ฮือฮา! งานวิจัยพบ ‘ไทย’ ต้นกำเนิดไก่เลี้ยงแห่งแรกของโลก
หนึ่งในปริศนาทางชีววิทยาเกี่ยวกับต้นกำเนิด “ไก่เลี้ยง” แหล่งโปรตีนสำคัญของโลกถูกไขกระจ่างแล้ว หลังจาก งานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (พีเอ็นเอเอส) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ศึกษาต้นกำเนิดชีววัฒนธรรมและการแพร่กระจายของไก่เลี้ยง พบหลักฐานการเลี้ยงไก่ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกนั้นอยู่ที่ บ้านโนนวัด ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง จัดหวัดนครราชสีมาของไทย
งานวิจัยดังกล่าวค้นพบว่า ไก่นั้นถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ช้ากว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยค้นพบหลักฐานก่อนหน้านี้หลายพันปี และพบว่าเริ่มเกิดขึ้นหลังจากมนุษย์เริ่มเพาะปลูกข้าว อยู่ใกล้กับแหล่งอาศัยของไก่ป่า โดยพบหลักฐานเก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่ที่ บ้านโนนวัด จังหวัดนครราชสีมาของประเทศไทย

ผลวิจัยก่อนหน้านี้ยืนยันว่าไก่ป่าในวงศ์ Gallus gallus มีดีเอ็นเอร่วมกับไก่เลี้ยงในปัจจุบันมากที่สุด ส่งผลให้การศึกษาต้นกำเนิดไก่เลี้ยงมีพื้นที่แคบลง โดยนักวิทยาศาสตร์ในงานวิจัยก่อนหน้านี้ค้นพบฟอสซิลไก่ย้อนกลับไปได้ไกลถึง 8,000-11,000 ปีก่อนในพื้นที่ประเทศจีนและปากีสถาน แต่ก็ยังไม่สามารถเฉพาะเจาะจงถึงต้นกำเนิดไก่เลี้ยงได้
ล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลุดวิกแม็กซิมิเลียน ในเยอรมนี ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ที่เชี่ยวชาญเรื่องชีววิทยาสัตว์เลี้ยง ได้ร่วมกันจัดตั้งทีมนานาชาติ ขึ้นเพื่อศึกษาฟอสซิลไก่จากแหล่งโบราณคดี 600 แห่งใน 89 ประเทศทั่วโลก

ผลการวิจัยพบว่าฟอสซิลไก่เลี้ยงที่เก่าแก่ที่สุดพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด ในจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย พื้นที่ซึ่งชาวนาเริ่มปลูกข้าวตั้งแต่ 3,250-3,650 ปีก่อน โดยในแหล่งโบราณคดีนี้พบว่าชาวนาได้ฝังกระดูกไก่วัยเยาว์ในวงศ์ Gallus จำนวนมากรวมกันสัตว์เลี้ยงอื่นๆในฐานะสิ่งของที่ฝังไปพร้อมกับผู้เสียชีวิตในยุคนั้น
ลักษณะดังกล่าวเป็นหลักฐานที่หนักแน่นว่าสัตว์ปีกเหล่านี้เป็น “ไก่เลี้ยง” ไม่ใช่ “ไก่ป่า” ขณะที่นักวิจัยเสนอว่า เมล็ดข้าวที่ชาวนาปลูกนั้นดึงดูดบรรดาไก่ป่ามายังนาข้าว โดยบรรดาไก่เหล่านี้เริ่มทำรังในพุ่มไม้ใกล้กับนาข้าวและเริ่มคุ้นเคยกับมนุษย์มากขึ้นในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังศึกษากระดูกไก่ทั่วเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา พบความเชื่อมโยงระหว่างการทำนาข้าว ข้าวฟ่าง และธัญพืชอื่นๆ กับการมีอยู่ของไก่เลี่ยง โดยไก่เลี่ยง เริ่มปรากฏขึ้นในตอนเหนือของจีนและอินเดียราว 3,000 ปีก่อน และพบในตะวันออกกลางและแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ ราว 2,800 ปีก่อน โดยการแพร่กระจายของไก่เลี้ยงไปทั่วโลกนั้นเกิดขึ้นช้ากว่าที่งานวิจัยเดิมๆคาดไว้

ขณะที่ไก่ที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปพบในแหล่งโบราณคดีในประเทศอิตาลี ย้อนกลับไปได้ 2,800 ปีก่อน ก่อนที่อีก 1,000 ปีต่อมาไก่นั้นจะกระจ่ายไปสู่อังกฤษ สแกนดิเนเวีย และไอซ์แลนด์ โดยไก่เลี้ยงในเขตร้อนเหล่านี้สามารถปรับตัวให้อยู่กับโซนอากาศนาวเย็นได้ด้วย
นอกจากนี้นักวิจัยยังระบุด้วยว่าไก่เลี้ยงเหล่านั้นในยุคแรกๆยังไม่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นอาหารแต่มีการซื้อขายกันในฐานะสัตวป์แปลกโดยให้มูลค่ากันด้วยความสวยงามของขน สีขน และเสียงขันในตอนเช้าตรู่ โดยข้อเสนอดังกล่าวมีพื้นฐานการศึกษาจากงานศิลปะในยุคก่อน และการพบกระดูกไก่ถูกฝังในฐานะสิ่งของในสุสานของคนยุคโบราณ
ทั้งนี้นักวิจัยในงานวิจัยชิ้นล่าสุดจะทำงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่ากระดูกที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านโนนสูงนั้นเป็นไก่เลี้ยงจริง ไม่ใช่ไก่ป่าที่ถูกฝังรวมกับมนุษย์ นอกจากนี้จะยังทำการสำรวจแหล่งโบราณคดีอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อหาความเชื่อมโยงว่าไก่นั้นเริ่มถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ที่ไหนและเมื่อใดบ้าง ในช่วงเวลาที่การทำนาข้าวเริ่มแพร่หลายในยุโรปและเอชีย