เปิดกลยุทธ์โลกยุคดิจิทัล ช่วยเหยื่อสงคราม

เปิดกลยุทธ์โลกยุคดิจิทัล ช่วยเหยื่อสงคราม

หลังจากรัสเซียตัดสินใจนำกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในแง่การรบ กองทัพยูเครนซึ่งมีงบประมาณด้านกลาโหมน้อยกว่ารัสเซียถึง 10 เท่า และมีกำลังพลน้อยกว่าแบบเทียบไม่ติด

กองทัพยูเครนตั้งรับต่อต้านกองทัพรัสเซียอย่างโดดเดี่ยว

ชาติตะวันตกหลีกเลี่ยงที่จะส่งกำลังเข้าแทรกแซง หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางการทหารโดยตรงกับรัสเซีย เพราะเกรงว่าจะเป็นการจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3

ภาวะสงครามส่งผลกระทบให้ประชาชนชาวยูเครนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนไปหาที่พึ่งพิงยังประเทศเพื่อนบ้านแล้วมากกว่า 1.5 ล้านคน หลายพื้นที่ในยูเครนกลายเป็นพื้นที่ขาดแคลนอาหารและน้ำ การสื่อสารถูกตัดขาด เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานถูกโจมตี กลายเป็นวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยเกิดขึ้น นั่นทำให้ความช่วยเหลือหลั่งไหลไปยังประเทศยูเครนมากมาย

Advertisement

แม้ทหารยูเครนต้องสู้รบเพียงลำพัง แต่ชาติตะวันตกที่นอกจากจะออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียอย่างหนักแล้ว ก็ส่งยุทโธปกรณ์และความช่วยเหลือต่างๆ ไปถึงยูเครนอย่างไม่ขาดสาย

ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ที่ส่งอาวุธมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปยังยูเครน

ด้านสหภาพยุโรป (อียู) มีมติส่งอาวุธมูลค่า 502 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้รัฐบาลยูเครน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อียูมีมติลักษณะนี้เกิดขึ้น

Advertisement

ขณะที่อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี, แคนาดา, สวีเดน, นอร์เวย์, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, เบลเยียม, โปรตุเกส, กรีซ, โรมาเนีย, สเปน, สาธารณรัฐเช็ก, โครเอเชีย และอีกหลายชาติส่งเงินสนับสนุนและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับยูเครนอย่างต่อเนื่อง

ไม่เว้นแม้แต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวยูเครนผ่านองค์กรการกุศลในอังกฤษด้วย

นี่เป็นท่าทีที่เห็นได้ไม่บ่อยนัก

นอกจากความช่วยเหลือของรัฐบาลแต่ละประเทศแล้ว ยังมีความช่วยเหลือจากประชาชนทั่วโลกหลั่งไหลสู่ชาวยูเครนอย่างต่อเนื่องผ่านองค์กรระดับนานาชาติต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ), กาชาดสากล (ไอซีอาร์ซี), มูลนิธิเซฟเดอะชิวเดรน, การบริจาคเงินผ่านข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) หรือแม้กระทั่งการบริจาคเงินผ่านสถานเอกอัครราชทูตยูเครนในประเทศต่างๆ โดยตรง

ขณะที่คนดังหลายๆ คนไม่ว่าจะเป็นดาราดังอย่าง ไรอัน เรย์โนลด์ และเบลค ไลฟ์ลี, แองเจลินา โจลี, แอชตัน คุชเชอร์ และคนดังในอีกหลายวงการ ที่ร่วมรณรงค์และบริจาคเงินให้องค์การกรกุศลเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวยูเครนอย่างมากมายด้วย

ขณะที่การบริจาคเงินให้กับหน่วยงานองค์กรการกุศลต่างๆ เป็นวิธีแบบดั้งเดิม การช่วยเหลือชาวยูเครนยังใช้เทคโนโลยีเป็นช่องทางใหม่ในการให้ความช่วยเหลือชาวยูเครนด้วย

อาทิ ความช่วยเหลือด้านที่พัก Airbnb แอพพลิเคชั่นให้บริการเช่าห้องพักชื่อดังก็ให้ความช่วยเหลือผ่าน Airbnb.org องค์กรไม่แสวงหากำไรของ Airbnb ที่เสนอห้องพักจำนวนมากถึง 100,000 ห้อง ให้กับผู้ลี้ภัยสงครามจากประเทศยูเครน

