ในหลวง กับการต่างประเทศของไทย(2)

หมายเหตุ – พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่เพียงแต่เป็นศูนย์รวมจิตใจคนไทยทั้งประเทศ แต่พระองค์ยังทรงมีบทบาทเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งในฐานะองค์พระประมุขที่ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในโลก และทรงเป็นนักพัฒนาจนได้รับการทูลเกล้าฯรางวัลมากมาย “มติชน” จึงได้สัมภาษณ์บุคคลที่มีส่วนต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในประเด็นดังกล่าว

“ถึงวันที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นถวายปริญญาเอกทางนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระเจ้าอยู่หัว ท่ามกลางคณาจารย์ ‘ปัญญาชน’ ณ หอประชุม มีคนเต็มไปหมด คนสำคัญของเมลเบิร์นและนักหนังสือพิมพ์มากหลาย เมื่อพิธีเริ่มต้นขึ้นอธิการบดีลุกขึ้นไปอ่านคำสดุดีถวายพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว ก่อนที่จะถวายปริญญา ทันใดนั้นเอง ข้าพเจ้าได้ยินเสียงเอะอะ เหมือนโห่ปนฮาอยู่ข้างนอก คือกลุ่ม ‘ปัญญาชน’

ที่ยืนท่าต่างๆ ไม่น่าดู เช่นเอาเท้าพาดบนต้นไม้บ้าง ถ่างขาบ้าง มือเท้าสะเอวบ้าง ซึ่งเสียงโห่ปนฮาของเขาดังพอที่จะรบกวนเสียงที่อธิการบดีกำลังกล่าวอยู่ทีเดียว ข้าพเจ้ารู้สึกโกรธก็พุ่งขึ้นมาทันที รู้สึกสงสารพระเจ้าอยู่หัวจนทำอะไรไม่ถูก ในที่สุดก็ฝืนใจมองขึ้นไปเพื่อถวายกำลังพระทัย แต่แล้วข้าพเจ้านั่นแหละที่เป็นผู้ได้กำลังใจกลับคืนมา เพราะมองดูท่านขณะที่ทรงดำเนินไปยืนกลางเวที เห็นพระพักตร์สงบเฉย

ทันใดนั้นเอง คนที่อยู่ในหอประชุมก็ปรบมือเสียงดังสนั่นหวั่นไหว คล้ายถวายกำลังพระทัยท่าน พอเสียงปรบมือเงียบลง ก็เห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิดพระมาลาที่ทรงคู่กับฉลองพระองค์ครุย แล้วหันพระองค์ไปโค้งคำนับกลุ่มที่ส่งเสียงอยู่ข้างนอกอย่างงดงามที่สุด น่าดูที่สุด พระพักตร์ยิ้มนิดๆ พระเนตรมีแววเยาะหน่อยๆ แต่พระสุรเสียงงามเรียบยิ่งนัก กระแสพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวตรึงใจทั้งหอประชุมและภายนอกมีความว่า

Advertisement

‘ขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ในการต้อนรับอันอบอุ่นและสุภาพเรียบร้อยที่ท่านแสดงต่อแขกเมืองของท่าน’ รับสั่งเพียงเท่านั้นก็หันพระองค์มารับสั่งต่อกับผู้ที่นั่งฟังอยู่ในหอประชุม เสียงฮานั้นก็เงียบลงทันทีราวกับปิดสวิตช์ แล้วตั้งแต่บัดนั้นก็ไม่มีอีกเลย ทุกคนข้างนอกข้างใน ต่างฟังพระราชดำรัสด้วยท่าทางดูขบคิด ข้าพเจ้าเห็นว่าพระราชดำรัสวันนั้นดีมาก รับสั่งสดโดยไม่ทรงใช้กระดาษเลย ทรงเล่าถึงวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของไทยว่า ‘เรามีเอกราช มีภาษาของเราเอง มีตัวหนังสือซึ่งคิดค้นขึ้นใช้เอง เราตั้งกฎหมายปกครองของเราเอง ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมา 700 กว่าปีมาแล้ว’

