ลิทัวเนียขวางรัสเซีย จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 ?

ลิทัวเนียขวางรัสเซีย จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 ?

“รัสเซีย” ตัดสินใจนำกำลังทหารรุกราน “ยูเครน” นับจนถึงเวลานี้ก็ผ่านมากว่า 4 เดือนแล้ว สงครามโลกครั้งที่ 3 ที่หลายคนหวาดหวั่นนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น เหตุผลส่วนหนึ่ง เพราะ “ยูเครน” ผู้ถูกรุกรานนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต

แต่หากรัสเซียทำแบบเดียวกันกับ “ลิทัวเนีย” ที่เป็นชาติสมาชิกนาโตมายาวนาน 18 ปีแล้วละก็

หลายฝ่ายก็เห็นตรงกันว่า “สงครามโลกครั้งที่ 3” จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสมาชิกนาโต อีก 29 ชาติจะเข้าสู่ “สถานะสงคราม” กับรัสเซียโดยอัตโนมัติ ตามมาตรา 5 ของสนธิสัญญานาโต

สถานการณ์ที่ว่านั้นดูจะห่างไกลกับความเป็นจริง แต่เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่่ผ่านมา เมื่อ “ลิทัวเนีย” ประกาศตรวจยึดสินค้าหลายรายการที่ส่งผ่านเส้นทางรถไฟจากรัสเซียไปยัง “แคว้นคาลินินกราด” ดินแดนอันโดดเดี่ยวของรัสเซียริมทะเลบอลติก ล้อมรอบด้วยลิทัวเนียและชาติสมาชิกนาโตอย่างโปแลนด์ นั่นส่งผลให้ “สงครามโลกครั้งที่ 3” ก็ถูกพูดถึงกันอีกครั้ง

Advertisement

ลิทัวเนียประกาศห้ามขนส่งสินค้าอย่างเหล็กและโลหะประเภทต่างๆ ไม่ให้ผ่านเข้าไปยังแคว้นคาลินินกราด แคว้นซึ่งมีฐานทัพเรือของรัสเซียและมีขีปนาวุธติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ประจำการ ลิทัวเนียอ้างว่ามาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตรรอบที่ 4 ของสหภาพยุโรป (อียู) ลิทัวเนียก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วย โดยมาตรการดังกล่าวเริ่มต้นในวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ลิทัวเนียยังเตรียมแบนสินค้าซีเมนต์ แอลกอฮอล์ สินค้าฟุ่มเฟือยอีก ในวันที่ 10 กรกฎาคม และจะแบนถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลแข็งอื่นๆ ในเดือนสิงหาคมต่อไป

ลิทัวเนียยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวไม่ใช่การ “ปิดกั้น” สินค้าทั้งหมด เนื่องจากสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์คว่ำบาตรก็สามารถส่งต่อไปได้ เช่นเดียวกับประชาชนที่ยังสามารถเดินทางผ่านลิทัวเนียไปยังคาลินินกราดได้

รัสเซียแสดงความไม่พอใจและประท้วงในทันทีหลังจากสินค้าสัดส่วนถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าที่ส่งไปยังคาลินินกราดทั้งหมดถูกระงับการส่ง โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีหว่างรัสเซียกับอียูที่ลงนามกันไว้ก่อนหน้านี้

Advertisement

รัสเซียส่งคำขู่แรกผ่าน นิโคไล ปาทรูเชฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และที่ปรึกษาใกล้ชิด นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ว่าเป็น “การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์” และเตือนด้วยว่ารัสเซียจะตอบโต้ด้วยมาตรการบางอย่าง จะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างรุนแรงกับประชาชนชาวลิทัวเนีย

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ารัสเซียสามารถยุติส่งสินค้าไปยังท่าเรือลิทัวเนียและชาติทะเลบอลติกอื่นๆ เพื่อตอบโต้ แต่ลิทัวเนียเองก็ลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจและพลังงานจากรัสเซียลงไปมากแล้ว และเพิ่งจะเป็นชาติในอียูชาติแรกที่ไม่ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย และไม่จำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันและไฟฟ้าจากรัสเซียแล้วด้วย และนั่นคือ “ไพ่” ที่ลิทัวเนียมีเหนือกว่าในความขัดแย้งครั้งนี้

การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและลิทัวเนียนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ความสัมพันธ์ของสองชาติที่ลุ่มๆ ดอนๆ ย้อนกลับไปตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ลิทัวเนียและเพื่อนบ้านอย่าง
เอสโตเนีย และลัตเวีย ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

ทั้ง 3 ประเทศพยายามเคลื่อนไหวเพื่อประกาศอิสรภาพภายใต้การปกครองของมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตในเวลานั้น จนกระทั่งได้รับเอกราชหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

และเพื่อเป็นหลักประกันเอกราชของตัวเอง ลิทัวเนีย เอสโตเนีย และลัตเวีย ก็สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตและอียู และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกทั้งสองกลุ่มพร้อมกันทั้ง 3 ประเทศในปี 2004

เหตุการณ์ปิดกั้นเส้นทางรถไฟส่งสินค้าบางรายการของรัสเซียโดยเฉพาะเส้นทางรถไฟบน “ระเบียงซูวัลกิ” นับว่าเป็นเรื่องน่ากังวล เนื่องจากช่องแคบซูวัลกิเป็นแถบเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมรัสเซียเข้ากับดินแดนคาลินินกราดผ่านเบลารุส ไล่ไปตามแนวชายแดนโปแลนด์และลิทัวเนีย เป็นเส้นทางบกเส้นทางเดียวของรัสเซียไปยังแคว้นที่ไม่ได้มีชายแดนติดกับรัสเซียแผ่นดินใหญ่เลยอย่างคาลินินกราด

ชาติตะวันตกกังวลอยู่ก่อนหน้านี้แล้วว่าหากรัสเซียใช้กำลังทหารยึดแถบดินแดนดังกล่าวไว้ได้ จะทำให้ 3 ชาติทะเลบอลติกอย่างลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย ถูกตัดขาดจากยุโรป และถูกรัสเซียปิดล้อมทั้งทางบกและทางทะเลโดยสมบูรณ์

ล่าสุดสถานนีโทรทัศน์รัสเซียก็ดูเหมือนจะส่งสัญญาณบางอย่าง โดยนักวิเคราะห์คนดังอย่าง วลาดิมีร์ โซโลฟยอฟ กล่าวหาชาติตะวันตกว่าดำเนินนโยบายที่ “เสี่ยงต่อสงคราม” และกำลังตั้งนาฬิกาให้เดินไปยัง “สงครามโลกครั้งที่ 3” อยู่ในเวลานี้

ด้านลิทัวเนียเองก็ไม่น้อยหน้า เมื่อรัฐมนตรีกลาโหมออกมาเตือนถึงอันตรายของการยั่วยุจากรัสเซียแบบเจ็บแสบว่า “เมื่อคุณมีกำลังทหารและปกครองโดยคนบ้า แน่นอนว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้”

ด้าน เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ยืนยันว่าจะยืนเคียงข้างลิทัวเนีย และยืนยันจะทำตามพันธกรณีที่มีต่อนาโตเพื่อปกป้องลิทัวเนียอย่างเต็มที่เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กายา กัลลัส นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเอสโตเนีย ยังคงเชื่อว่าลิทัวเนียจะยังคงปลอดภัย เนื่องจากรัสเซียนั้นเพียงแค่พยายามกดดันอียูเพื่อให้ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร ขณะที่ลิทัวเนียเอง แม้จะเพิ่งผ่านกฎหมายห้ามนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่การส่งก๊าซจากรัสเซียผ่านลิทัวเนีย ไปยังแคว้นคาลินินกราดนั้นยังสามารถทำได้เช่นเดิม

จากนี้สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนก็คือจะมีสินค้าอีกหลายชนิดที่ลิทัวเนียจะไม่ให้รัสเซียส่งผ่านไปยังแคว้นคาลินินกราด แต่สิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ก็คือ ความไม่พอใจของรัสเซียนั้นจะเพิ่มขึ้นจนเป็นการใช้กำลังทหารเพื่อแก้ไขปัญหา ทางเลือกที่อาจจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image