คอลัมน์ Think Tank: ดาวเคราะห์สำหรับอยู่อาศัยของมนุษย์?

ROGER LEGUEN / WWF

รายงานเรื่อง “ดาวเคราะห์สำหรับอยู่อาศัย” จัดทำโดยสมาคมสวนสัตว์แห่งลอนดอน (แซดเอสแอล) ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลก (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) ระบุว่า ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลง 58 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 เป็นต้นมา

และหากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป สัตว์เหล่านี้จะลดจำนวนลง 2 ใน 3 ภายในปี 2020 หรือคิดเป็นลดลงปีละ 2 เปอร์เซ็นต์

ดร.ไมค์ บาร์เร็ตต์ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์และนโยบายของดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือมีสัตว์บางสายพันธุ์ที่ลดจำนวนลงมากอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์สายพันธุ์ที่ต้องอยู่อาศัยหรือพึ่งพาแหล่งน้ำจืด โดยสัตว์ที่อยู่ในแม่น้ำและทะเลสาบน้ำจืดลดจำนวนลงด้วยอัตรา 81 เปอร์เซ็นต์ มาตั้งแต่ปี 1970 สาเหตุมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแหล่งน้ำจืดของมนุษย์และการแยกระบบแหล่งน้ำจืด อาทิ การสร้างเขื่อน

รายงานราย 2 ปีที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมฉบับนี้ระบุว่า สัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ปลา นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้ถูกทำให้หายไปด้วยความกระหายและกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์

Advertisement

เหตุผลดังกล่าวไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก จากการที่มนุษย์แทบจะเป็นสัตว์เพียงสายพันธุ์เดียวที่เพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่า 2 เท่า นับตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา โดยประชากรมนุษย์ทั่วโลกอยู่ที่ 7.4 พันล้านคนในปัจจุบัน และจากพฤติกรรมการกิน การล่า การรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัย การซื้อขายสัตว์ป่า มลพิษและภาวะโลกร้อน ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้สิ่งมีชีวิตร่วมโลกชนิดอื่นๆ ลดจำนวนลงอย่างมาก

รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยใช้ผลการศึกษาวิจัยมาจากการเฝ้าติดตามดูสัตว์มีกระดูกสันหลัง 3,700 สายพันธุ์ ที่กระจายอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน 14,000 แห่งทั่วโลก คิดเป็นราว 6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังทั้งโลก

นักวิทยาศาสตร์ได้เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงการลดจำนวนประชากรสัตว์ในแหล่งที่อยู่อาศัยดังกล่าว โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องว่ามีกี่สายพันธุ์ที่ถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ระเบียบวิธีวิจัยในการจัดทำรายงานฉบับนี้ส่วนหนึ่งยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากน้ำหนักความแม่นยำของข้อมูลในสัตว์แต่ละสายพันธุ์อาจไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับปริมาณข้อมูลที่มี อาทิ ข้อมูลของนกในแถบมหาสมุทรอาร์กติกที่มีมาก และข้อมูลของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในเขตร้อนที่มีน้อยมาก

Advertisement

อย่างไรก็ตาม หากดูจากรายงานฉบับก่อนหน้านี้ตีพิมพ์เมื่อปี 2557 ที่ระบุว่าประชากรสัตว์ป่าลดลงครึ่งหนึ่งในช่วงเวลา 40 ปี

ข้อมูลของการประเมินที่แม้จะไม่แม่นยำอย่างสมบูรณ์ แต่แนวโน้มลดลงมาตลอดย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image