คอลัมน์ People In Focus : ลอว์เรนซ์ หว่อง ว่าที่ผู้นำสิงคโปร์คนต่อไป

ทำความรู้จัก ลอว์เรนซ์ หว่อง ว่าที่ผู้นำสิงคโปร์คนต่อไป

ลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีคลังสิงคโปร์ ก้าวเข้าใกล้กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มากขึ้นอีก เมื่อนายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ประกาศแต่งตั้ง “หว่อง” ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีควบอีกตำแหน่ง ปูเส้นทางสู่ตำแหน่งผู้นำสิงคโปร์รุ่นที่ 4 นับตั้งแต่สิงคโปร์เป็นเอกราชในปี 1965 แบบค่อนข้างที่จะแน่นอนแล้ว

หว่อง ในวัย 49 ปี ก้าวขึ้นมาเป็นนักการเมืองแถวหน้าของสิงคโปร์ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานร่วมของรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 บทบาทที่ทำให้ได้รับเสียงชื่นชมด้วยมาตรการเข้มงวดและทำให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนด้วยสัดส่วนสูงที่สุดในโลก

หว่อง ถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาขณะที่กล่าวขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องที่ช่วยกันรับมือกับการแพร่ระบาด ระหว่างการแถลงต่อรัฐสภาสิงคโปร์เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ท่าทีอ่อนไหวที่พบได้ไม่บ่อยนักจากผู้นำสิงคโปร์

หว่องจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน รวมถึงมหาวิทยาลัยมิชิแกน รวมไปถึงจบการศึกษาด้านการปกครอง จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกาด้วย

Advertisement

หว่อง มีประวัติการทำงานในฐานะข้าราชการในหลายกระทรวงก่อนจะมานั่งเป็นเลขาส่วนตัวให้กับนายกรัฐมนตรีลีระหว่างปี 2005-2008 ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาแห่งชาติ ก่อนจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเมื่อปี 2021 และผ่านร่างงบประมาณฉบับแรกในปี 2022 นี้โดยหวังที่จะฟื้นคืนเศรษฐกิจสิงโปร์หลังยุคโควิด-19 และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่เท่านั้นหว่องยังนั่งเป็นประธานกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (จีไอซี) ของสิงคโปร์ และนั่งเป็นรองประธานธนาคารกลางสิงคโปร์อีกด้วย

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนที่ 4 ของหว่อง ซึ่งแม้ยังไม่มีกรอบเวลาสืบทอดอำนาจแน่ชัดในเวลานี้จะทำให้หว่อง เป็นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนที่ 2 ที่ไม่ใช่คนใน “ตระกูลลี” ซึ่งขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสิงคโปร์ ต่อจากนาย “โก๊ะ จ๊ก ตง” รัฐมนตรีอาวุโสกิตติคุณ วัย 81 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ คนที่ 2 ของประเทศ

นอกเหนือจากความท้ายทายเฉพาะหน้าในการพาประเทศให้พ้นจากช่วงเวลาแพร่ระบาด และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามในยูเครนที่เกิดขึ้นในเวลานี้แล้ว

Advertisement

หว่องยังต้องหาวิธีทำให้สิงคโปร์กลับมา “น่าสนใจ” ในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจให้ได้ แม้จะมีการ “ปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศ” เกิดขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากกระแส “โลกาภิวัฒน์ย้อนกลับ” ในเวลานี้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการปรับความสัมพันธ์กับจีนและสหรัฐอเมริกา, การก้าวสู่เศรษฐกิจไร้คาร์บอน, การแก้ปัญหาสังคมสูงอายุ รวมไปถึงความนิยมของพรรคพรรคกิจประชาชน (พีเอพี) ที่ส่งสัญญาณลดลง แม้จะครองเสียงข้างมากอย่าง “เด็ดขาด” มาโดยตลอดก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image