WHO ชี้ต้นตอโควิดไม่ชัด แนะศึกษาเพิ่มทฤษฎีเชื้อหลุดจากห้องทดลอง

WHO ชี้ต้นตอโควิดไม่ชัด แนะศึกษาเพิ่มทฤษฎีเชื้อหลุดจากห้องทดลอง

กว่าสองปีหลังจากตรวจพบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาครั้งแรกในประเทศจีน และมีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 6.3 ล้านคนทั่วโลกจากการแพร่ระบาดใหญ่ องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำที่มีน้ำหนักที่สุดว่า จำเป็นต้องมีการสอบสวนเชิงลึกว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่ต้นเหตุของการแพร่ระบาดดังกล่าวจะมาจากอุบัติเหตุในห้องทดลอง

คำแนะนำดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนท่าทีที่ชัดเจนในการประเมินเบื้องต้นขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับต้นกำเนิดของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังมีขึ้นหลังจากองค์การอนามัยโลกถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพิกเฉย หรือมองข้ามทฤษฎีที่ว่าไวรัสดังกล่าวอาจหลุดออกมาจากห้องทดลองเร็วเกินไป

ในรายงานที่มีการเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ข้อมูลสำคัญที่จะอธิบายได้ว่าการแพร่ระบาดใหญ่เริ่มต้นอย่างไรยังคงหายไป และเรายังคงเปิดกว้างต่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่มีในอนาคต เพื่อให้สามารถทดสอบสมมุติฐานที่สมเหตุสมผลทั้งหมดได้

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เนื่องจากอุบัติเหตุจากห้องทดลองในอดีตทำให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นได้บางครั้ง ดังนั้น ทฤษฎีที่ถือว่าเป็นเรื่องทางการเมืองอย่างยิ่งนี้จึงไม่อาจที่จะไม่นับได้เช่นกัน

Advertisement

ฌอง-โคลด มานูกัวร์รา ประธานร่วมของกลุ่มที่ปรึกษาระดับนานาชาติซึ่งมีสมาชิกรวม 27 คนยอมรับว่า นักวิทยาศาสตร์บางคนอาจจะไม่ชอบแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีการรั่วไหลของเชื้อจากห้องทดลอง แต่พวกเขาจำเป็นต้องเปิดใจมากพอในการตรวจสอบข้อสมมุติฐานดังกล่าว

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกระบุด้วยว่า นายเทดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลกได้ส่งจดหมาย 2 ฉบับถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อขอข้อมูลรวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกสุดในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งไม่ชัดเจนว่าคำร้องขอดังกล่าวได้รับการตอบสนองจากจีนหรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญยังบอกด้วยว่า องค์การอนามัยโลกไม่ได้ทำการศึกษาใดๆ ที่ประเมินความเป็นไปได้เกี่ยวกับทฤษฎีว่าเชื้อโควิด-19 อาจรั่วไหลออกมาจากห้องทดลองมาก่อนหน้านี้

Advertisement

นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกกล่าวด้วยว่า จำเป็นต้องมีแนวทางการวิจัยมากมาย รวมถึงการศึกษาเพื่อประเมินบทบาทของสัตว์ป่าและการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในสถานที่ที่ไวรัสอาจแพร่กระจายครั้งแรก เช่นที่ตลาดอาหารทะเลในอู่ฮั่นด้วย

รายงานขององค์การอนามัยโลกชิ้นล่าสุดนี้ได้พลิกฟื้นข้อกล่าวหาที่ว่า องค์การอนามัยโลกได้ยอมรับคำอธิบายของรัฐบาลจีนในช่วงต้นของการแพร่ระบาดมากเกินไป

อย่างไรก็ดี ปกติแล้วการระบุแหล่งที่มาของโรคในสัตว์มักต้องใช้เวลายาวนานหลายปี โดยนักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษในการระบุสายพันธุ์ของค้างคาวซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโรคซาร์ส ซึ่งถือเป็นโรคที่มีความเกี่ยวพันกับโควิด-19

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image