คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ถ้า… ฮิลลารี คลินตัน เป็นประธานาธิบดี!

REUTERS/Carlos Barria

หากโชคไม่เลวร้ายเกินไปนัก คนอเมริกันก็จะได้คนอย่าง ฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 และคนทั้งโลกก็คงหายใจได้คล่องขึ้นอีกเล็กน้อยที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาคนใหม่ไม่ใช่คนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์

ถึงเวลานี้ดัชนีชี้วัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแทบทุกอย่าง บ่งชี้ว่าอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศที่สำคัญที่สุดประเทศหนึ่งของโลก นิวยอร์ก ไทม์ส ฉบับเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม อุปมาอุปมัย โอกาสได้ชัยชนะของทรัมป์ว่า เทียบได้พอๆ กับสัดส่วนที่ตัวเตะจะเตะฟิลด์โกล์ระยะ 31 หลาแล้วไม่เข้านั่นแหละ

พูดให้เข้าใจกันง่ายๆ ประสาคนไม่รู้จักมักคุ้นกับอเมริกันฟุตบอลก็คือ ทรัมป์มีโอกาสชนะไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์

ผลสำรวจความคิดเห็นหรือโพลล่าสุดที่รวบรวมแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย โดยเรียลเคลียร์โพลิติกส์ เว็บไซต์ข่าวสารการเมืองการเลือกตั้งชื่อดังสัญชาติอเมริกันเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม แสดงให้เห็นว่า คลินตันนำหน้าทรัมป์อยู่ 5.4 จุด (เปอร์เซ็นต์เทจพอยต์)

Advertisement

นัยของการนำหน้าในโพลอยู่ในระดับดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นด้วยการนำไปเปรียบเทียบย้อนหลังกลับไปในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 6 ครั้งที่ผ่านมา ในจำนวนนี้มีอยู่ 3 ครั้งที่ผู้ชนะการเลือกตั้งมีคะแนนนิยมในโพลนำหน้า “น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ” เมื่อเทียบสัดส่วนของฮิลลารี คลินตันในตอนนี้

ที่เหลืออีก 3 ครั้งซึ่งมีสัดส่วนในโพลมากกว่านั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งในปี 1992 ที่สัดส่วนมีมากกว่าสัดส่วนนำหน้าของคลินตันในเวลานี้อยู่เพียงเล็กน้อย คือ 5.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังได้ชัยชนะแบบสบายๆ

ผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีนั้นคือ บิล คลินตัน นั่นเอง

Advertisement

ประเด็นเกี่ยวเนื่องกับโพลที่น่าสนใจยังมีอีกประเด็น นั่นคือ “แทรคกิ้งโพล” ของเอ็นบีซี ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 2-3 วันก่อนหน้านั้น “ทีพี” เป็นโพลที่ทำทุกวันเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของคะแนนนิยมอย่างใกล้ชิด ผลที่ได้ก็คือ คลินตันมีช่วงห่างเหนือทรัมป์อยู่สูงถึง 12 จุด

นับตั้งแต่ โรนัลด์ เรแกน เคยทำช่วงห่างเหนือคู่แข่งในทีพีมากที่สุดไว้ที่ 18.2 จุดในการเลือกตั้งเมื่อปี 1984 แล้ว ยังไม่เคยมีใครนำหน้าคู่แข่งมากขนาดนี้มาก่อน

ช่วงห่างที่มากที่สุดหลังจากนั้นอยู่ที่ 8.5 จุด เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน เป็นครั้งที่ บิล คลินตัน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีซ้ำเป็นครั้งที่สองนั่นเอง

ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองอเมริกันบอกว่า ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่โพลจะพลิกผันยิ่งน้อยลงเท่านั้น แล้วก็คาดการณ์กันแบบฟันธงล่วงหน้าว่า จนถึงเวลานี้ยังไม่มีวี่แววว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะมีอะไรมาพลิกสถานการณ์ให้กลับกลายมาเป็นของตัวเองได้แต่อย่างใด

พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาแล้ว หลายคนบอกว่าไม่น่าแปลกแต่อย่างใดถ้าหาก ฮิลลารี คลินตัน จะชนะเลือกตั้งครั้งนี้แบบถล่มทลาย

คำถามที่ถามกันตอนนี้จึงไม่ใช่ว่าใครจะชนะเลือกตั้ง แต่เป็นว่า หากอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งกลายเป็นประธานาธิบดีจะเป็นประธานาธิบดีเยี่ยงไร?

