โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : วิกฤตยูเครนซ้ำปัญหาโลกให้เลวร้ายลง

โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : วิกฤตยูเครนซ้ำปัญหาโลกให้เลวร้ายลง

การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ไม่ได้สร้างความสูญเสียทางชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบต่อเม็ดเงินในกระเป๋าคนทั่วโลกต่อเนื่องไปด้วย เมื่อสงครามเกิดขึ้นพืชผลจากยูเครนก็ไม่สามารถส่งออกไปขายหล่อเลี้ยงชาวยุโรปได้ ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น นอกจากนี้สงครามก็ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อปัจจัยการผลิตและราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นก็ส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภคสูงขึ้นตามกันไป บัดนี้ชาวโลกกำลังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสงคราม ซึ่งไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด

ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น

ราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นหนึ่งในผลจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในขณะนี้ หากมองย้อนไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1 วันก่อนหน้าการบุกเข้าโจมตียูเครนของรัสเซีย จะพบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะอยู่ที่ 92.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น ก่อนจะพุ่งขึ้นไปแตะ 119.40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันที่ 7 มีนาคม ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบปี อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์อาจดูไม่ได้แตกต่างมากเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ล่าสุดในวันที่ 8 เมษายน ซึ่งอยู่ที่ 97.22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีการประกาศจากสหรัฐอเมริกาว่า จะปล่อยน้ำมันสำรองจากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐวันละ 1 ล้านบาร์เรลติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และชาติสมาชิกองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) จะร่วมปล่อยน้ำมันด้วยอีก 60 ล้านบาร์เรลใน 6 เดือนข้างหน้า แต่ถ้าเทียบราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันกับราคาเมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อนจะพบว่า แตกต่างกันมากทีเดียว โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2021 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสอยู่ที่ 59.32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น เรียกได้ว่าเพิ่มขึ้นมาเกือบเท่าตัว
แม้สหรัฐและชาติพันธมิตรจะปล่อยน้ำมันในคลังสำรองเพื่อให้ราคาน้ำมันปรับลดลง แต่การแก้ไขปัญหาเช่นนี้เป็นเหมือนการชะลอการขึ้นราคาน้ำมันเท่านั้น ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในตลาดน้ำมันแต่อย่างใด

เงินเฟ้อที่รุนแรงกว่าเดิม

นายอากุสติน การ์สแตนส์ ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกตอนนี้อาจอยู่ตรงขอบของยุคสมัยแห่งเงินเฟ้อยุคใหม่ พร้อมด้วยการเติบโตของราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกาภิวัฒน์ถดถอย และว่า มีความเสี่ยงสูงที่ราคาสินค้าต่างๆจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่อาจควบคุมได้ นอกจากนี้จะไม่มีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมากกว่าแผนที่มีในปัจจุบัน
ในถ้อยแถลงที่กล่าวถึงความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อระดับสูงอย่างต่อเนื่อง นายการ์สเตนส์ระบุว่า ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นอาจต้องใช้เวลาหลายปีในการคุมความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะราคาเพิ่มขึ้นแบบไม่รู้จบ (spiralling prices) ซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาวต่อเศรษฐกิจของโลกอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามการคาดการณ์ดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆเตือนว่า ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอาจสกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจ
ข้อมูลในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า หลายประเทศกำลังมุ่งสู่อัตราเงินเฟ้อถึง 10 เปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันและก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน ในเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ 6.2 เปอร์เซ็นต์ ในสหราชอาณาจักร สูงสุดนับตั้งแต่ช่วงปี 1990 ส่วนในเดือนมีนาคมดัชนีราคาผู้บริโภคในเยอรมนีและสเปนพุ่งถึง 7.3 และ 9.8 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
ธนาคารแห่งชาติอังกฤษกำลังดำเนินการเพิ่มดอกเบี้ยพื้นฐานจากเดิม 0.75 เปอร์เซ็นต์ เป็น 2 เปอร์เซ็นต์ ในปีหน้า หลังจากเพิ่มขึ้นมาจากเดิม 0.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อธันวาคมปีก่อน นอกจากนี้ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐอนุมัติเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.25 เปอร์เซ็นต์จากเดิมที่เกือบศูนย์เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2018 พร้อมทั้งยังมีสัญญาณถึงการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้งในปีนี้
นายการ์สเตนส์ กล่าวว่า แนวโน้มของผู้ผลิตที่จะลดห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกเป็นวงกว้างเพื่อรับมือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และการคว่ำบาตรรัสเซีย หมายความว่าต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นเป็นระยะเวลานานกว่าที่ธนาคารกลางและ นักเศรษฐศาสตร์อิสระในปัจจุบันประมาณการไว้
การศึกษาจากสถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ของเยอรมนี (ดีไอดับเบิลยู) ระบุว่า ราคาน้ำมันที่ขึ้นสูงราว 20 เปอร์เซ็นต์ ในเยอรมนี เมื่อช่วงเดือนมีนาคม จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในเยอรมนีเป็นเวลามากกว่า 2 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อรายปีของเยอรมนีเพิ่มขึ้น 7.3 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ขณะที่ราคาพลังงานเพิ่งสูงขึ้น เนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อส่งผลให้ราคาผู้บริโภคในเยอรมนีสูงขึ้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลามากกว่า 2 ปี แม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงก็ตาม ส่วนผลกระทบของสงครามอย่างการคว่ำบาตร การพัฒนาเศรษฐกิจทั่วไปท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิดไม่ได้ถูกคิดรวมอยู่ในผลการศึกษานี้ อย่างไรก็ตามยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า การคว่ำบาตรทางพลังงานต่อรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อหรือไม่
ทั้งนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่อัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภคพุ่งสูงทำลายสถิติ เช่น ดัชนีผู้บริโภคของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 4.1 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน นับเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 11 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 2.9 เปอร์เซ็นต์นอกจากนี้ยังมีอัตราเงินเฟ้อของตุรกีที่พุ่งขึ้น 61.1 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมีนาคม สูงสุดในรอบ 20 ปี โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 54.4 เปอร์เซ็นต์

ดัชนีราคาอาหารสูงทำลายสถิติเช่นเดียวกัน

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 เมษายนว่า ดัชนีราคาอาหารโลกในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นเกือบ 13 เปอร์เซ็นต์เป็น 159.3 จุด สูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 141.4 จุดซึ่งเป็นสถิติเดิม โดยสงครามในยูเครนส่งผลให้ราคาเมล็ดพืชและน้ำมันพืชเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และน้ำมันดอกทานตะวัน รายสำคัญของโลก โดยส่งออกผ่านทางทะเลดำ
เมื่อเดือนก่อนเอฟเอโอระบุว่า ราคาอาหารและอาหารสัตว์อาจพุ่งไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ จากวิกฤตในยูเครน และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดสารอาหารมากขึ้นด้วย
ด้านดัชนีราคาซีเรียลเพิ่มขึ้น 17 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนมีนาคม สูงเป็นสถิติใหม่เช่นเดียวกัน ขณะที่ดัชนีราคาน้ำมันพืชเพิ่มขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์
การชะงักงันของการส่งออกพืชผลทางการเกษตรจากพื้นที่บริเวณทะเลดำทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นสูงมากขึ้น ซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอ 10 ปี ในขณะที่ราคาน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากนมเพิ่มขึ้นสูงเช่นเดียวกันเมื่อเดือนที่ผ่านมา

Advertisement

แม้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่สงคราม แต่ก็ยังได้รบผลกระทบจากสงคราม นี่คงเป็นอีกด้านหนึ่งของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image