ท่ามกลางพระสุรเสียงที่ตรึงใจชาวออสเตรเลีย และ ‘ปัญญาชน’ หลังจากรับสั่งว่า 700 กว่าปีมาแล้ว ทรงทำท่าเหมือนเพิ่งนึกออก ทรงสะดุ้งนิดๆ แล้วโค้งพระองค์อย่างสุภาพเมื่อตรัสว่า ‘ขอโทษ ลืมไป ตอนนั้นยังไม่มีประเทศออสเตรเลียเลย’ แล้วตรัสต่อไปว่า ‘แต่ไหนแต่ไรมา คนไทยเรามีน้ำใจกว้างขวาง พร้อมที่จะให้โอกาสคนอื่น และฟังความคิดเห็นของเขา เพราะเราใช้ปัญญาขบคิดไตร่ตรองหาเหตุผลก่อน จึงจะตัดสินใจว่าสิ่งไรเป็นอย่างไร ไม่สุ่มสี่สุ่มห้าตัดสินใจอะไรตามใจชอบโดยไม่ใช้เหตุผล’

เมื่อเสร็จพิธีถวายพระเกียรติเรียบร้อยแล้ว ก็จำต้องผ่านคนกลุ่มนั้นอีก เขายังคงยืนคอยเราอยู่ที่เก่า แต่อากัปกิริยาเปลี่ยนไปหมด บางคนหน้าตาเฉยๆ ดูหลบตาพวกเรา ไม่มีการมองอย่างประหลาดอีกแล้ว แต่บางคนก็มีน้ำใจเป็นนักกีฬาพอที่จะยิ้มแย้มแจ่มใส โบกมือและปรบมือให้เราตลอดทางจนถึงที่รถพระที่นั่งจอดอยู่”

Advertisement

ข้อความบางส่วนจากหนังสือ “ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ” โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เล่าถึงเหตุการณ์ขณะเสด็จไปยังมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ระหว่างเสด็จเยือนออสเตรเลียของทั้งสองพระองค์เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2505

รูปรายงาน2

เตช บุนนาค

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

และอดีตที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ11

ท่านรัฐมนตรีเตช ได้แนะนำให้เปิดเรื่องด้วยพระราชนิพนธ์ดังกล่าว ก่อนจะเริ่มต้นเล่าถึงพระราชกรณียกิจด้านต่างประเทศของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า รัชสมัยของพระองค์ยาวนานถึง 70 ปี สิ่งสำคัญคือเราต้องเห็นถึงบริบทของพระองค์ท่านกับการต่างประเทศของไทย เพราะตอนที่พระองค์เริ่มต้นเสด็จพระราชดำเนินออกไปเยือนประเทศต่างๆ อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2502 ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินไทยออกไปเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการในฐานะประมุขแห่งรัฐ หรือ State Visit มานานมากตั้งแต่รัชกาลที่ 7 ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศครั้งสุดท้ายในปี 2477 หรือ 25 ปีมาแล้ว

ขณะที่โลกเมื่อรัชกาลที่ 7 กับรัชกาลที่ 9 ออกไปเยือนก็เป็นคนละโลกกัน ในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นยุคของสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษยังปกครองพม่า มาเลเซีย และอินเดีย ขณะที่ฝรั่งเศสก็ปกครองอินโดจีน และเนเธอร์แลนด์ปกครองอินโดนีเซีย รัชกาลที่ 7 เคยเสด็จฯเยือนอินโดจีน ไซง่อน ชวา ซึ่งขณะนั้นยังล้วนแต่เป็นดินแดนภายใต้การปกครองของประเทศอื่นอยู่ แต่เมื่อในหลวงเสด็จฯเยือน เพื่อนบ้านของเราก็เป็นประเทศที่มีอธิปไตยที่สมบูรณ์แบบแล้ว และเรากำลังอยู่ในยุคสงครามเย็น

การที่พระองค์เสด็จฯเยือนเวียดนามในปี 2502 ซึ่งเป็นปีแรก จากนั้นได้เสด็จฯเยือนอินโดนีเซีย และพม่า ก็เป็นการสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเป็นอาณานิคม ขณะที่ไทยสามารถรักษาความเป็นอธิปไตยของตนเองและรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ของเรามาได้โดยตลอด นี่คือบริบทแรก

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคือครั้งที่พระองค์เสด็จฯเยือนพม่า ซึ่งถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยที่สุดมาตลอดในประวัติศาสตร์ ขณะนั้นพม่ายังเป็นประเทศประชาธิปไตย มี นายอูนุ เป็นนายกรัฐมนตรี และได้เสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเป็นภาพที่งดงามมาก

