ศรีลังกาเริ่มแล้ว ตัดไฟทั่วปท. วันละ 10 ชม. ขณะเผชิญวิกฤตขาดแคลนพลังงานหนัก

เอเอฟพี

ศรีลังกาเริ่มแล้ว ตัดไฟทั่ว ปท.วันละ 10 ชม. ขณะเผชิญวิกฤตขาดแคลนพลังงานหนัก

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ศรีลังกา ประเทศที่มีประชากรราว 22 ล้านคน ได้เริ่มทำการตัดไฟทั่วประเทศวันละ 10 ชั่วโมงแล้ว อันเป็นมาตรการประหยัดพลังงานครั้งประวัติการณ์ เนื่องจากขาดแคลนไฟฟ้าพลังน้ำ ท่ามกลางเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดนับจากศรีลังกาได้รับเอกราชในปี 1948 เหตุจากขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่จะนำไปชำระการนำเข้า ที่ทำให้เกิดขาดแคลนพลังงานอย่างหนักตามมาด้วย

บริษัทไฟฟ้าของรัฐบาลศรีลังการะบุว่า การตัดไฟวันละ 10 ชั่วโมงจากนี้ เพิ่มขึ้นจากการดับไฟวันละ 7 ชั่วโมงก่อนหน้านี้นับจากต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีน้ำมันที่จะใช้สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

เอเอฟพี

กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในศรีลังกามากกว่า 40% ผลิตจากพลังงานน้ำ แต่แหล่งน้ำส่วนใหญ่กำลังเหือดแห้งอยู่ในระดับอันตราย เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมา ขณะที่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ของศรีลังกามาจากพลังงานถ่านหินและน้ำมันที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ขาดแคลนเนื่องจากศรีลังกาไม่มีเงินตราต่างประเทศเพียงพอที่จะจ่ายเพื่อซื้อเชื้อเพลิงดังกล่าว

ด้านบริษัทซีลอน ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น (ซีพีซี) ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกน้ำมันรายใหญ่ของภาครัฐ ประกาศว่า จะไม่มีน้ำมันดีเซลในประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย 2 วัน และประกาศให้ผู้ขับขี่ซึ่งเข้าคิวรอเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันต่างๆ ให้กลับไปและค่อยกลับมาใหม่หลังจากมีการนำเข้าน้ำมันดีเซลมาแล้วเท่านั้น

Advertisement
เอเอฟพี

ราคาน้ำมันในศรีลังกามีการปรับขึ้นบ่อยตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยราคาน้ำมันเบนซินขึ้นไปแล้ว 92% และน้ำมันดีเซล 76% ขณะที่รัฐบาลใช้เวลา 12 วันในการหาเงินจำนวน 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจ่ายค่าขนส่งก๊าซแอลพีจีและน้ำมันก๊าดครั้งล่าสุด

ศรีลังการยังสั่งห้ามการนำเข้าจากต่างประเทศมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2020 เพื่อเก็บรักษาเงินตราต่างประเทศที่จำเป็นเอาไว้ในการใช้ชำระหนี้ต่างประเทศที่มีมูลค่า 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งนี้นำไปสู่การขาดแคลนสินค้าจำเป็นและทำให้ราคาสินค้าในประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

โรงพยาบาลหลายแห่งยังหยุดการผ่าตัดทั่วไปและซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ยังถูกบังคับให้ปันส่วนสินค้าอาหารหลักในการจำหน่าย เช่น ข้าว น้ำตาล และนมผง

Advertisement

ขณะที่รัฐบาลศรีลังกากำลังขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และขอเงินกู้เพิ่มเติมจากอินเดียและจีน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image