โฆษกบัวแก้วแจง นโยบายไทยกับมิตรประเทศ

โฆษกบัวแก้วแจง
นโยบายไทยกับมิตรประเทศ

หมายเหตุ “มติชน” นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการดำเนินการนโยบายต่างประเทศของไทยกับมิตรประเทศ รวมถึงข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการต่างประเทศของไทย ไปจนถึงประเด็น “นาโต 2” ที่มีการพูดถึงกันในระยะหลัง

๐มองอย่างไรที่มีบางคนวิจารณ์ว่าไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบไม่สมดุล เอนเอียงเข้ากับสหรัฐ

Advertisement

ไทยดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่สมดุลกับมิตรประเทศตลอดมา โดยยึดความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) ที่ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคโดยการระงับข้อพิพาทอย่างสันติ สนธิสัญญา TAC มีอัครภาคีรวมทั้งสิ้น 40 ประเทศ รวมถึงสมาชิกถาวรแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้งห้าประเทศ โดยไทยมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นราบรื่นทั้งกับจีนและสหรัฐ ดังเห็นได้จากการเยือนระดับสูงกับทั้งจีนและสหรัฐ เช่น เมื่อ 1-2 เมษายนที่ผ่านมา ที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือน ที่เมืองหวงซาน มณฑลอานฮุย ตามคำเชิญของ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน โดยนำคณะผู้แทนด้านเศรษฐกิจของไทยร่วมคณะเดินทางด้วยเพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีน และขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน และความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจแนวหน้าของจีนและมีมณฑลอานฮุยเป็นสมาชิก และหารือถึงผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในกรอบทวิภาคี อนุภูมิภาค (แม่โขง-ล้านช้าง) และภูมิภาค (อาเซียน-จีน) และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกัน และเมื่อ 12-13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ที่สหรัฐ เพื่อฉลอง 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ โดยผู้นำอาเซียนและประธานาธิบดีสหรัฐ ได้กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างกันท่ามกลางความท้าทายต่างๆ เพื่อฟื้นฟูการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคหลังโควิด-19

๐กรณีการอ้างถึงการจัดตั้งนาโต 2 ขึ้นในภูมิภาค ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ไทยมีเพียงความร่วมมือทวิภาคีด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศเท่านั้น และไม่ได้เป็นภาคีความร่วมมือทางทหารที่มีเป้าประสงค์ในการป้องกันร่วมกัน (collective defence) ซึ่งถือว่าการรุกรานประเทศหนึ่งเป็นการรุกรานทุกประเทศที่เป็นภาคีในสนธิสัญญาดังเช่นสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) วาทกรรมเรื่องนาโต 2 จึงไม่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริง สำหรับเอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเป็นนโยบายยุทธศาสตร์นั้น สหรัฐจัดทำขึ้นฝ่ายเดียวเพื่อเป็นแนวทางของการดำเนินนโยบายของสหรัฐ กับแต่ละภูมิภาค ไม่ใช่ความตกลงกับประเทศใดทั้งสิ้น ส่วนกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) มีขึ้นเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและครอบคลุม และเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 4 เสาความร่วมมือ ได้แก่ 1.การค้า 2.ห่วงโซ่อุปทาน 3.พลังงานสะอาด การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และโครงสร้างพื้นฐาน และ 4.ภาษีและการต่อต้านการทุจริต โดยไม่มีการลงนามและไม่มีถ้อยคำหรือบริบทที่จะทำให้เกิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

๐ฝ่ายความมั่นคงของไทยเพิ่งปฏิเสธรายงานข่าวว่ามีคำสั่งให้เฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของบุคคลสัญชาติอิหร่านว่าไม่ใช่เรื่องจริง แล้วข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-อิหร่านในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ความสัมพันธ์ไทยกับอิหร่านเป็นความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดี ฝ่ายอิหร่านพร้อมให้ความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและส่งเสริมความปลอดภัยในประเทศของไทย ทั้งสองประเทศได้ดำเนินความสัมพันธ์อย่างราบรื่นมาตลอดโดยรักษาความสมดุลของการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับขั้วอำนาจในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ไทยยังมีความร่วมมือกับอิหร่านในด้านที่สร้างสรรค์ อาทิ เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีนาโน การศึกษา และการท่องเที่ยว

๐การที่มักมีผู้ออกมาให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและสร้างความสับสนเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ จะส่งผลกระทบกับการดำเนินความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศต่างๆ รวมถึงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของมิตรประเทศที่มีต่อไทยหรือไม่อย่างไร

การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศเป็นสิทธิเสรีภาพที่กระทำได้ตามกฎหมายในสังคมประชาธิปไตย แต่ควรอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ซึ่งผู้ปฏิบัติก็รับฟังความเห็นที่แตกต่างและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อยู่แล้ว เช่น กรณีความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ก็มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคม แต่การให้ข้อมูลที่เหมารวม ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในกรณีอื่นๆ จะยิ่งทำให้คนไทยเข้าใจผิด สับสน และกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อประเทศไทย รวมทั้งน้ำหนักท่าทีความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในการเจรจาความกับต่างประเทศ รวมถึงความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายนโยบายต่างประเทศต่างประเทศที่ละเอียดอ่อนที่สำคัญ เช่น การดำเนินนโยบายที่สมดุลกับประเทศมหาอำนาจ เป็นต้น

ธานี แสงรัตน์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image