พิษสงครามยูเครน ดันเงินเฟ้อมะกัน มี.ค. พุ่ง 8.5% สูงสุดรอบ 41 ปี

REUTERS

พิษสงครามยูเครน ดันเงินเฟ้อมะกัน มี.ค. พุ่ง 8.5% สูงสุดรอบ 41 ปี

สหรัฐอเมริกาเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1981 หลังอัตราเงินเฟ้อนับถึงสิ้นเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากสงครามในยูเครน ที่ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

ดัชนีราคาผู้บริโภคในสหรัฐ (Consumer Price Index – CPI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 7.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับเป็นการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปีของสหรัฐ ก่อนที่จะเจอกับตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งสูงมากกว่าในเดือนมีนาคม

นอกจากราคาพลังงานแล้ว สหรัฐยังเผชิญปัญหาเรื่องห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง อุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้น บวกกับราคาค่าใช้จ่ายต่างๆ ตั้งแต่ค่าเช่าบ้าน น้ำมัน และอาหารที่พากันปรับตัวสูงขึ้น สร้างความยากลำบากให้กับชาวอเมริกันที่มีรายได้น้อย และถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายน เพื่อหาทางรักษาเสียงข้างมากในรัฐสภาเอาไว้

ก่อนหน้านี้ เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว ออกมาเตือนว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมของสหรัฐจะปรับสูงขึ้นเป็นพิเศษเนื่องจากการบุกยูเครนโดยรัสเซีย ทำให้ราคาก๊าซในประเทศพุ่งสูงขึ้นเป็น 4.11 ดอลลาร์ต่อแกลลอน จาก 2.86 ดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image