มีบางคนบอกว่า ถ้าอยากได้เค้าลาง ต้องย้อนกลับไปดูเมื่อครั้งสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนเดียวกันนี้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

ฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ อยู่ 4 ปี ในช่วงฝ่ายบริหารของ บารัค โอบามา สมัยแรก มีบางคนสรุปความ 4 ปีในฐานะฝ่ายบริหารของคลินตันเอาไว้ว่าไม่มีอะไรโดดเด่นมากมาย แล้วก็ไม่มีอะไรเสียหายแบบที่ทำให้ทุกคนส่ายหน้าไม่ยอมรับ ยกเว้นกรณี “ขัดข้องทางเทคนิค” บางเรื่องบางประการ อย่างเช่นกรณี “อีเมล์” ที่ถูกหยิบมาถล่มอยู่จนถึงขณะนี้

ความคิดเห็นต่อการทำหน้าที่ของรัฐมนตรีต่างประเทศใหม่หมาดจากบรรดาอดีตคนสนิทแวดล้อม, อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูง เรื่อยไปจนถึงผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันของประเทศต่างๆ ที่เคยพบปะ และรับมือกับคลินตันในห้วงเวลาดังกล่าว กลับสะท้อนให้เห็นอะไรต่อมิอะไรหลายๆ อย่างในตัวของคนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำมหาอำนาจที่สำคัญที่สุดของโลกในยุคปัจจุบันนี้ ที่อาจกลายเป็นเงื่อนงำบ่งชี้ถึง “วิถีของประธานาธิบดีคนที่ 45” ของสหรัฐอเมริกาในบางส่วนบางด้านได้

โดยเฉพาะ “โลกทรรศน์” ของเธอซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการชี้ขาดเชิงนโยบายในอนาคต

ประเด็นที่น่าใคร่ครวญไม่น้อยก่อนหน้าที่จะถึงเรื่องของความคิดเห็นดังกล่าวก็คือ สถานะของสหรัฐอเมริกาในมุมมองของต่างประเทศในห้วงเวลาที่คลินตันก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศบางคนบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา “ตกต่ำ” ถึงขีดสุดในทรรศนะของหลายต่อหลายประเทศทั่วโลก อันเนื่องมาจากการส่งกำลังบุกเข้ายึดครองอิรักกับอหังการแบบ “คาวบอย” ของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ใน “สงครามกับการก่อการร้าย”

คลินตันเคยกล่าวเอาไว้ในการรณรงค์หาเสียงที่ผ่านมาว่า เวลาไม่น้อยของเธอในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ หมดไปกับความพยายาม “ขุด” สหรัฐอเมริกาออกมาจาก “หลุมศพทางการทูต” อันเนื่องมาจากพฤติกรรมของฝ่ายบริหารรีพับลิกัน 2 สมัยก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คลินตันทำสถิติเดินทางเยือนระหว่างการดำรงตำแหน่งไว้ถึง 122 ประเทศในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีนั้น

ในความเห็นของบุคคลในแวดวงการทูตระหว่างประเทศในตอนนี้ เสียงส่วนใหญ่ยอมรับว่าเธอประสบความสำเร็จในแง่นี้เสียด้วย

แต่ที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ ข้อสรุปว่าด้วยโลกทรรศน์ของเธอแตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง บางคนบอกว่าเธอคือ “เหยี่ยว” บางคนบอกว่าเธอคือ “พิราบ”

แต่มีไม่น้อยเช่นกันที่ยืนยันว่า นิยามของ “เหยี่ยว-พิราบ” จำกัดแคบเกินกว่าที่จะนำมานิยาม ฮิลลารี คลินตัน ได้

