โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : ย้อนรอยอุบัติเหตุเครื่องบินโดยสารตก

โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : ย้อนรอยอุบัติเหตุเครื่องบินโดยสารตก

ย้อนดูประวัติศาสตร์อุบัติเหตุเครื่องบินโดยสารตก จากหลายสาเหตุ เช่น เครื่องยนต์ที่ไม่พร้อม หรือเป็นความผิดพลาดของมนุษย์ หลังเกิดเหตุเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ของสายการบินไชน่า อีสเทอร์น เที่ยวบินที่เอ็มยู5735 ประสบอุบัติเหตุตกที่เมืองอู๋โจว ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ระหว่างเดินทางออกจากคุนหมิงไปยังกวางโจว พร้อมด้วยผู้โดยสารและลูกเรือ 132 คน

เที่ยวบิน 123 สายการบินเจแปนแอร์ไลน์

12 สิงหาคม 1985 เครื่องบินโบอิ้ง 747เอสอาร์ ของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ เที่ยวบิน 123 ออกเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว สู่ท่าอากาศยานนานาชาติโอซากะ (อิตามิ) ประเทศญี่ปุ่น แต่หลังจากขึ้นบินได้เพียง 12 นาที ก็เกิดการระเบิดบริเวณแผงกั้นปรับความดันอากาศท้าย ที่ท้ายลำตัวเครื่อง ทำให้เครื่องสูญเสียความดันอย่างรุนแรง ระบบไฮดรอลิกในการควบคุมเครื่องมีปัญหา และทำให้แพนหางดิ่งฉีกขาดไป ส่งผลให้ไม่สามารถเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้ นักบินพยายามวิทยุขอความช่วยเหลือไปที่หอบังคับการบินโตเกียวเพื่อลงจอดฉุกเฉิน และได้ขอความช่วยเหลือไปยังฐานทัพอากาศของสหรัฐที่เมืองโยโกตะ ซึ่งอยู่ใกล้มากที่สุด แต่การเลี้ยวเครื่องเป็นไปอย่างยากลำบาก จนสุดท้ายเครื่องเสียการทรงตัว เพดานการบินลดต่ำลง แม้นักบินจะพยายามเชิดหัวขึ้นก็ไม่เป็นผล จนสุดท้ายได้พุ่งชนเข้ากับภูเขาโอซุทากะ ในจังหวัดกุมมะ ทั้งนี้ระยะเวลาตั้งแต่เกิดการระเบิดจนถึงการพุ่งชนภูเขาอยู่ที่ 32 นาที นั่นทำให้บรรดาผู้โดยสารบนเครื่องสามารถเขียนจดหมายสั่งเสียถึงครอบครัวได้ หลังจากเครื่องบินตกหน่วยกู้ภัยได้เจอข้อความเหล่านั้นซึ่งบรรดาผู้โดยสารที่เสียชีวิตไปแล้วเก็บไว้อย่างดี ปัจจุบันข้อความเหล่านั้นถูกจัดแสดงอยู่ในศูนย์ยกระดับความปลอดภัยของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ที่ท่าอากาศยานโตเกียว (ฮาเนดะ) ในเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 520 คน แบ่งเป็นผู้โดยสาร 505 คน และลูกเรืออีก 15 คน นอกจากนี้มีผู้รอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์ 4 คน ทั้งนี้ด้วยการปฏิเสธความช่วยเหลือจากกองกำลังสหรัฐ ซึ่งอยู่ที่ฐานทัพอากาศโยโกฮาม่า และความล่าช้าในการกู้ภัยของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ทำให้เหลือผู้รอดชีวิตเพียง 4 คน เนื่องจากผู้โดยสารหลายคนเสียชีวิตจากอาการช็อก การบาดเจ็บและการต้องนอนกลางแจ้งบนภูเขา หากญี่ปุ่นยอมให้กองทัพสหรัฐเข้าช่วยเหลือในทันที ไม่ต้องรอจนเช้าอีกวัน ก็คงไม่ต้องมีผู้เสียชีวิตมากขนาดนี้ ส่วนสาเหตุของอุบัติเหตุเกิดจากแผงกั้นที่เกิดระเบิดมีความไม่สมบูรณ์อยู่แล้วจากการกระแทกที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และการซ่อมแซมไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จึงทำให้เครื่องอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ หลังจากเหตุการณ์นี้สายการบินต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตมากถึง 780 ล้านเยน (214 ล้านบาท) ประธานสายการบินลาออก และผู้จัดการฝ่ายซ่อมบำรุงได้ฆ่าตัวตายเพื่อชดใช้ความผิด นับเป็นเหตุการณ์เครื่องบินโดยตกที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์