นอกจากนี้ Airbnb ยังเป็นช่องทางส่งเงินช่วยเหลือชาวยูเครนในแบบที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ โดยคนใจบุญต่างหลั่งไหลจองห้องพักในประเทศยูเครนจำนวนมากกว่า 60,000 คืน โดยตั้งใจไม่เข้าพัก เพื่อเป็นรายได้ให้กับเจ้าของห้องพักที่เป็นชาวยูเครนโดยตรง ขณะที่เงินเหล่านี้เจ้าของห้องยังสามารถไปช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่เป็นผู้สูงอายุ เด็กและผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสงครามได้ด้วย โดยล่าสุดเงินค่าห้องพักถูกส่งให้เจ้าของห้องพักชาวยูเครนรวมแล้วถึง 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 65 ล้านบาทแล้ว

นอกจากนี้ยังมีชายชาวรัสเซียตั้งเว็บไซต์ Relocation.Ge เพื่อช่วยชาวยูเครนผู้ลี้ภัยหาที่พักพิงในประเทศจอร์เจีย ด้วยการเป็นสื่อกลางระหว่างชาวยูเครนและเจ้าของที่พัก โดยมีบริการให้คำปรึกษาจากแพทย์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย

ขณะที่ในโปแลนด์ มีการตั้งกลุ่มในสื่อโซเชียลมีเดียที่เสนอความช่วยเหลือทั้งที่พัก เงินทุน และการเดินทางให้กับชาวยูเครนด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Ukraine, Im helping you! และ Host a Sister เป็นต้น

อูเบอร์ แอพพลิเคชั่นบริการรถโดยสารชื่อดัง เปิดบริการรับส่งฟรีแบบไม่จำกัดครั้งให้กับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนที่ลี้ภัยสู่ประเทศโปแลนด์ โดยบริการรับส่งระหว่างด่านชายแดนยูเครน-โปแลนด์ไปยังเมืองต่างๆ ในประเทศโปแลนด์ได้

นอกจากนี้ยังเพิ่มปุ่มรับบริจาคให้กับไรเดอร์ชาวอเมริกัน ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชาวยูเครนโดยตั้งเป้าเอาไว้ที่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเตรียมขยายฟีเจอร์นี้ไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในเร็วๆ นี้ด้วย

สกุลเงินดิจิทัลเป็นอีกเทคโนโลยีที่คนทั่วโลกใช้ส่งความช่วยเหลือให้ยูเครน ล่าสุดผู้ถือครองสกุลเงินดิจิทัลโอนคริปโทเคอร์เรนซีสู่กระเป๋าเงินดิจิทัลที่เปิดรับบริจาคในยูเครนแล้ว มูลค่าถึง 54 ล้านดอลลาร์สรัฐ หรือราว 1,764 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้เป็นคริปโทเคอร์เรนซี อย่างบิทคอยน์, อีเธอเรียม และสเตเบิลคอยน์ต่างๆ ถูกส่งให้รัฐบาลยูเครน และองค์กร Come Back Alive องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ให้ความช่วยเหลือกองทัพยูเครนด้วย ขณะที่ กาวิน วู้ด ผู้ก่อตั้งคริปโทเคอร์เรนซี โพลกาด็อต ยังบริจาคคริปโทเคอร์เรนซีมูลค่า 5.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 189 ล้านบาท ให้รัฐบาลยูเครนด้วยเช่นกัน

สเปซเอ็กซ์ บริษัทผู้ให้บริการขนส่งทางอวกาศยักษ์ใหญ่ของ อีลอน มัสก์ ก็เข้ามามีส่วนช่วยให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในยูเครนที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของกองทัพรัสเซีย ด้วยการส่งตัวรับสัญญาณอินเตอร์เน็ต และให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมด้วยบริการของ Starlink ในช่วงเวลาที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตในยูเครนถูกตัดขาด

นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธารน้ำใจที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศยูเครนอย่างเป็นรูปธรรม นอกเหนือไปจากการแสดงออกต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย ทั้งผ่านสื่อโซเชียลมีเดียหรือการออกไปเดินขบวนประท้วง

ความช่วยเหลือไม่ว่าจะรูปแบบใดที่หลั่งไหลสู่ยูเครนครั้งนี้ เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่า โลกใบนี้ยังมีคนอีกมากที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และพร้อมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ต้องเจอกับความยากลำบาก

นั่นอาจจะเป็นแสงสว่างเล็กๆ ที่ทำให้สันติภาพเกิดขึ้นได้ในวันใดวันหนึ่ง

เป็นวันเวลาที่สงบสุขซึ่งคนทั้งโลกอยากให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image