เนื่องจากคลินตันมีวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์จำเพาะในการผสมผสานระหว่าง “ฮาร์ด เพาเวอร์” และ “ซอฟต์ เพาเวอร์” ของสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาใช้ในทางการทูตได้อย่างยอดเยี่ยม

การตระหนักรู้ถึงพลานุภาพที่เป็นเอกของสหรัฐอเมริกากับสัญชาตญาณจำเพาะตัวที่ว่าจะนำเอาอำนาจที่ว่านั้นมาใช้ “อย่างไร” และ “เมื่อไหร่” ของ ฮิลลารี คลินตัน ได้รับการยอมรับว่าไม่เป็นสองรองใคร

และเชื่อกันว่า น่าจะติดตัวเธอเข้ามายัง “ห้องรูปไข่” ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย!

ในช่วงระยะเวลา 4 ปีของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฮิลลารี คลินตัน เผชิญกับวิกฤตการณ์ระดับใหญ่โตไม่ใช่น้อยอยู่ 2 กรณี แรกสุดคือ กรณี “ลิเบีย” เมื่อปี 2011 กับอีกกรณีในตอนท้ายๆ ของการดำรงตำแหน่ง นั่นคือวิกฤตการณ์ในซีเรีย ที่เริ่มลุกลามและคุกคามความมั่นคงในตะวันออกกลางมากขึ้นตามลำดับในเวลานั้น

กรณีลิเบียดูเหมือนเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ที่สุดของรัฐมนตรีคลินตัน เหตุผลก็เพราะ ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ คลินตันต้องพบปะเจรจากับผู้นำฝ่ายต่อต้าน โมอามาร์ กาดาฟี ต้องหารือกับบรรดาผู้นำของชาติยุโรปทั้งหลาย ต้องรับฟังข้อเรียกร้องของบรรดารัฐมนตรีตัวแทนของสันนิบาตอาหรับทั้งหลาย ในขณะที่ทำเนียบขาวยังไม่มีข้อสรุปของแนวนโยบายที่ชัดเจนมาให้เลยแม้แต่น้อย

ในการประชุมระดับรัฐมนตรีจี 8 (กลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ และรัสเซีย) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนมีนาคมปีนั้น ฮิลลารี คลินตัน จึงตกเป็นฝ่ายต้อง “ฟัง” เสียเป็นส่วนใหญ่ ฟังท่าทีของฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ ที่ประสานเสียงตรงกันว่า “ต้องทำอะไรสักอย่าง…” แล้วเธอก็ตัดสินใจ

ที่สหประชาชาติ คลินตันผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับ ซูซาน ไรซ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ จนประสบความสำเร็จในการทำให้รัสเซียยอม “งดออกเสียง” ในมติที่เปิดทางให้ใช้ “มาตรการทุกอย่างเท่าที่จำเป็น” เพื่อปกป้องพลเรือนลิเบียจากผู้นำของตนเอง

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงยืนยันว่า ใน 2-3 สัปดาห์แรกนั้น คลินตันคิดถึงเพียงแค่การปกป้องพลเรือนเท่านั้นจริงๆ ท่าทีของรัฐมนตรีต่างประเทศรายนี้เปลี่ยนไปในตอนหลัง เมื่อสถานการณ์ตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้า คายไม่ออกในเวลาต่อมาเท่านั้น

กระนั้น มีเจ้าหน้าที่บางคนที่ชี้ว่า การคุ้มครองพลเรือนที่ว่านี้เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มออกสตาร์ตแล้วว่าในที่สุดก็จะฉุดสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรจมลึกลงไปในความขัดแย้ง ซึ่งจะยุติได้ก็ต้อง “กำจัด” กาดาฟีพ้นจากตำแหน่งสถานเดียวเท่านั้น ใครก็ตามที่คิดว่าจะปกป้องพลเรือนได้โดยไม่จำเป็นต้องจัดการกับกาดาฟี ถือว่า “ไร้เดียงสา” ทางการทูตอย่างยิ่ง

