สานต่อพระราชปณิธานการเสด็จฯ ร.9 และพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เยือนธากาและจิตตะกอง ปี 2505

สานต่อพระราชปณิธานการเสด็จฯ
ร.9 และพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เยือนธากาและจิตตะกอง ปี 2505

สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศเป็นประเทศมุสลิมที่มีชุมชนชาวพุทธอยู่ประมาณกว่าล้านคนและ
มีวัดตั้งอยู่ในหลายเมือง วัดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ คือ วัดธรรมราชิกพุทธมหาวิหาร (วัดธรรมราชิกา) ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟกมลาปูร์ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟหลักประจำเมือง ผู้มาเยือนทุกคนที่เดินเข้าไปในอาคารหลักของวัดธรรมราชิกพุทธมหาวิหาร จะต้องเดินผ่านระเบียงที่ประดับด้วยภาพถ่ายพระเถระและบุคคลสำคัญมากมาย หนึ่งในนั้นเป็นภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปยังวัดแห่งนี้เมื่อปี 2505 และเป็นภาพที่เจ้าหน้าที่ของวัดเชิญชวนคนไทยทุกคณะที่ไปวัดให้ได้ชื่นชมด้วยความภาคภูมิใจ

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นซึ่งครบ 60 ปี ในปีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จ ฯ เยือนกรุงธากา
และเมืองจิตตะกอง ระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม 2505 เมื่อครั้งที่สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศยังเป็น
ส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ในฐานะปากีสถานตะวันออก

การเยือนในระดับประมุขประเทศเป็นการแลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรีและความปรารถนาดีระหว่างประชาชน
ทั้งสองประเทศในระดับสูงสุด ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ทรงงานในประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์กับมิตรในต่างแดน และได้เสด็จฯ เยือนต่างประเทศกว่า 30 ประเทศ ในช่วงระหว่างปี 2502-2513

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงครองราชย์เมื่อปี 2489 ขณะทรงเจริญพระชนมพรรษา 18 พรรษา พระองค์ก็ไม่ได้เสด็จ ฯ ไปต่างประเทศอีกเลย กระทั่งเมื่อปี 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (ซึ่งในขณะนั้นเป็นประเทศเวียดนามใต้) อย่างเป็นทางการเป็นประเทศแรก หลังจากนั้น ได้เสด็จฯ เยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปอีกหลายประเทศ รวมถึงได้เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานในปี 2505 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หมายกำหนดการได้รวมถึงการเสด็จฯ เยือนกรุงธากาและเมืองจิตตะกองในฝั่งปากีสถานตะวันออก นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นอาคันตุกะในดินแดนที่ในเวลาต่อมาเป็นสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

Advertisement

อย่างไรก็ดี พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้เสด็จฯ เยือนแผ่นดินเบงกอล ซึ่งหมายถึงดินแดนของชาวเบงกาลีที่ในปัจจุบันครอบคลุมบังกลาเทศและรัฐเบงกอลตะวันตกในอินเดีย คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐอินเดียเมื่อปี 2414 โดยเริ่มต้นที่เมืองโกลกาตา ในเวลานั้น บังกลาเทศและรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียยังรวมกันเป็นรัฐเบงกอลที่มั่งคั่งในฐานะอาณานิคมอังกฤษ โดยมีโกลกาตาเป็นเมืองหลวง ก่อนที่จะถูกอังกฤษแบ่งเป็นสองส่วนเมื่อปี 2448 กลายเป็นเบงกอลตะวันตกและเบงกอลตะวันออก ทั้งโกลกาตาและธากาต่างเป็นเมืองสำคัญของเบงกอล ประชาชนใช้ภาษาเบงกาลีเช่นเดียวกัน

ทางการปากีสถานตะวันออกได้จัดเตรียมหมายกำหนดการ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพบปะและมีพระราชปฏิสันถารกับผู้คนหลากหลายกลุ่ม และขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปยังสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น สวนสาธารณะ Ramna ซึ่งมีชาวเมืองธากาเฝ้าฯ รับเสด็จเป็นจำนวนมาก และที่หน้าศาลาว่าการเมืองจิตตะกอง ก็มีชาวเมืองจิตตะกองเฝ้าฯ รับเสด็จเป็นจำนวนมากเช่นกัน รวมทั้งได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโรงงานทอกระสอบ Adam Jute Mills ซึ่งเป็นโรงงานกระสอบที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น และประทับเรือพระที่นั่ง Mary Anderson จากโรงงานดังกล่าวไปยังเมืองนารายณคันช์