รูปรายงาน1

ขณะที่ในปี 2503 พระองค์ท่านได้เสด็จฯเยือนสหรัฐและประเทศในยุโรปทั้งหมด ในส่วนสหรัฐถือเป็นการเสด็จฯเยือนที่สำคัญมาก เพราะไทยเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาชาติแรกของสหรัฐในภูมิภาคนี้ ซึ่งก็ว่างเว้นการเสด็จฯเยือนไปตั้งแต่รัชกาลที่ 7 ในปี 2474 เช่นกัน การเสด็จฯเยือนครั้งนั้นจึงเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ขาดหายไปเป็นเวลานานถึง 29 ปี พระองค์ยังเสด็จฯเยือนประเทศในยุโรปโดยใช้สวิตเซอร์แลนด์เป็นฐาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าใช้ประเทศที่พระองค์ทรงเติบโตและทรงศึกษาเล่าเรียนมา

การเสด็จฯเยือนสหรัฐมีความสำคัญมาก ขณะที่สหรัฐก็ถวายพระเกียรติให้พระองค์อย่างสูงสุด ทรงกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมร่วมของสภาคองเกรส ซึ่งทำเพื่อเป็นการให้เกียรติกับผู้ที่มีความสำคัญสูงสุดเท่านั้น และมีการสวนสนามอย่างเต็มที่ซึ่งในสมัยนี้ก็ไม่มีแล้ว เมื่อพระองค์เสด็จฯเยือนนครนิวยอร์กก็ได้มีการถวายพระเกียรติอย่างสูงสุดด้วยเช่นกัน

บริบทของการเสด็จฯเยือนสหรัฐแสดงให้เห็นว่าไทยเป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐและโลกเสรี ท่ามกลางสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญกับสงครามเย็น และโลกสังคมนิยมของสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน สัญลักษณ์ของการเสด็จฯเยือนสหรัฐและประเทศในยุโรปไม่ว่าอังกฤษหรือฝรั่งเศสก็ดี คือไทยเป็นประเทศที่อยู่ในค่ายของโลกเสรีอย่างเต็มที่ และประเทศเหล่านี้ต่างก็เป็นผู้นำของโลกเสรีทั้งสิ้น ขณะเดียวกันไทยก็ยังเป็นที่ตั้งขององค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีโต้ด้วย

ตอนที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินเยือนอังกฤษ ผมอายุ 17-18 ปี ยังเป็นนักเรียนในอังกฤษ จึงมีโอกาสไปรับเสด็จ และเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทฯ ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในขณะนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนไทยในอังกฤษขณะนั้นภาคภูมิใจอย่างยิ่ง สิ่งที่เรารู้สึกคือภาคภูมิใจที่พระเจ้าแผ่นดินของเราเสด็จพระราชดำเนินมา และ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ทรงรับเสด็จอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ภูมิใจว่าเราเป็นราชอาณาจักรที่มีพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน เป็นเรื่องที่ทำให้เด็กๆ อย่างผมประทับใจมาก

บริบทต่อไปคือเราต้องคำนึงว่า เราอยู่ในยุคสงครามเย็น เราเป็นพันธมิตรกับประเทศตะวันตกและเป็นที่ตั้งของซีโต้ แต่ขณะนั้นเราก็มีรัฐบาลทหารนำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุนี้ก็จะมีคนต่อต้าน มีพวกฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านโลกเสรี ต่อต้านตะวันตกและต่อต้านประเทศไทย ในฐานะที่มีรัฐบาลทหาร

ดังนั้นในยุคเดียวกัน เมื่อเสด็จฯไปเยือนออสเตรเลียจึงมีเหตุการณ์เช่นนั้น และนั่นเป็นการแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพที่ทรงเป็นองค์พระประมุขของราชอาณาจักรไทยได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ทรงสะทกสะท้าน ทรงอดทนที่มีคนมาโห่ร้องต่อต้าน ทั้งที่รัฐบาลออสเตรเลียเป็นผู้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จมาเป็นแขกของรัฐบาล เพราะออสเตรเลียก็เป็นพันธมิตรของไทยในซีโต้เช่นกัน

พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะผู้แทนราชอาณาจักรไทยได้อย่างสุดยอด และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเช่นนี้มาโดยตลอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image