กองทัพไทย-สหรัฐเปิดฉากการฝึกร่วม’การัต’

กองทัพไทย-สหรัฐเปิดฉากการฝึกร่วม’การัต’

กองทัพเรือไทยและสหรัฐอเมริกาเริ่มการฝึกความร่วมมือและความพร้อมทางเรือ หรือ “การัต” (Cooperation Afloat Readiness and Training: CARAT) ประจำปี ครั้งที่ 28 ในวันที่ 23 พฤษภาคม

การฝึกการัตในอ่าวไทยเน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับไทยที่จะทำให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเสรีและเปิดกว้าง ซึ่งสำคัญยิ่งต่อสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพของภูมิภาค

“การฝึกการัตในไทยเป็นเวลา 28 ปีแสดงถึงพันธไมตรีอันยาวนานระหว่างประชาชนไทยและอเมริกัน” นาวาโท ไบรอัน บันเก ผู้บัญชาการประจำเรือ USS Jackson (LCS 6) กล่าว “เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของโอกาสที่จะได้ทำงานร่วมกับกองทัพเรือไทยเพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านความมั่นคงระดับภูมิภาค พร้อมทั้งสร้างเสริมและยกระดับศักยภาพในการทำงานร่วมกัน”

ทั้งสองประเทศจะแสดงถึงขีดความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันผ่านกิจกรรมมากมาย รวมไปถึงยุทธวิธีที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างการสื่อสารขณะเดินเรือร่วมกันโดยใช้ยุทธวิธีการจัดกระบวนเรือที่ซับซ้อน การฝึกยังรวมไปถึงการติดตามเป้าหมายโดยใช้ความตระหนักรู้ทางทะเลด้วยเครื่องบิน P-8 ซึ่งมุ่งเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพเรือในการตามรอยและติดตามเป้าหมายที่อยู่เหนือพิสัยการมองเห็น นอกเหนือไปจากการฝึกค้นหาและกู้ภัย กองทัพเรือของทั้งสองชาติจะได้ฝึกลงจอดเฮลิคอปเตอร์บนเรือของกองทัพเรืออีกฝ่ายด้วย

Advertisement

การแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ชำนาญการเฉพาะเรื่องประกอบไปด้วยกิจกรรมการฝึกร่วมมากมายที่มีเป้าหมายเสริมสร้างขีดความสามารถและองค์ความรู้ ของผู้เข้าร่วม

การฝึกนอกชายฝั่งจะดำเนินการในน่านน้ำอาณาเขตและน่านน้ำสากลใกล้สัตหีบและเกาะสมุย โดยสหรัฐส่งเรือ USS Jackson (LCS 6) และเครื่องบิน P-8A Poseidon ภายใต้กองเรือบัญชาการเฉพาะกิจ (CTF) ที่ 72 เข้าร่วมฝึกกับเรือและอากาศยานจากกองทัพเรือไทยเพื่อมุ่งเสริมสร้างการปฏิบัติการร่วมกันและกระชับความสัมพันธ์ของเรา

กองทัพเรือไทยส่งเรือและอากาศยานเข้าร่วม ได้แก่ เรือฟริเกตจำนวน 3 ลำ คือ เรือหลวงนเรศวร (FFG 421) เรือหลวงบางปะกง (FFG 456) และเรือหลวงกระบุรี (FFG 457) อากาศยาน 1 ลำ คือ S-76B รวมถึงหน่วยฝึกนักประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์

Advertisement

กองทัพเรือไทยเห็นว่าการฝึกนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ ตลอดจนประสบการณ์ของบุคลากรในกองทัพ” พลเรือโท ไพศาล มีศรี รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการกล่าว “ผมมั่นใจว่าทุกกองกำลังที่เข้าร่วมการฝึกจะได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนด้านเทคนิควิชาการ การฝึกภาคฝึก และการฝึกนอกชายฝั่ง

การฝึกการัตจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2538 และต่อยอดจากความร่วมมืออื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินโด-แปซิฟิก โดยในแต่ละครั้งจะประกอบไปด้วยการประชุมสัมมนาระหว่างผู้เชี่ยวชาญ และการฝึกนอกชายฝั่งที่ซับซ้อนทันยุคสมัยเพื่อเสริมสร้างการปฏิบัติการร่วม ทั้งสองช่วงประกอบไปด้วยการพัฒนาศักยภาพทางทะเลที่หลากหลาย ตั้งแต่การฝึกถอดทำลายอมภัณฑ์ การยิงปืนใหญ่โดยใช้เครื่องกระสุนจริง การค้นหาและกู้ภัย การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการตอบสนองต่อภัยพิบัติ

เรือ USS Jackson ซึ่งสังกัดกองเรือพิฆาต (DESRON) ที่ 7 ได้เวียนมาประจำการในพื้นที่ปฏิบัติการของกองเรือที่ 7 เพื่อสนับสนุนความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค ตลอดจนทำงานร่วมกันกับกองทัพเรือของชาติพันธมิตรและหุ้นส่วน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพทางทะเล อันเป็นเสาหลักของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

กองเรือพิฆาตที่ 7 เป็นฝูงเรือพิฆาตส่วนหน้าของกองทัพเรือสหรัฐ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีหน้าที่บัญชาการยุทธวิธีและปฏิบัติการของเรือโจมตีชายฝั่งที่เวียนไปประจำการในสิงคโปร์ อีกทั้งยังเป็นกองเรือบัญชาการรบทางทะเลของชุดจู่โจมโพ้นทะเล (Expeditionary Strike Group) ที่ 7 และทำหน้าที่เสริมสร้างความร่วมมือผ่านการฝึกอบรมและกิจกรรมร่วมกับกองทัพของชาติอื่นๆ อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image