พิษโลกร้อน! วิจัยชี้ปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟส่วนใหญ่ถูกฟอกขาว

พิษโลกร้อน! วิจัยชี้ปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟส่วนใหญ่ถูกฟอกขาว

นักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลออสเตรเลียระบุว่ากว่า 90% ของเกรตแบร์ริเออร์รีฟ แนวหินปะการังที่ยาวที่สุดในโลกที่มีการสำรวจในปีนี้ถูกฟอกขาว ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 7 ปีที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดของโลก

การฟอกขาวก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในปี 2016, 2017 ละ 2020 ทำให้แนวปะการังที่มีชื่อเสียงนอกชายฝั่งด้านตะวันออกของออสเตรเลีย ซึ่งมีความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร และครอบคลุมพื้นที่ถึง 348,000 ตารางกิโลเมตรได้รับความเสียหายถึง 2 ใน 3

เดวิด วาเชนเฟลด์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานที่ดูแลระบบนิเวศของแนวปะการัง กล่าวว่า ปะการังฟอกขาวเพื่อตอบสนองต่อความเครียดจากความร้อน อย่างไรก็ดีนักวิทยาศาสตร์หวังว่าปะการังส่วนใหญ่จะฟื้นตัวจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งบ่งชี้ในระยะแรกคืออัตราการเสียชีวิตของปะการังจะไม่สูงมากนัก

วาเชนเฟลด์กล่าวว่า การฟอกขาวที่เกิดขึ้นในปี 2016 และ 2017 มีการตายของปะการังค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดีในปี 2020 ที่มีการฟอกขาวของปะการังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากแต่มีอัตราการตายต่ำ ซึ่งเราหวังว่าในครั้งนี้ปะการังส่วนใหญ่ที่ฟอกขาวจะฟื้นคืนกลับมาได้

Advertisement

ด้านไซมอน แบรดชอว์ นักวิจัยจาก Climate Council ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทในออสเตรเลียที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชี้ว่า รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการอยู่รอดของแนวปะการังขึ้นอยู่กับการลดการปล่อยมลพิษทั่วโลกในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่น่าหนักใจอย่างยิ่ง เพราะมันแสดงให้เห็นว่าแนวปะการังของออสเตรเลียกำลังประสบปัญหาร้ายแรงจริงๆ

เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา ออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นไม่ให้มีการนำแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟไปบรรจุอยู่ในบัญชีของมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ดีประเด็นดังกล่าวจะกลับมาอยู่ในวาระการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมประจำปีครั้งต่อไป โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาคณะผู้แทนของสหประชาชาติได้เยี่ยมชมแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ เพื่อประเมินว่ามรดกโลกแห่งนี้ควรถูกปรับลดระดับเนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่

Advertisement

การฟอกขาวของแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟกลายเป็นหนึ่งในประเด็นการเมืองที่มีการพูดถึงกันในการเลือกตั้งของออสเตรเลียที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ โดยรัฐบาลพรรคเสรีนิยมภายใต้การนำของนายสกอตต์ มอริสัน ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของออสเตรเลียจาก 26% เป็น 28% จากระดับที่เคยทำในปี 2005 ให้ได้ภายในปี 2030

ขณะที่พรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านสัญญาว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 43% ภายในสิ้นทศวรรษนี้

กลุ่มกรีนพีซออสเตรเลียแปซิฟิกระบุในแถลงการณ์ว่า ขอบเขตของการฟอกขาวครั้งล่าสุดเป็นข้อกล่าวหาที่น่ากลัวอีกประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลของนายมอริสันล้มเหลวในการปกป้องแนวปะการัง และยังทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นด้วยการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image