‘วีรชัย’ขอบคุณยูเอ็นร่วมถวายสดุดีในหลวง เดินหน้าสานต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

REUTERS/Brendan McDermid

นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ณ นครนิวยอร์ก กล่าวแสดงความขอบคุณที่ได้มีการจัดประชุมสมัยพิเศษเพื่อถวายสดุดีแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมทั้งขอบคุณถ้อยแถลงของประธานแต่ละกลุ่มภูมิภาค รวมถึงผู้แทนสหรัฐอเมริกา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นดั่งประทีปนำทางของไทย ที่ทรงนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตการณ์และความท้าทายมากมายตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมา พระองค์ทรงยืนหยัดอยู่เคียงข้างประชาชน ทรงอุทิศจิตวิญญาณและทรงเสริมสร้างความเข้มแข็งในทางสร้างสรรค์ และที่สำคัญเหนืออื่นใด คือทรงเป็นผู้นำทาง พระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ ทรงสร้างบูรณภาพทางสังคมและวัฒนธรรมที่ยั่งยืนของชาติ ทรงวางรากฐานทั้งทางกายและใจให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่าเพื่อมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นับแต่ทรงครองราชย์พระองค์ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลในการพัฒนาประเทศโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ พระองค์ทรงสร้างอำนาจให้กับคนยากจนและคนที่เปราะบางที่สุด ปรับปรุงคุณภาพชีวิตและให้โอกาสประชาชนได้มีความเจริญรุ่งเรือง ทรงส่งเสริมสังคมแห่งสันติสุขโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พระองค์ทรงวางแนวทางเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากประเทศด้อยพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบนเช่นในปัจจุบัน

พระองค์ทรงไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับสหประชาชาติ ในทศวรรษ 1960 พระองค์ได้เสด็จเยือนสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ถึง 2 ครั้ง ทั้งยังร่วมแบ่งปันความเห็นในการจัดการกับประเด็นปัญหาระดับโลกับเลขาธิการยูเอ็น

Advertisement
REUTERS/Brendan McDermid
REUTERS/Brendan McDermid

พระองค์ทรงเป็นผู้บุกเบิกการปลูกพืชทดแทนและการพัฒนาชนบทตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1960 ซึ่งได้รับการยกย่องจากสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) ว่าเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดการผลิตยาเสพติดผิดกฎหมาย และได้รับการยอมรับทั่วโลกในปัจจุบันในฐานะทางเลือกในการพัฒนาซึ่งประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกฝิ่นในหลายประเทศกลายเป็นพื้นที่เกษตร ส่งเสริมงานหัตถกรรม การสร้างศูนย์พัฒนาอาชีพหรือแม้กระทั่งการทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว

ยูเอ็นและหน่วยงานในสังกัดต่างยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็น”กษัตริย์นักพัฒนา” จากการที่พระองค์ทรงทุ่มเทพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน พัฒนาชนบท สร้างความมั่นคงทางทหาร ทั้งยังทรงอุทิศพระองค์เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทำให้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ทูลเกล้าถวายเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณในด้านการพัฒนาการเกษตรในปีพ.ศ. 2538 รางวัล UN-Habitat Scroll of Honour Special Citation Award ในปี 2546 จากบทบาทที่ทรงพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในเมืองและในชนบท รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ในปี 2549 และรางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญาจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกในปี 2552 นอกจากนี้ ในปี 2557 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติยังได้กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นวันดินโลก จากพระราชกรณียกิจทั้งในด้านการค้นคว้าและพัฒนาดินของพระองค์ด้วย

พระองค์ยังทรงงานเคียงข้างประชาชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนระดับรากหญ้า เกษตรกร ชุมชนและโครงการในพระราชดำริต่างๆ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งตกผลึกเป็นสิ่งที่เรารู้จักในนาม “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์พระราชทานแด่ประชาชนไทยให้ดำรงชีวิตอย่างรู้จักประมาณตน อย่างรอบคอบและระมัดระวัง ซึ่งถือเป็นแนวทางที่จะทำให้บรรลุผลสำเร็จของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ปรัชญาดังกล่าวไม่เพียงประสบความสำเร็จในไทย แต่ยังถูกนำไปปรับใช้ทั้งภาคเกษตรและภาคธุรกิจ ซึ่งเราคนไทยรู้สึกยินดีที่ได้แบ่งปันของขวัญดังกล่าวกับมิตรประเทศของเราในยูเอ็นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

Advertisement

เราเชื่อมั่นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์จะยังคงเป็นแนวทางสำหรับประเทศไทยและเพื่อนของเราในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนค.ศ.2030 ในนามประชาชนและรัฐบาลไทย ขอขอบคุณอีกครั้งด้วยใจจริงสำหรับการแสดงความเสียใจในช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศกเป็นที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image