คอลัมน์ People In Focus : บริดเจต บริงค์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเครนคนใหม่

คอลัมน์ People In Focus : บริดเจต บริงค์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเครนคนใหม่

บริดเจต บริงค์ นักการทูตหญิงประสบการณ์สูงได้รับการเสนอชื่อจากโจ ไบเดน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน แม้ว่าในเวลานี้สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงก็ตาม

คุณแม่ลูก 2 ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศสโลวาเกีย หากได้รับการลงมติโดยวุฒิสภาสหรัฐ จะเข้าไปนั่งในตำแหน่งที่ว่างลงตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

บริงค์ พูดได้หลากหลายภาษารวมถึงภาษารัสเซีย เริ่มทำงานในกระทรวงต่างประเทศในปี 1996 เริ่มทำงานในตำแหน่งนักการทูตในกรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบียเป็นที่แรก

บริงค์ เคยทำงานในหลายบทบาทให้กับกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ทำงานให้กับโต๊ะไซปรัส รวมไปถึงตำแหน่งรองผู้อำนวยการกิจการยุโรปใต้ นอกจากนี้ยังเคยทำงานในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ในตำแหน่งผู้อำนวยการภูมิภาคอีเจียนและคอเคซัสใต้ ด้วย

Advertisement

บริงค์ เคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าสำนักงานที่สถานเอกอัครราชทูตในกรุงทบิลีซี ประเทศจอร์เจีย ในปี 2011-2014 และเคยทำงานในกรุงทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถานด้วยเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะกลับมาทำงานเป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้กับกรมกิจการยุโรปและยูเรเซีย ในกระทรวงต่างประเทศ รับผิดชอบเกี่ยวกับยุโรปตะวันออกและภูมิภาคคอเคซัส ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐจะแต่งตั้งให้บริงค์ ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสโลวาเกีย ในปี 2019

บริงค์ ผู้ที่มีสามีเป็นนักการทูตที่เดินทางไปทั่วโลกเช่นกัน เคยระบุไว้ในการรับตำแหน่งครั้งนั้นว่าตนมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับประเทศในภูมิภาค “ทรานสแอตแลนติก” โดยเล่าถึงการเป็นนักศึกษาในลอนดอนในช่วงเวลาที่กำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลงในปี 1998 รวมไปถึงต้นตระกูลฝั่งสามีที่เคยมีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2

ขณะที่คุณปู่ของตนอย่าง โดนัลด์ บลิงค์ ก็เคยเป็นนายแพทย์ทหารที่ตรวจสุขภาพ นายพลดไวต์ ไอเซนฮาวด์ ผู้มีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ได้ประดับยศพลเอกด้วย

Advertisement

ในช่วงสงครามยูเครน บลิงค์มีบทบาทสำคัญในประเทศสโลวาเกีย ที่มีชายแดนติดกับประเทศยูเครน 60 กิโลเมตร ในการช่วยรับผู้ลี้ภัยสงครามชาวยูเครนจำนวนมาก และได้เห็นภาพอันน่าสลดใจด้วยตาของตนเอง

เดเนียล ฟรายด์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศโปแลนด์ที่รู้จักบลิงค์ เป็นอย่างดีระบุว่า บลิงค์ เป็นคน “ไม่บุ่มบ่ามแต่กล้าหาญ” และเชื่อว่า บลิงค์ กระตือรือร้นที่จะไปดำรงตำแหน่งที่กรุงเคียฟ แม้ว่าจะอันตรายแค่ไหนก็ตาม

จากนี้บลิงค์ มีงานที่ท้าทายรออยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นการสร้างสัมพันธ์กับรัฐบาลยูเครนให้มากขึ้น รวมไปถึงการวางแผนฟื้นฟูประเทศยูเครนขึ้นใหม่ แม้ว่าสงครามจะยังคงดำเนินอยู่ในเวลานี้ก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image