เที่ยวบิน 981 สายการบินเตอร์กิชแอร์ไลน์

Advertisement

3 มีนาคม 1974 เครื่องบินแมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-10 ของสายการบินเตอร์กิชแอร์ไลน์ เที่ยวบิน 981 มีกำหนดเดินทางออกจากท่าอากาศยานอิสตันบูล อาตาเติร์ก นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ก่อนจะหยุดพักที่ท่าอากาศยานออร์ลี กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และมุ่งไปยังท่าอากาศยานลอนดอน ฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างบินเกิดเหตุสลักปิดประตูห้องสัมภาระหลุดออกมา เพราะผู้จัดเก็บสัมภาระปิดที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากคำแนะนำที่มีให้เป็นภาษาอังกฤษและตุรกี แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้พูดสองภาษานี้จึงทำให้เข้าใจผิด หลังจากประตูเปิด ความดันอากาศในห้องโดยสารลดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้สายไฟสำคัญซึ่งจำเป็นต่อการควบคุมเครื่องบินขาด ก่อนจะตกลงที่ป่าเออร์เมนงวิลล์ แคว้นอวซ ประเทศฝรั่งเศส ในเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 346 คน แบ่งเป็นผู้โดยสาร 334 คนและลูกเรือ 12 คน น่าเศร้าที่ไม่มีผู้รอดชีวิตเลย อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ทำให้ประตูห้องสัมภาระเปิดนอกจากเป็นเพราะการปิดที่ไม่ถูกต้องและก็ยังเป็นผลมาจากการออกแบบด้วย หลังจากเหตุการณ์นี้ สลักที่ล็อกได้รับการออกแบบใหม่ และระบบล็อกได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น นี่เป็นอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่เลวร้ายที่สุดของประเทศฝรั่งเศส

เที่ยวบิน 191 สายการบินอเมริกันแอร์ไลน์

25 พฤษภาคม 1979 เครื่องบินแมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-10 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ เที่ยวบิน 191 เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติโอแฮร์ ในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอย มุ่งสู่ท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส ในเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หลังจากที่เครื่องกำลังทะยานขึ้นจากรันเวย์ เครื่องบินก็สูญเสียการควบคุม เนื่องจากเครื่องยนต์ที่ 1 ซึ่งอยู่ด้านซ้ายหลุดออกจากปีก และชิ้นส่วนไพลอนหลุดออก ในระดับความสูง 300 ฟุต เหนือพื้นรันเวย์ ก่อนที่เครื่องจะเลี้ยวซ้ายทำมุมตั้งฉากเหนือพื้นดิน หมุน และกระแทกกับพื้นยาวออกไป 1,435 เมตรจากสุดทางรันเวย์ สาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนี้เกิดจากกระบวนการบำรุงรักษาที่ไม่เหมาะสมของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตยกลำ 273 คน โดยแบ่งเป็นผู้โดยสาร 258 คน ลูกเรือ 13 คนและคนบนพื้นดินที่อยู่ใกล้กับจุดที่เครื่องบินตกอีก 2 คน นับเป็นอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่เลวร้ายที่สุดของสหรัฐ

Advertisement

เที่ยวบิน 2120 สายการบินไนจีเรียแอร์เวย์

11 กรกฎาคม 1991 เครื่องบินดักลาส ดีซี-8-61 ของสายการบินไนจีเรียแอร์เวย์ เที่ยวบิน 2120 เครื่องบินเช่าเหมาลำที่ออกเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติคิงอับดูลาซิซ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ไปยังท่าอากาศนานาชาติซาดิก อาบูบาการ์ที่ 3 เมืองโซโกโต ประเทศไนจีเรีย หลังจากขึ้นบินได้ไม่นานก็เกิดไฟไหม้ขึ้น และตกลงขณะที่พยายามจะลงจอดฉุกเฉิน ขณะเกิดเหตุ ลูกเรือไม่ทราบว่าเครื่องมีปัญหา เพราะมีการรายงานปัญหาหลังจากเครื่องออกไปแล้ว ก่อนจะเกิดไฟไหม้ในพื้นที่ซึ่งไม่มีระบบเตือนภัยไฟไหม้ จึงส่งผลกระทบต่อเครื่องหลายส่วน และทำให้แรงดันล้มเหลวอย่างรวดเร็ว แต่ลูกเรือกลับได้รับการแจ้งเตือนที่ฟังไม่ขึ้น ว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ทั้งนี้เพื่อรับมือกับแรงดัน นักบินตัดสินใจที่จะอยู่ที่ความสูง 2,000 ฟุตแต่เที่ยวบินถูกเคลียร์ไปที่ 3,000 ฟุต อันเป็นผลมาจากการที่ผู้ควบคุมเข้าใจผิดว่าเที่ยวบิน 2120 เป็นของซาอุดีอาระเบียที่รายงานปัญหาเรื่องแรงดันอากาศ ในเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตยกลำ 261 คน แบ่งเป็นผู้โดยสาร 247 คน และลูกเรืออีก 14 คน

ทุกอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น สอนให้มนุษย์แก้ไขข้อบกพร่องเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์เครื่องบินตกครั้งล่าสุด ยังไม่สามารถหาสาเหตุของอุบัติเหตุได้ แต่คาดว่าคงใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากทีมกู้ภัยของจีนพบกล่องดำกล่องที่ 1 ซึ่งบันทึกเสียงสนทนาในห้องนักบินแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image