธีการสร้างแบบตัดเป็นเส้นตรงเหมือนในยุโรป

ต่อมาในรัชสมัย ร.5 ครั้งพระองค์เสด็จพระพาสยุโรป เมื่อเสด็จไปถึงบ้านเมืองใด เห็นว่าใครเก่งมีฝีมือก็จะดึงให้มาทำงานกับราชสำนัก การพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นแบบนานาอารยประเทศจึงขยายไปอย่างรวดเร็ว มีการนำชาวฮอลันดามาสร้างเขื่อนและทำชลประทาน ชาวเยอรมนีและอังกฤษเข้ามาทำทางรถไฟ ไฟฟ้า และไปรษณีย์ ชาวเบลเยียมมารับราชการและดูเรื่องกฎหมาย ขณะที่เยอรมนีเข้ามาขุดคลอง อย่างคลองรังสิตที่เห็นกันทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังมีศิลปินจากอิตาลีที่เข้ามาเป็นสถาปนิกและจิตกร แม้แต่ภาพเขียนเฟรสโก้บนผนังในอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหารก็เป็นฝีมือของช่างอิตาลีเช่นกัน นอกจากนี้ยังมี พระยาวาสุเทพ หรือ กุสตาฟ เชา จากเดนมาร์กที่มาวางรากฐานให้กับการตำรวจของไทย เป็นอาทิ

โบสถ์วัดแม่พระลูกประคำที่มีอักษรจีนประดับอยู่อย่างไม่แปลกแยก

นอกจากโบสถ์คริสต์ทั้ง 4 แห่งที่เป็นร่องรอยของชุมชนชาวต่างชาติที่เข้ามาตั้งรกรากในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ ตลอดเส้นทางริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เรายังได้เห็นอาคารบ้านเรือนแบบตะวันตกที่งดงามมากมาย ซึ่งสร้างขึ้นในยุคสมัยแห่งการเปิดรับศิลปะวิวัฒนาการตะวันตก อย่างอาคารธนาคารไทยพาณิชย์สาขาตลาดน้อยที่มีอายุมากกว่า 100 ปี แต่ยังคงความงดงามโดดเด่นมาจนถึงปัจจุบัน

รศ.ปรีดีบอกว่า ความเจริญต่างๆ ในไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาปัตยกรรม ความเจริญทางกายภาพ ถนนหนทาง สะพาน โครงสร้างการปกครอง ส่วนใหญ่เราได้รับความคิดมาจากตะวันตก แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราคิดไม่เป็น คนสยามคิดแต่ไม่ชอบแสดงออก มักจะนิ่งเฉย ไม่เหมือนตะวันตกที่แสดงออกอย่างชัดเจน

ศาลเจ้าจีนและสุเหร่าตั้งอยู่เคียงข้างกันบนฝั่งเจ้าพระยา

ในยุคสมัยของ ร.4 จนถึง ร.6 ร่องรอยของตะวันตกมีในทุกมิติ เห็นได้ชัดจากสถาปัตยกรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานซังฮี้ลงมาถึงสะพานสาธร หรือคลังสินค้าของอีสต์เอเชียติกที่ทำเรื่องตัดไม้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่แค่ในกรุงเทพและปริมณฑลเท่านั้น ยังกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ อาทิ ลำพูน แพร่ เชียงใหม่ เชียงราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยได้รับอิทธิพลจากตะวันตกเป็นจำนวนมาก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มนำความรู้ของชาวตะวันตกเข้ามาพัฒนาประเทศไทย จากความสนพระราชหฤทัยของพระองค์เอง กระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำชาวตะวันตกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มารับใช้ราชสำนัก เพื่อพัฒนาบ้านเมือจนเป็นอย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน

กลายเป็นมรดกตกทอดให้เราเห็นถึงแนวทางแห่งการพัฒนาประเทศไทยให้เท่าทันกับยุคสมัย ที่ยังคงสอดผสานกับความเป็นไทยไว้ได้อย่างกลมกลืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image