Advertisement

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงบันทึกไว้ว่าทางการบังกลาเทศได้จัดงานเลี้ยงรับรองถวาย
ที่ดาดฟ้าของเรือพระที่นั่ง Mary Anderson ซึ่งเป็นเรือไม่มีเครื่องยนต์ จึงต้องใช้เรือยนต์ M.V. Mary ลากจูง นอกจากนี้ ก่อนที่จะประทับเรือพระที่นั่ง Mary Anderson ทางการบังกลาเทศได้นำปลาที่พบได้ชุกชุมในเบงกอล อาทิ ปลากะพง และปลาดุก มาจัดแสดงให้ทอดพระเนตรถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลด้วย

ปัจจุบันนี้ นอกจากภาพถ่ายแล้ว ก็ยังคงเหลือสถานที่ไม่กี่แห่งและสิ่งของไม่กี่ชิ้นจากการเสด็จฯ
ในครั้งนั้น ที่ยังคงอยู่ในสภาพเดิม ทั้งโรงงานกระสอบ Adamjee Jute Mills และเรือพระที่นั่ง Mary Anderson ต่างเหลือแต่ชื่อไว้เป็นอนุสรณ์ โรงงานดังกล่าวถูกยึดเป็นของรัฐและประสบปัญหาขาดทุนจนต้องปิดกิจการเมื่อปี 2545 ต่อมากลายเป็นที่ตั้งของเขตส่งเสริมการส่งออก Adamjee Export Processing Zone ส่วนเรือพระที่นั่ง Mary Anderson รัฐบาลได้มอบให้แก่บริษัท Bangladesh Parjatan Corporation ซึ่งเป็นวิสาหกิจด้านท่องเที่ยวของรัฐ ใช้เป็นภัตตาคารลอยน้ำตั้งแต่เมื่อปี 2521 จนกระทั่งเรือถูกไฟไหม้ในปี 2557

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญเหนือวัตถุใดๆ ก็คือ มิตรภาพที่ยั่งยืนและความเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งได้รับการบ่มเพาะและทำนุบำรุงมาตั้งแต่เมื่อครั้งการเสด็จฯ เยือนดังกล่าว ต่อเนื่องถึงเมื่อสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศเป็นเอกราชและสืบทอดจนถึงปัจจุบัน สามสิบปีภายหลังจากการเสด็จฯ ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2535 ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติหลายแห่งทั่วประเทศ ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศมาแล้ว 3 ครั้ง ทรงมีโครงการความร่วมมือกับบังกลาเทศด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน และด้านการเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร เมื่อปี 2561 ได้ทรงเปิดศูนย์สาธิตและประชาสัมพันธ์การปลูกหญ้าแฝกที่เมืองจิตตะกอง ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันปัญหาดินถล่ม

ในขณะเดียวกัน ทางการบังกลาเทศได้สนับสนุนโครงการในพระราชดำริในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยเมื่อปี 2553 รัฐบาลบังกลาเทศได้น้อมเกล้าฯ ถวายแพะพันธุ์แบล็ก เบงกอล จำนวน 3 ตัวแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้พระราชทานให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงนำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ เพื่อนำลูกแพะไปแจกให้แก่ชาวบ้านเลี้ยงเป็นรายได้เสริมต่อไป โครงการประสบความสำเร็จด้วยดีและสามารถแจกแพะพันธุ์แบล็ก เบงกอลนับร้อยตัวแก่ครอบครัวต่างๆ ได้โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ

ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ประชาชนชาวธากา ที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ ที่สวนสาธารณะ Ramna สรุปได้ว่า
กรุงธากางดงามสมคำสรรเสริญของนักเดินทางทั้งหลายที่ขนานนามให้เป็น “เมืองราชินีแห่งบูรพทิศ” โดยทรงเชื่อมั่นอย่างแน่แท้ว่าความเคารพนับถือระหว่างกันจะนำไปสู่การเสริมสร้างสายสัมพันธ์ที่แนบแน่น
ระหว่างทั้งสองประเทศสืบไป

หกสิบปีหลังจากที่ทรงมีพระราชดำรัสข้างต้น ความทรงจำของบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจจะเลือนรางหายไป
ตามกาลเวลา แต่ผลแห่งความเจริญงอกงามของการเสด็จฯ เยือนเมื่อปี 2505 ยังดำรงอยู่อย่างมั่นคง
ทั้งยังได้สร้างคุณูปการแก่สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับบังกลาเทศอย่างไม่สิ้นสุด เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การเสด็จฯ เยือนในระดับประมุขประเทศ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้บรรลุผลก่อให้เกิดความร่วมมือใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ เมื่อปี2515 หรือสิบปีให้หลังจากการเสด็จฯ ในครั้งนั้น ปากีสถานตะวันออกได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราช ในนามสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ และประเทศไทยก็เป็นประเทศแรกๆ ที่รับรองบังกลาเทศเป็นประเทศอิสระ ซึ่งได้เจริญความสัมพันธ์ที่งอกงามมาจนถึงปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image