วิจัยจีนชี้ ติดโอมิครอนรุ่นแรกไม่ช่วยป้องกันเชื้อรุ่นล่าสุด แม้จะฉีดเข็ม3ก็ตาม

แฟ้มภาพ รอยเตอร์

วิจัยจีนชี้ ติดโอมิครอนรุ่นแรกไม่ช่วยป้องกันเชื้อรุ่นล่าสุด แม้จะฉีดเข็ม3ก็ตาม

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอนในช่วงแรก ตั้งแต่ที่พบในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อนนั้น อาจจะมีโอกาสที่จะติดเชื้อโอมิครอนรุ่นปัจจุบันซ้ำได้ แม้ว่าจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วก็ตาม

ทีมนักวิจัยจากจีนรายงานบนเว็บไซต์ nature ไว้ว่า ผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน (บีเอ.1) ที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถพัฒนาแอนติบอดีที่ต้านเชื้อโควิด-19 ดั้งเดิมได้ แต่เชื้อสายพันธุ์ย่อยอย่างโอมิครอนที่ระบาดอยู่ในตอนนี้มีการกลายพันธุ์จากเดิมจึงทำให้สามารถหลบหลีกแอนติบอดีได้

เชื้อโอมิครอน บีเอ.2.12.1 ซึ่งระบาดอย่างหนักในสหรัฐ และเชื้อโอมิครอนบีเอ.5 และบีเอ.4 ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 21% ของผู้ติดเชื้อในสหรัฐ มีการกลายพันธุ์ที่ไม่ปรากฎในเชื้อบีเอ.1และบีเอ.2

นักวิจัยระบุว่า จากการทดลองในหลอดทดลองพบว่า สายพันธุ์ย่อยที่ใหม่ล่าสุดเหล่านี้หลีกเลี่ยงแอนติบอดีที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด และการฉีดวัคซีนได้อย่างน่าทึ่ง

Advertisement

ทั้งนี้ Evusheld ยาแอนติบอดีแบบผสม ซึ่งมีส่วนผสมระหว่างแอนติบอดีสองชนิด ได้แก่ tixagevimab และ cilgavimabของแอสตร้าเซนเนก้า ยังคงมีประสิทธิภาพต่อเชื้อ BA.2.12.1 และ BA.4/BA.5 แต่วัคซีนเข็มกระตุ้นที่อ้างอิงจากไวรัสบีเอ.1 อย่างของไฟเซอร์และโมเดอร์นาอาจไม่ได้ป้องกันเชื้อโอมิครอนเวอร์ชั่นล่าสุด

นอกจากนี้จากการวิจัยก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ผ่านเพียร์รีวิวชี้ให้เห็นว่า ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนที่ติดเชื้อโอมิครอน อาจจะไม่พัฒนาเพื่อป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่นๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image