กระนั้น เมื่อรัฐบาลตริโปลีล่มสลาย และกาดาฟีถึงแก่ความตายในเดือนตุลาคม 2011 สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรก็ยังได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ปลดปล่อย” ลิเบีย

ต่อเมื่อความขัดแย้งภายหลังความสำเร็จของการปฏิวัติลิเบีย ที่ก่อให้เกิดการแบ่งฝักฝ่าย หันอาวุธเข้าใส่กันเอง ที่กลายเป็นที่มาของการโจมตี สถานกงสุลสหรัฐอเมริกาในเบงกาซี เมื่อเดือนกันยายน 2012

และทำให้ชัยชนะในการเข้าแทรกแซงลิเบียกลายเป็นหายนะสำหรับคนอเมริกันไปในเวลาอันรวดเร็ว

การแทรกแซงสถานการณ์ในลิเบียด้วยการโจมตีทางอากาศ ยังคงตามหลอกหลอนอยู่ เมื่อ ฮิลลารี คลินตัน ตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้งในเวลาต่อมาในปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ พัฒนาแผนปฏิบัติการในซีเรียขึ้นร่วมกับ เดวิด เพเทรอุส ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ในเวลานั้น เพื่อติดอาวุธให้กับกองกำลังกบฏซีเรีย ทำหน้าที่เป็นกองกำลังปิดกั้นการขยายตัว ทั้งของกองกำลังก่อการร้ายทั้งหลายและทั้งกองทัพของ บาชาร์ อัล อัสซาด ผู้นำซีเรีย

ทำเนียบขาวปฏิเสธแผนดังกล่าวนั้น และแม้ว่าจะหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นนำไปปฏิบัติจริง เมื่อคลินตันพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ก็เป็นการทำในขนาดที่หลงเหลือเพียงเสี้ยวเดียวของแผนที่คลินตันทำไว้เท่านั้นเอง

นั่นทำให้บางคนชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้การแทรกแซงทางทหารในลิเบียจะส่งผลให้เกิดภาวะโกลาหล นอกเหนือความควบคุมขึ้นตามมา แต่ถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์ในลิเบียกับสถานการณ์ในซีเรียในเวลานี้แล้ว การไม่แสดงบทบาท “นำ” ใดๆ ของสหรัฐอเมริกาในซีเรีย ก่อให้เกิดภาวะสุญญากาศและเกิด “หายนะ” ขึ้นตามมามากมาย ยิ่งกว่ากรณีลิเบียหลายเท่านัก

จำนวนผู้เสียชีวิตในซีเรียประเมินกันหยาบๆ ว่าเกินครึ่งล้านคนเข้าไปแล้ว นี่ยังไม่นับอีก 2-3 ล้านคนที่กลายเป็นคนพลัดถิ่นทั้งในประเทศตัวเองและในต่างแดน

นั่นคือผลของการเลือกที่จะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมทางทหารอย่าง “มีนัยสำคัญ” ของสหรัฐอเมริกา

สี่ปีในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ คงไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ชัดเจนมากมายนักว่า “ประธานาธิบดี ฮิลลารี คลินตัน” จะนำพาประเทศไปในทิศทางใด เนื่องเพราะตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นแตกต่างออกไปไม่ใช่น้อย มีอำนาจมากกว่าไม่ใช่น้อย แต่ในเวลาเดียวกันก็มีภาระหนักหนาสาหัสกว่ามากมายเช่นเดียวกัน

ในเวลาเดียวกัน ภาวะแวดล้อมบนเวทีโลกในยามนี้ก็แตกต่างออกไปจากเมื่อ 4 ปีของคลินตันไม่น้อยแล้วอีกด้วย

แต่อย่างน้อยที่สุดก็แสดงเงื่อนงำให้เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่งว่า

เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องตัดสินใจ ฮิลลารี คลินตันสามารถสั่งการใช้กำลังทหารได้ง่ายกว่า บารัค โอบามาไม่น้อยเลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image