บัวแก้วสัญจรขอนแก่น ไทยกับเจ้าภาพเอเปค ชูฮับอีสาน-เมืองอัจฉริยะ-ความเชื่อมโยง

บัวแก้วสัญจรขอนแก่น
ไทยกับเจ้าภาพเอเปค
ชูฮับอีสาน-เมืองอัจฉริยะ-ความเชื่อมโยง

 

เมื่อไม่นานมานี้ระทรวงการต่างประเทศได้จัดการเสวนาระดมสมองครั้งล่าสุดภายใต้โครงการ APEC Media Focus Group ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่ไทยกำลังทำหน้าที่เจ้าภาพเอเปคในปีนี้ โดยคราวนี้มุ่งไปที่จ.ขอนแก่น ภายใต้หัวข้อ “เมืองอัจฉริยะและความเชื่อมโยง” หรือ “Smart City and Connectivity” เพื่อเน้นยำให้เห็นถึงศักยภาพของขอนแก่น ที่ถือเป็น 1 ในจังหวัดนอกจากกรุงเทพที่ได้รับเลือกให้เป็นที่จัดประชุมของเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคด้านการคลัง โดยมีผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) และธนาคารโลก เข้าร่วมด้วย หลังจากที่ขอนแก่นเคยเป็นที่จัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2546

แนวคิดหลักในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยปีนี้คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance” ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นในงานที่จัดขึ้น ณ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่เป็นการระดมสมองทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อพูดคุยกันในประเด็นเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะ ความเชื่อมโยง และการพัฒนาของแก่นซึ่งมีศักยภาพสูงในการเป็นฮับของการเชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และยังถูกตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระบบรางของไทย ซึ่งก็คือเส้นทางใหม่ในการเชื่อมโยงไปสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย กล่าวถึงบทบาทของไทยในการผลักดันเป้าหมายของเอเปคที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าเสรี โดยในปัจจุบันได้หันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของโลก ปัจจุบันช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากขึ้น วิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการพัฒนาเอเปคไปในอีก 20 ปีข้างหน้า เอเปคไม่ได้พูดถึงแต่ธุรกิจข้ามชาติ แต่ยังพูดถึงการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ตั้งแต่ MSMEs (Micro-entrepreneurs, Small and Medium-sized Enterprises หรือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย) และ SME เพื่อหาแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น นอกจากนี้ยังพูดถึงบทบาทของสตรีในการขับเคลื่อนธุรกิจ

Advertisement

ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคปีนี้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเป้าหมายของเอเปคผ่านรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) ซึ่งจ.ขอนแก่นมีศักยภาพสามารถเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการขับเคลื่อนวาระดังกล่าว แน่นอนว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือการค้า การลงทุน และการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นการขับเคลื่อนอย่างมีความรับผิดชอบ เราจะใช้รูปแบบเศรษฐกิจบีซีจีมาเป็นตัวขับเค่อนการทำงานของเอเปคเพื่อให้การฟื้นฟูเศรษฐิกจหลังโควิด-19 มีความยั่งยืน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกอย่างชัดเจนว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือศูนย์กลางการเจริญเติบโตของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ขณะที่ขอนแก่นก็เป็นจุดศูนย์กลางในการสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค ภายใต้เศรษฐกิจหลากหลายรูปแบบ และการเชื่อมโยงไปยังทุกภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องการสร้างเมืองอัจฉริยะ ซึ่งหมายถึง เมืองที่ “ฉลาด” เรื่องการเป็นอยู่ ธุรกิจ และการใช้ทรัพยากร ในขณะที่ความท้าทายของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ การเกษตรแบบดั้งเดิม การเข้าไม่ถึงเงินทุน แรงงานขาดทักษะ ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไม่ต่างจากภาคอื่นๆ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขเพื่อต่อยอดการพัฒนาต่อไป

เชิดชาย ใช้ไววิทย์

ด้าน ผศ. สิริมนพร ทิพสิงห์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มข. กล่าวว่า เมืองอัจฉริยะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพจากยุโรปและจีน โดยปัจจัยสำคัญได้แก่ พลเมืองอัจฉริยะ (smart citizen) การอยู่อาศัยอัจฉริยะ (smart living) และการเคลื่อนย้ายอัจฉริยะ (smart mobility) ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment) การบริหารอัจฉริยะ (smart governance) รวมถึงเศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy) จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด โดย มข. มีความพร้อมในการพัฒนาทักษะเพื่อสร้างพลเมืองอัจฉริยะ ขอนแก่นกำลังค่อยๆ พัฒนาเพื่อนำไปสู่จุดนั้นในรูปแบบของเรา

นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่นมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคม การขนส่งสินค้า การศึกษา การแพทย์ และเป็นต้นแบบของเมืองอัจฉริยะ ปัจจุบันขอนแก่นพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรน้อยลง เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและภาคบริการมากขึ้น มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรต่างๆ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจอีสาน (Northeastern Economic Corridor: NeEC ประกอบด้วยขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย) ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับหลายจังหวัด รวมทั้งเป็น 1 ใน 5 จังหวัดที่ได้รับการจัดให้เป็นเมืองแห่งการสร้างสรรค์ การท่องเที่ยว การประชุมสัมมนา (MICE City) นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายมุ่งพัฒนาทักษะแรงงานและระบบการขนส่ง (Mobility) เพื่อแสวงหาหุ้นส่วนการลงทุนในอนาคต และยังต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อยกระดับตัวเองขึ้นไป โดยในพื้นที่เป้าหมายก็มีแผนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อีกด้วย

นายสง่า สัตนันท์ ผู้จัดการโครงการสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า แผนการพัฒนาเมืองขอนแก่นสอดคล้องกับการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะในแง่โครงสร้างพื้นฐานและการสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก การใช้แหล่งทรัพยากรร่วมกัน การอำนวยความสะดวกเรื่องการค้าการลงทุนแบบ Open. Connect. Balance ในด้านต่างๆ ไม่ว่าการขนส่ง การค้า การลงทุน การเกษตร สิ่งแวดล้อม พลังงาน การสื่อสาร และทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่กับการส่งเสริม smart economy ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ และ smart environment ซึ่งเป็นการจัดการของเสียและติดตามสภาพแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ทั้งนี้ smart city คือเครื่องมือแก้จน ซึ่งมีหัวใจหลัก 3 ประการ คือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และสร้างความโปร่งใส

นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เลขาธิการมูลนิธิขอนแก่นทศวรรษหน้า กล่าวว่า ภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ผ่านการเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น ประสานงานและสร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วน โดยมูลนิธิฯ มุ่งสร้างความตระหนักรู้ให้สาธารณชนเป็น smart citizen เพื่อช่วยขับเคลื่อน smart city เป็นจังหวัดอัจฉริยะ (smart province) ในอนาคต

ผศ.ดร. ธรรมศักดิ์ เสนามิตร รองคณบดีฝ่ายบริหารและทรัพย์สิน วิทยาลัยนานาชาติ มข. เห็นว่า อีกปัจจัยสำคัญในการสร้างเมืองอัจฉริยะ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์ ซึ่ง มข. มีความพร้อมสามารถ “นำเข้า” นักศึกษาจากทั่วประเทศเพื่อผลิตและ “ส่งออก” พลเมืองอัจฉริยะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาขอนแก่นและจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

อธิบดีเชิดชายระบุในตอนท้ายของการเสวนาว่า ธุรกิจและการลงทุนระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นเองไม่ได้ แต่ต้องอาศัยความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างเขตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในระดับเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่เอเปคให้ความสำคัญ และ จ.ขอนแก่นจะเติบโตเป็นเมืองอัจฉริยะและศูนย์กลางความเชื่อมโยงภูมิภาคที่มีคุณค่ามากในอนาคต ในขณะเดียวกันควรเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนควบคู่ไป แล้วจึงต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังจากนั้นจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด แนวคิดในการพัฒนาเมืองตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 ของเอเปค จะเกิดขึ้นได้ต้องมีคนและรัฐที่ฉลาด การทำธุรกิจที่ฉลาด และมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำด้วย

นอกจากงานเสวนาแล้ว ยังมีการเปิดงานนิทรรศการ APEC2022 on tour: Khon Kaen ณ เซ็นทรัลขอนแก่น โดยมี นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าาราชการขอนแก่น และ นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ เป็นประธานร่วมในพิธี เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย รวมถึงแสดงศักยภาพความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานของขอนแก่นในฐานะต้นแบบการสร้างเมืองอัจฉริยะ และนำเสนอผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น ทั้งยังมีการวางจำหน่ายดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก

ปิดท้ายที่การเยี่ยมชมโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาลัยเขตขอนแก่น ที่ถือเป็นมหาวิทยาลัยระบบรางแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อสร้างนักวิจัยและบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมระบบรางของไทยในอนาคต ตามที่ได้มีการตั้งเป้าหมายให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของอุตสหกรรมระบบรางนั่นเอง

การพัฒนาเมืองถือเป็นเป้าหมายสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 ของเอเปค ซึ่งขอนแก่นก็สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมในด้านต่างๆ ที่จะขับเคลื่อนจังหวัดไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะและศูนย์กลางความเชื่อมโยงในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

ผู้ว่าฯขอนแก่นเปิดนิทรรศการเอเปครวมกับรองอธิบดีกรมสารนิเทศ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image