คอลัมน์ไฮไลต์โลก: หย่าตอนแก่…เพื่อ

คำเปรียบเปรยที่ว่า “อยู่กันก้นหม้อข้าวไม่ทันดำ ก็เลิกกันซะแล้ว” ใช้ไม่ได้กับคู่แต่งงานชาวเกาหลีใต้มากมายหลายคู่ เพราะจากข้อมูลของศาลฎีกาเกาหลีใต้ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆนี้ เปิดเผยให้เห็นว่า เกือบ 1 ใน 3 ของคู่แต่งงานที่หย่าร้างกันในขณะนี้ ใช้ชีวิตอยู่กิน เรียนรู้กันมาเป็นเวลาอย่างน้อยกว่า 20 ปีแล้ว การตัดสินใจหย่าขาดจากกัน ถือเป็นการตัดสินใจบนวุฒิภาวะที่บริบูรณ์แล้ว

ข้อมูลของศาลฎีกาเกาหลีใต้ระบุว่า ในปี 2015 ที่ผ่านมา มีคู่สามีภรรยาที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานานกว่า 20 ปี ทำการหย่าร้างกันจำนวน 32,626 คู่ คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของคู่สามีภรรยาทั้งหมดที่มาจดทะเบียนหย่าในปีที่แล้ว

อัตราการหย่าร้างของคู่สามีภรรยาที่อยู่กินกันมานานกว่า 20 ปีเช่นนี้ ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของการหย่าร้างของคู่แต่งงานทั้งหมดในปี 2007 และในปี 2012 อัตราการหย่าร้างของคู่สามีภรรยากลุ่มนี้ ยังมีมากกว่าคู่สามีภรรยาที่ใช้ชีวิตแต่งงานมายังไม่ถึง 4 ปีด้วย

แน่นอนว่าการหย่าร้างของพ่อแม่ ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ต่อผู้เป็นลูก โดยเฉพาะหากลูกยังเล็กที่อาจยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอที่จะเข้าใจในการตัดสินใจแยกทางกันเดินของผู้เป็นพ่อเป็นแม่ได้

Advertisement

ส่วนผู้เป็นลูกของคู่สามีภรรยาที่ใช้ชีวิตด้วยกันมานานแต่ตัดสินใจแยกทางกันในห้วงบั้นปลายชีวิต ย่อมจะรับมือกับการตัดสินใจดังกล่าวของพ่อแม่ได้ดีกว่า ด้วยความที่พ่อแม่เลิกรากันในช่วงวัยที่พวกเขามีวุฒิภาวะมากพอที่จะรับรู้เข้าใจเหตุผลของพ่อแม่แล้ว

เช่นพนักงานบริษัทวัย 33 ปีรายหนึ่งบอกว่า เขาเคารพการตัดสินใจของพ่อแม่ แต่สำหรับตัวเขา นั่นเป็นการตัดสินใจที่ทำให้เขาต้องคิดอะไรให้มากขึ้น เพราะไม่เพียงตัวเขาที่จะมีพ่อ แม่ และแม่เลี้ยงเพิ่มเข้ามาอยู่ในความสัมพันธ์ของความเป็นครอบครัวเท่านั้น แต่สิ่งนี้ยังทำให้ตัวเขาต้องให้ทั้งเวลาและใช้เงินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณในการดูแลบุพการีที่อยู่แยกกัน

โชซอน อิลโบ สื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำแดนกิมจิ ชี้ว่า แม้อัตราการหย่าร้างในประเทศจะเพิ่มขึ้นให้เห็นเรื่อยๆ ทว่าคนในสังคมส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองต่อผู้หย่าร้างในเชิงลบ สิ่งนี้จึงยังเป็นตัวแปรที่ทำให้คู่สามีภรรยาบางคู่ตัดสินใจที่ชะลอการหย่าร้างเอาไว้ เพื่อรอให้ลูกของตนเองแต่งงานออกไปก่อน พูดง่ายๆก็คือพวกเขากลัวกันว่าปัญหาการหย่าร้างของตนเอง จะกลายเป็นรอยด่างพร้อยของลูกๆ ที่เมื่อจะแต่งงานออกเรือนไป อาจทำให้ครอบครัวฝ่ายเจ้าบ่าวหรือเจ้าสาวอาจไม่ยอมรับครอบครัวของอีกฝ่ายได้

Advertisement

สำหรับผู้ที่หย่าร้างตอนแก่ ส่วนใหญ่ยังพบอีกว่าต่างฝ่ายต่างยังมีความรู้สึกที่ยากจะคงความเป็นเพื่อนกันไว้ได้ หลายคนถึงขั้นตัดขาดการติดต่อกันไปเลย ยกเว้นเมื่อมีการรวมตัวของครอบครัวหรือในวาระอันจำเป็นที่ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้

จริงๆ ชีวิตคู่เป็นเรื่องของคนสองคน ที่หากองค์ประกอบสำคัญของการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ทั้งความรัก ความเข้าใจ การเรียนรู้ การปรับตัว ความอดทนอดออม ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ของคู่ชีวิตเอาไว้ได้อีกต่อไป ก็คงถึงวาระต้องตัดสินใจ เพียงแต่ว่าเมื่อต้องเผชิญกับปัญหานี้ ก็ต้องรับมือผลที่จะเกิดขึ้นตามมาโดยตั้งมั่นอยู่บนหลักเหตุผลและความมีสติ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image